ชาวศรีมหาโพธิ ปราจีนบุรี ปลูก-จำหน่าย ส้มโอทองดี ส่งตลาดต่างประเทศ

ปราจีนบุรี ไม่เพียงมีพันธุ์ไผ่ที่หลากหลาย มีหน่อไม้หรือชะอมที่อร่อยเท่านั้น แต่ไม้ผลหลายชนิดของจังหวัดนี้มีดีติดอันดับไม่แพ้แหล่งอื่น

ส้มโอ ที่ปราจีนบุรี จัดว่ามีคุณภาพไม่น้อยหน้าเลยทีเดียว ทั้งรสชาติความหวาน เนื้อ ขนาด ล้วนเป็นที่ถูกใจเซียนผลไม้จำนวนมาก แล้วยังได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเกิดจากการปรับปรุงและพัฒนาการปลูก/ดูแลของชาวสวน ถึงขนาดต้องจัดประกวดส้มโอของจังหวัดกันเลย

ชาวปราจีนบุรีปลูกส้มโอสำหรับขายส่งตลาดในและต่างประเทศ แต่จะเน้นไปทางตลาดต่างประเทศมากกว่า โดยพันธุ์ที่นิยมปลูกในพื้นที่จะเป็นทองดีและพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง เนื่องจากมีรสชาติหวานและเป็นที่ต้องการของตลาดทั่วไป

คุณนิกร ศรีศิริ บ้านเลขที่ 74/1 หมู่ที่ 7 ตำบลศรีมหาโพธิ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี  โทรศัพท์ (089) 095-2921 ได้ช่วยญาติพี่น้องทำสวนส้มโอมาตั้งแต่เด็ก นับจากนั้นถึงตอนนี้รวมเป็นเวลาทั้งสิ้นประมาณ 30 ปี มีสวนส้มโอหลายแห่ง ถ้านับพื้นที่รวมทั้งหมดประมาณ 50 ไร่

คุณนิกร ศรีศิริ

ส้มโอที่ปลูกมากคือ พันธุ์ทองดี จำนวนกว่า 40 ไร่ รองลงมาเป็นขาวน้ำผึ้งราว 4 ไร่ แล้วล่าสุดทดลองปลูกพันธุ์ทับทิมสยาม โดยผลผลิตส้มโอทองดีจะขายให้แก่บริษัทที่รับซื้อเพื่อส่งไปต่างประเทศ ส่วนขาวน้ำผึ้งจะส่งขายในตลาดภายในประเทศทั้งปลีกและส่ง

ต้นพันธุ์ส้มโอที่ปลูกมาจากการตอนกิ่ง ซึ่งขั้นตอนการปลูกจะต้องเตรียมดินด้วยการไถพรวนแล้วปรับปรุงคุณภาพดิน ขุดหลุมปลูกขนาดไม่ใหญ่ แล้วนำต้นพันธุ์ลงปลูก ทั้งนี้ ถ้าพื้นที่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มควรจะต้องทำแปลงปลูกแบบยกโคก แต่ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องน้ำสามารถปลูกแบบพื้นราบได้ ระยะปลูกขึ้นอยู่กับขนาดมาก-น้อยในแต่ละแปลง ถ้าแปลงใดมีพื้นที่ไม่มากจะกำหนดระยะปลูก 6 คูณ 6 เมตร แต่ถ้ามีพื้นที่มากอาจกำหนดระยะปลูก 7 คูณ 7 เมตร หรือ 8 คูณ 8 เมตร เมื่อปลูกแล้วให้วางระบบการให้น้ำ ทั้งนี้ พื้นที่ปลูกส้มโอของคุณนิกรมีทั้งสองแบบ

หลังจากเก็บผลผลิตรุ่นสุดท้ายหมดราวเดือนตุลาคม จะเริ่มดูแลต้นส้มโอด้วยการตัดกิ่งและใบที่ไม่สมบูรณ์ออกเท่านั้น แต่ไม่ได้ตัดออกมากเหมือนกับการตัดแต่งทรงพุ่ม ทั้งนี้ เพราะคุณนิกรต้องการให้ได้ผลผลิตมากในรุ่นต่อไป จากนั้นใส่ปุ๋ยคอก ถ้าเป็นปุ๋ยขี้ไก่แกลบใส่ประมาณ 50 กิโลกรัม ต่อต้น ถ้าเป็นปุ๋ยขี้วัวใส่ประมาณ 3 กระสอบ ต่อต้น ส่วนปุ๋ยสูตรที่ใช้มักใส่เป็นสูตรเสมอ อย่าง 15-15-15 หรือ 16-16-16 โดยจะใส่เป็นประจำเฉลี่ยปีละประมาณ 15-20 กิโลกรัม ต่อต้น

ส้มโอที่ปลูกพื้นราบแล้วไม่เจอน้ำท่วมไม่ต้องยกร่องหรือโคก

“ปุ๋ยสูตรเสมอใส่ไปจนถึงเดือนกันยายนหรือหมดฝนก็จะหยุดใส่ แล้วปล่อยต้นแห้งเหี่ยวเฉา จากนั้นจึงเริ่มให้น้ำเพื่อให้ใบอ่อนแตก แล้วจึงค่อยใส่ปุ๋ยสูตร 8-24-24 เพื่อช่วยในการเร่งออกดอก แล้วบำรุงดอก แล้วยังชี้ว่าปุ๋ยสูตรต่างๆ ที่นำมาใส่ล้วนเสริมสร้างความสมบูรณ์ของต้น ใบ และดอก ทั้งยังช่วยให้คุณภาพผลผลิตส้มโอมีเนื้อแน่น ไม่แฉะ หวาน หอม รวมถึงยังมีขนาดใหญ่”

เจ้าของสวนส้มโอชี้ว่า อายุต้นส้มโอจะยาวนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ ลักษณะดินและสิ่งแวดล้อมในแต่ละพื้นที่เป็นตัวกำหนด ทั้งนี้ หากพื้นที่แห่งใดที่มีชั้นใต้ดินเป็นหินหรือลูกรังจะทำให้ต้นส้มโอที่ชอบลักษณะแบบนี้สามารถเจริญเติบโตได้ดีแล้วมีอายุยาวนานสามารถให้ผลผลิตที่มีความสมบูรณ์ต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม ถ้าเจอสภาพดินที่ลุ่มชื้นแฉะอายุต้นก็ไม่นาน อาจได้ผลผลิตสูงในช่วงแรก จากนั้นผลผลิตจะค่อยลดลง เพราะเจอโรคต่างๆ สำหรับสวนส้มโอของคุณนิกรมีลักษณะพื้นที่ทั้งสองแบบ

“ทางด้านโรค/แมลง ในช่วงที่เริ่มปลูกส้มโอยังไม่ค่อยพบ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะยังใหม่อยู่ การสะสมเชื้อโรค หรือการเกิดศัตรูยังไม่ปรากฏมากนัก จนเมื่อปลูกได้หลายปี หรือมาในระยะหลังนี้มักพบบ่อยโดยเฉพาะพวกเพลี้ยหอยที่เข้ามาทำลายต้น หรือเชื้อโรคที่เกิดจากในดินเพราะดินมีความชื้นสูง สำหรับแมลงศัตรูมีน้อย เพราะที่ผ่านมามักใช้สารอินทรีย์ฉีดป้องกัน ซึ่งถ้าเป็นพื้นที่ประสบปัญหาดังกล่าวอาจต้องรื้อเพื่อปรับปรุงดินแล้วปลูกใหม่”

แม้ผลจะเบียดกันแน่น แต่ไม่ทำให้ขนาดเล็กลง

คุณนิกร บอกว่า ผลผลิตส้มโอหลังจากเก็บชุดแรกแล้ว จะเริ่มทยอยมีผลผลิตออกมาเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งถึงประมาณปลายเดือนตุลาคม ซึ่งจะเป็นชุดสุดท้าย ทั้งนี้ ผลผลิตส้มโอทองดีทุกรุ่นจะส่งเข้าบริษัทที่รับซื้อเพื่อส่งไปขายต่างประเทศ โดยต้องเก็บก่อนแก่

ส่วนผลผลิตขาวน้ำผึ้งที่ขายตลาดในบ้านเรายังไม่เก็บจะรอจนกว่าแก่จัดคาต้นจึงจะเก็บขาย ทั้งนี้ ผลผลิตที่เก็บในแต่ละรุ่นมีจำนวนมาก-น้อยต่างกัน โดยผลผลิตรุ่นแรกๆ จะมีมากประมาณ 3-4 หมื่นลูกต่อรุ่น แต่จะค่อยๆ ลดน้อยลงจนเกือบรุ่นสุดท้ายจะได้ผลผลิตประมาณ 2 หมื่นกว่าลูก

คุณนิกร เผยถึงความเปลี่ยนแปลงราคาส้มโอที่กระทบต่อรายได้เกษตรกรชาวสวนว่า ในช่วง 5-6 ปี ที่ผ่านมา ราคาส้มโออยู่ในระดับที่ชาวสวนพอใจมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 แล้วสร้างความเสียหายต่อแหล่งปลูกส้มโอย่านนครปฐมและจังหวัดใกล้เคียง ส่งผลต่อผลผลิตส้มโอจำนวนมากหายไปจากตลาด

“ขณะเดียวกัน ผลผลิตส้มโอในแหล่งจังหวัดปราจีนบุรีที่มีการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพอยู่ตลอดทำให้ขายได้ราคาดี โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศที่เข้ามาสนใจผลผลิตส้มโอมากขึ้น ซึ่งถึงแม้ตอนนี้ภาพรวมผลผลิตส้มโอกลับสู่ภาวะปกติแล้วส่งผลต่อราคาขายในประเทศ แต่ชาวบ้านในพื้นที่ก็ยังไม่เดือดร้อนเนื่องจากมีการพัฒนาคุณภาพพร้อมเร่งปลูกเพื่อส่งขายต่างประเทศเป็นหลัก”

ผลผลิตดกเต็มต้นแม้จะเป็นรุ่นสุดท้าย

สวนส้มโอคุณนิกรปลูกส้มโอขายส่งตลาดต่างประเทศถึงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นส้มพันธุ์ทองดี ส่วนขาวน้ำผึ้งขายในตลาดเมืองไทย ทั้งนี้ ราคาขายตลาดต่างประเทศขึ้นอยู่กับทางบริษัทที่รับซื้อตั้งราคา แต่สำหรับราคาขายส้มโอขาวน้ำผึ้งในบ้านเรากำหนดขายเป็นลูก โดยแบ่งออกเป็น 3 ขนาด ที่วัดตามผล ซึ่งถ้าเป็นขนาด 17 นิ้ว ราคาขายส่งอยู่ระหว่าง 50-60 บาท ขนาด 18 นิ้ว ราคาขายส่งอยู่ระหว่าง 70-80 บาท และขนาด 19 นิ้ว ราคาขายส่งอยู่ที่ 120 บาทขึ้นไป แต่ถ้าเป็นราคาขายปลีกส่วนมากจะขายที่ขนาด 19 นิ้ว ซึ่งกำหนดราคาขายเริ่มต้นที่ 200 บาท ต่อผล

นอกจากผลผลิตส้มโอที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศแล้ว คุณนิกรยังมีลูกค้าประจำทั้งในพื้นที่และจังหวัดอื่นแวะเวียนมาอุดหนุนกันเป็นประจำ จากแผงตั้งขายหน้าบ้าน

ทั้งนี้ เจ้าของสวนเผยถึงแนวคิดการปลูกส้มโอว่าทุกครั้งจะปลูกด้วยความเอาใจใส่ มีระเบียบวินัยต่อการปลูกตั้งแต่เริ่มปลูกไปจนกระทั่งเก็บผลผลิต เป็นสวนส้มโอที่ได้มาตรฐาน ดังนั้น คุณภาพส้มโอทุกผลที่เกิดจากความมุ่งมั่นและตั้งใจจึงมีรสหวานหอม เนื้อแน่น แห้งพอดี เปลือกบาง และผลใหญ่ เป็นที่ชื่นชอบของบรรดาลูกค้าขาประจำทั้งในพื้นที่และต่างจังหวัด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผลผลิตส้มโอของคุณนิกรมีมาตรฐาน มีคุณภาพสม่ำเสมอ พร้อมกับได้รับรางวัลต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากมายทุกปี

คุณนิกร (ซ้าย) กับ คุณวิโรจน์ วัฒนวิเชียร เกษตรอำเภอศรีมหาโพธิ

คุณนิกร เล่าว่า ในปัจจุบันวิธีปลูกส้มโอและแนวคิดการตลาดเปลี่ยนไป โดยในสมัยก่อนจะวางแผนปลูกส้มโอเพื่อให้มีผลผลิตตรงกับช่วงเทศกาลสำคัญ เพื่อให้ขายได้ราคาสูง ซึ่งความคิดเช่นนี้เหมือนกันทั่วไปจึงทำให้ผลผลิตล้นตลาด ราคาไม่สูงตามที่คาดหวัง

“แต่ตอนนี้วิวัฒนาการต่างๆ เปลี่ยนไป เทคโนโลยีการสื่อสารเข้ามาช่วยขยายช่องทางการตลาดให้กว้างขึ้น ผลผลิตการเกษตรสามารถนำไปขายได้ทั่วโลก ฉะนั้น แนวคิดเดิมอาจล้าสมัย เพราะตลาดทั่วโลกมีความต้องการต่อเนื่อง การเก็บรักษาไม่เป็นอุปสรรคปัญหาเ พราะสามารถเก็บในห้องแช่เย็นได้โดยยังรักษาคุณภาพไว้ ด้วยเหตุผลนี้จึงช่วยให้ชาวสวนมีรายได้มากขึ้น ขอเพียงให้คุณมีความตั้งใจผลิตสินค้าให้มีคุณภาพเท่านั้น” คุณนิกร กล่าว

ทางด้าน คุณวิโรจน์ วัฒนวิเชียร เกษตรอำเภอศรีมหาโพธิ กล่าวว่า เกษตรกรที่ปลูกส้มโอในพื้นที่มีจำนวนกว่า 70 ราย มีวิธีปลูกและแหล่งจำหน่ายเหมือนกัน ทั้งนี้ ทางเกษตรอำเภอได้ให้ชาวบ้านจดเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อจะได้เป็นช่องทางเปิดโอกาสให้ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือในทุกเรื่องจากภาครัฐ ขณะเดียวกัน ยังช่วยประชาสัมพันธ์และจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ส้มโอในพื้นที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยหาตลาดให้ชาวสวนอีกด้วย

ทองดีเนื้อแน่น ไม่แห้งมาก เปลือกบาง

อย่างไรก็ตาม การปลูกส้มโอนับเป็นทางเลือกของรายได้ที่ชาวบ้านทำกันนอกจากการทำนาที่เป็นอาชีพหลักทางการเกษตร โดยระยะหลังพบว่าชาวบ้านให้ความสนใจหันมาปลูกส้มโอกันมากขึ้น เพราะต่างเห็นว่ามีตลาดต่างประเทศรองรับแน่นอนและมีราคาขายสูง อีกทั้งยังมีความต้องการต่อเนื่อง นอกจากนั้น ส้มโอยังเป็นไม้ผลที่ปลูกไม่ยาก ขยายพันธุ์ด้วยกิ่งตอน ทำให้ใช้เวลาไม่นานในการเก็บผลผลิต

“อีกไม่นานคงต้องมีการรวมกลุ่มปลูกส้มโอแปลงใหญ่ เพื่อสร้างให้เป็นระบบที่สมบูรณ์ มีกระบวนการดูแลในด้านต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อสร้างประสิทธิภาพในระบบตลาดให้มีความเข้มแข็ง เป็นที่ยอมรับมากขึ้น อีกทั้งสำนักงานเกษตรยังให้ความสำคัญต่อการเลิกใช้สารเคมีที่มีผลกระทบกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนส่งเสริมให้ชาวสวนหันมาใช้ปัจจัยทางธรรมชาติเพื่อการปรับปรุงดินและไม้ผล เพราะต้องการช่วยลดความเสี่ยง พร้อมกับช่วยลดต้นทุน” คุณวิโรจน์ กล่าว