“เพชรคลองหาด” ชมพู่ ส่งออก เนื้อหวาน สีสวย เอวคอด

เมื่อกว่า 10 ปีก่อน “เทคโนโลยีชาวบ้าน” เคยนำเสนอ ชมพู่พันธุ์ใหม่ ที่จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในชื่อของ ชมพู่ “เพชรคลองหาด” ซึ่งเป็นชมพู่ขึ้นชื่อ และเป็นไม้ผลส่งออก ราคาดี ชนิดหนึ่ง ของจังหวัดสระแก้ว

คุณยุทธนา ทัศมากร และภรรยา

ในวันนี้ ชมพู่เพชรคลองหาด ที่ได้รับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาในครั้งนั้น ได้รับการขยายพื้นที่ปลูกออกไป

เกษตรกรปลูกชมพู่เพชรคลองหาด จังหวัดสระแก้ว รวมกลุ่มกันในนามของ “กลุ่มปรับปรุงคุณภาพชมพู่ปลอดสารพิษเพื่อการส่งออก” และมีคุณยุทธนา ทัศมากร เกษตรกร ผู้ริเริ่มนำชมพู่เข้ามาปลูกในพื้นที่อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว รายแรก เป็นโต้โผ

บริเวณเวิ้งบ้านของคุณยุทธนา 7 ไร่ ซึ่งแบ่งเป็นพื้นที่ปลูกชมพู่เพชรคลองหาดเต็มพื้นที่ 5 ไร่ ส่วนอีก 2 ไร่ จัดสรรเป็นพื้นที่บ้านและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น อาทิ แหล่งน้ำ และไม้ประดับ

คุณยุทธนา มีภูมิลำเนาเดิมที่เกาะช้าง จังหวัดตราด แต่เพราะอาชีพหลักของชาวเกาะช้างส่วนใหญ่ หากไม่ดำเนินกิจการโรงแรม เกสต์เฮ้าส์ หรือบังกะโล ก็หันหน้าเข้ายึดอาชีพประมง เพราะเป็นพื้นที่เกาะ อยู่ติดทะเล ทำให้คุณยุทธนา บ่ายหน้าออกหาพื้นที่ที่เหมาะสำหรับการปลูกไม้ผล เพราะเป็นความใฝ่ฝัน นับตั้งแต่เรียนรู้ทางด้านเกษตร ว่าต้องการหาพื้นที่ที่เหมาะสำหรับปลูกไม้ผล เพื่อการส่งออก

การห่อผลชมพู่ ป้องกันแมลงวันทอง

“เริ่มแรกผมคิดถึง ทุเรียน แต่เพราะทุเรียน ต้องเสี่ยงกับหลายปัจจัย สุดท้ายจึงมาจบที่ชมพู่ เพราะเป็นไม้ผลที่ให้ผลผลิตตลอดปี ปลูกและดูแลง่าย เหมาะกับสภาพดินทุกชนิด ระยะการปลูกสั้น แต่รับผลประโยชน์ยาว”

คุณยุทธนา ให้เหตุผลในการเลือกพื้นที่อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว สำหรับปลูกชมพู่ ว่า เพราะพื้นที่บริเวณดังกล่าว มีแหล่งน้ำที่ให้น้ำได้ตลอดปี และชมพู่เป็นไม้ผลที่แหล่งน้ำจืดเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด

พันธุ์ทูลเกล้า เป็นสายพันธุ์แรกๆ ที่คุณยุทธนา นำมาปลูกในแปลงชมพู่ แต่ผลผลิตไม่ตรงตามต้องการนัก จึงคิดนำสายพันธุ์อื่นเข้ามาปลูก ปรับเปลี่ยนไป แต่ในท้ายที่สุด คุณยุทธนา ก็ใช้ความรู้เดิมจากการเรียนเกษตร นำชมพู่สายพันธุ์ทับทิมจันทร์มาเสียบยอดกับชมพู่สายพันธุ์ทูลเกล้าที่มีอยู่ เมื่อต้นชมพู่เริ่มแข็งแรง ประมาณ 8 เดือน ให้ผลผลิตออกมาเป็นที่น่าพอใจ

ผลชมพู่ตกเกรด เพราะระเบิด แต่ชาวกัมพูชาชอบ

“ผลชมพู่ที่ได้มีความแตกต่าง ไม่เหมือนแม่พันธุ์ โดยมีคุณลักษณะ ดังนี้ ทรงระฆังคว่ำ เอวคอด ฤดูหนาวผิวชมพู่จะเป็นสีแดงเลือดนก เนื้อในเมื่อผ่าออกจะตัน สีเขียว ความหวานสูงถึง 12.5 บริกซ์ ผลโต น้ำหนักดี จึงนำไปจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ในชื่อของ ชมพู่เพชรคลองหาด”

เพราะคุณลักษณะของชมพู่เพชรคลองหาด ทำให้ชมพู่ชนิดนี้ได้รับความนิยม ไม่เฉพาะในประเทศ แต่มีผู้บริโภคจากต่างประเทศต้องการนำเข้า เมื่อเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงทราบ จึงนำไปกิ่งพันธุ์ไปขยายพื้นที่ปลูก และรวมกลุ่มขึ้น ทำให้จำนวนสำหรับการส่งออกเพิ่มปริมาณมากขึ้น

ตลอดปีผลผลิตชมพู่เพชรคลองหาด ของคุณยุทธนา ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย จีน มาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม อย่างน้อย 300 ตัน หรือในฤดูที่ชมพู่ในผลผลิตมาก จะได้ปริมาณชมพู่มาก ไม่ต่ำกว่า 400 ตันต่อปี

กิ่งพันธุ์

เทคนิคการปลูกชมพู่ หากคำนวนที่ระยะห่างระหว่างต้นและระหว่างแถว คุณยุทธนา แนะนำดังนี้

1.หากปลูกระยะห่าง 4X4 จะได้จำนวนชมพู่มากขึ้นอีก แต่จำเป็นต้องตัดต้นชมพู่ทิ้ง ต้นเว้นต้น เมื่อต้นมีอายุ 3 ปี

2.หากปลูกระยะห่าง 6X8 จะได้จำนวนชมพู่มากกว่า 29 ต้นต่อไร่ แต่จำเป็นต้องตัดต้นชมพู่ทิ้ง ต้นเว้นต้น เมื่อต้นมีอายุ 10 ปี

3.หากปลูกระยะห่าง 8X8 จะได้จำนวนชมพู่ 29 ต้นต่อไร่ ซึ่งการปลูกลักษณะนี้ ไม่ต้องตัดต้นชมพู่ทิ้ง

ปัจจัยที่ทำให้ต้องตัดต้นชมพู่ทิ้งตามการเจริญเติบโตของต้น เนื่องจาก ชมพู่เป็นไม้ผลที่แตกกิ่งก้านใบรวดเร็ว จำเป็นต้องตัดแต่งกิ่งใบอยู่เสมอ และเมื่อเจริญเติบโตขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้ทรงพุ่มชนกัน ไม่สะดวกต่อการดูแล ทั้งยังให้ผลผลิตน้อยลง สำหรับสวนของคุณยุทธนา ใช้ระยะปลูก 6X8 ตัดแต่งกิ่งอยู่เสมอ โดยเฉพาะทรงพุ่มด้านบน คุณยุทธนาจะแต่งกิ่งให้ไม่ความสูง สูงไปกว่าความสูงของผู้ดูแล เพื่อสะดวกต่อการดูแลผลชมพู่

การให้น้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของไม้ผล สวนชมพู่เพชรคลองหาด ของคุณยุทธนา ให้น้ำด้วยระบบสปริงเกลอร์ ใช้หัวมินิสปริงเกลอร์ ในช่วงปลูกใหม่ๆ ให้น้ำวันละ 1 ชั่วโมง วันเว้นวัน เมื่อชมพู่เริ่มติดผลผลิต ควรให้น้ำทุกวัน วันละ 1 ชั่วโมง ปริมาณน้ำใน 1 ชั่วโมง ชมพู่จะได้น้ำปริมาณ 120 ลิตร

“ปริมาณน้ำที่ให้ชมพู่ ถ้ามากเกินไปก็ไหลทิ้งเปล่าๆ เพราะชมพู่ดูดซับน้ำไปเท่าที่ใช้ ถ้ายังให้น้ำเกินความต้องการ น้ำจะชะเอาปุ๋ยที่ให้กับต้นไปด้วย ทำให้การให้ปุ๋ยเสียเปล่า และปัญหาที่พบบ่อยในฤดูฝน สำหรับชมพู่ คือ ผลชมพู่ระเบิด (แตก) ทำให้การขายตกเกรด ไม่ได้ราคา การแก้ไขสำหรับสวนผม คือ เมื่อเมฆฝนตั้งเค้า และมีทีท่าว่าจะตกในไม่ช้า จะเปิดสปริงเกลอร์ประมาณ 5-10 นาที เมื่อฝนตกลงมา จะทำให้ชมพู่ไม่ระเบิด (แตก) คาต้น”

การให้ปุ๋ย ใช้มูลไก่แกลบเพียงชนิดเดียว เนื่องจากราคาถูก และไม่ควรใช้มูลวัว เพราะมูลวัวมีไนโตรเจนสูง จะทำให้ผิวชมพู่เป็นสีเขียวมากกว่าแดง และทำให้เนื้อชมพู่ออกรสเปรี้ยวมากกว่าหวาน

ระยะการให้ปุ๋ย คุณยุทธนา บอกว่า เริ่มจากเดือนกรกฎาคมที่ตัดแต่งกิ่งชมพู่ จากนั้นราดสารแพคโคบิวทราไซล ภายใน 45 หลังจากราดสารก็ให้ปุ๋ยทุก 7 วัน โดยให้ปุ๋ยที่มีสัดส่วนโพแทสเซียมสูง เช่น 0-46-32 เพื่อเปิดตาดอก หลังจากออกดอกแล้ว 90 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตจำหน่ายได้

“การห่อผลชมพู่เป็นสิ่งสำคัญ เพราะช่วยป้องกันแมลงวันทองที่ฝังตัวกับดิน และจะทำลายชมพู่ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน พลาสติกที่ใช้ห่อจะผลิตเป็นถุงห่อชมพู่โดยตรง มีช่องระบายน้ำออก เมื่อรดน้ำ จะทำให้น้ำไม่ค้างในผลชมพู่”

ไซซ์ที่สวนคุณยุทธนา ส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศมี 3 ไซซ์ คือ XXL, XL และ L

ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ไซซ์ XXL จะได้จำนวนผลชมพู่ 5-8 ผลต่อกิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 80 บาท

XL จะได้จำนวนผลชมพู่ 8-10 ผลต่อกิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 60 บาท

L จะได้จำนวนผลชมพู่ 10-12 ผลต่อกิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 50 บาท

สำหรับราคาชมพู่ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ จะถูกลง ราคา 60-50-40 บาท ตามลำดับ

ผลกำไร เมื่อหักต้นทุนและรายจ่ายสุทธิแล้ว สวนขนาด 7 ไร่ รวมพื้นที่บ้าน สร้างรายได้ให้กับครอบครัวทัศมากร ได้มากถึงปีละ 700,000 บาท เป็นอย่างน้อย แต่เมื่อถามถึงการขยายพื้นที่ปลูกแล้ว คุณยุทธนา บอกว่า ยังไม่มีพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับปลูกชมพู่ เนื่องจากต้องเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำตลอดปี นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาเรื่องแรงงาน ซึ่งต้องใช้แรงงานคนในการห่อหรือเก็บผลชมพู่ด้วย

เกือบ 20 ปีแล้วที่คุณยุทธนาปลูกและจำหน่ายกิ่งพันธุ์ชมพู่เพชรคลองหาด เป็นรายแรกและรายเดียวที่ทำกิ่งพันธุ์ชมพู่เพชรคลองหาดจำหน่าย ซึ่งเขาก็เพียงพอและพอเพียงกับเกษตรกรรมที่ดำเนินอยู่ บนแนวทางการดำเนินชีวิตตามที่ต้องการ คือ อาชีพเกษตรกรผู้ปลูกไม้ผล

สนใจกิ่งพันธุ์ หรือ ต้องการชมการปลูก ดูแลรักษาชมพู่เพชรคลองหาด ติดต่อล่วงหน้าได้ที่ คุณยุทธนา ทัศมากร กลุ่มปรับปรุงคุณภาพชมพู่ปลอดสารพิษเพื่อการส่งออก หมู่ 2 บ้านไกรนคร ตำบลซับมะกรูด อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว หรือโทรศัพท์พูดคุยกันก่อนได้ที่ 084-3476963

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 29 พ.ย. 2018