“ผีเสื้อม้วนหวาน” โจมตีสวนผลไม้รุนแรงกว่าทุกปี

“ผีเสื้อมวนหวาน” โจมตีสวนผลไม้ในวงกว้างหลายจังหวัด สูญเสียรายได้หลักล้าน เกษตรกรแนะใช้กรงดักผีเสื้อม้วนหวานได้ผลดีที่สุด

      คุณสุชาติ ธนะพฤกษ์ เจ้าของสวนผลไม้ในพื้นที่อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เปิดเผยว่า ในปีนี้ แหล่งปลูกผลไม้ในหลายจังหวัด เช่น สวนส้ม จังหวัดปราจีนบุรี สวนมะละกอฮอลแลนด์ในอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา สวนลองกอง จังหวัดอุตรดิตถ์ ฯลฯ ต่างประสบปัญหาการแพร่ระบาดของแมลงศัตรูพืช คือ “ผีเสื้อมวนหวาน” ในวงกว้าง สร้างความเสียหายแก่ผลผลิตจำนวนมาก ประกอบกับปีนี้สวนผลไม้ส่วนใหญ่มีปริมาณผลผลิตค่อนข้างน้อยและมีราคาสูง คาดว่าปัญหาผีเสื้อมวนหวานโจมตีสวนผลไม้ในครั้งนี้ ทำให้เกษตรกรชาวสวนผลไม้สูญเสียรายได้ถึงหลักล้าน

1469505162

      ความจริง “ผีเสื้อมวนหวาน” ก็คือ ผีเสื้อกลางคืนขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง อาศัยตามป่าธรรมชาติโดยกินผลไม้ป่าเป็นอาหาร ในอดีต พบการแพร่ระบาดของผีเสื้อมวนหวานในสวนผลไม้ที่อยู่ใกล้กับป่าธรรมชาติ เช่น จันทบุรี ตาก เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ ฯลฯ  แต่ระยะ 1-2 ปีนี้ กลับพบการแพร่ระบาดผีเสื้อมวนหวานในสวนผลไม้ทั่วไปมากขึ้น สันนิษฐานว่าเป็นผลพวงจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ในช่วง 1-2 ปีหลัง ทำให้ผลไม้ป่าตามธรรมชาติมีน้อยลง ทำให้ผีเสื้อมวนหวานต้องย้ายถิ่นเข้ามาโจมตีสวนผลไม้ของเกษตรกรมากขึ้น

      คุณสุชาติ กล่าวว่า ครั้งแรกที่เจอการระบาดของผีเสื้อมวนหวานในสวนส้ม ในระยะเวลาที่กำลังแก่ใกล้เก็บเกี่ยว ผมคิดว่า มีสาเหตุจากแมลงวันทอง จนกระทั่งนำผลส้มมาผ่าดูเนื้อข้างใน จึงรู้ว่า คิดผิด เพราะเนื้อส้มเว้าแหว่งหายไปจำนวนหนึ่ง เพราะถูกผีเสื้อมวนหวานที่อยู่ในช่วงตัวเต็มวัยใช้ปากที่แข็งแรงแทงเข้าไปในผลส้ม เพื่อดูดกินน้ำหวานจากผลไม้นั้น ส้มที่ถูกเจาะจะมีรอยแผลเป็นรูเล็กๆ และมียางไหลออกมา ผลจะเน่าเป็นวง รอยแผลนี้จะเป็นช่องทางการเข้าของแมลงวันผลไม้ต่อไป ทำให้ผลส้มจะร่วงในเวลาต่อมา

        คุณสุชาติ กล่าวอีกว่า การกำจัดผีเสื้อมวนหวานด้วยสารเคมี เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เพราะเป็นผีเสื้อที่หากินในช่วงเวลากลางคืน และวางไข่ในแหล่งพืช เช่น ใบย่านาง ใบข้าวสาร และใบบอระเพ็ด ซึ่งเป็นอาหารของผีเสื้อมวนหวาน ระยะตัวหนอน เมื่อสวนผลไม้ในพื้นที่อำเภอนาดี เจอการระบาดของผีเสื้อมวนหวานเป็นครั้งแรก ในปี 2558 สำนักงานเกษตรอำเภอนาดี ได้นำกรงดักผีเสื้อมวนหวานมาแจกจ่ายเกษตรกรในพื้นที่ แต่ใช้ไม่ได้ผล เพราะกรงมีขนาดเล็กไป

1469505087

     “ผมจึงได้ปรับปรุงขนาดกรงดักผีเสื้อมวนหวานให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม 4 เท่าตัว คือ ขนาด  50X50 เซนติเมตร และใช้ผลไม้สุกเป็นเหยื่อล่อ โดยตั้งกรงดักไว้รอบสวน ปรากฏว่าใช้งานได้ดี สามารถดักผีเสื้อมวนหวานได้ ครั้งละ 200-300 ตัว/คืน “คุณสุนันท์ พยัคฆฤทธิ์” เกษตรอำเภอนาดี เล็งเห็นข้อดีของการปรับปรุงกรงดักผีเสื้อมวนหวาน จึงจัดหางบประมาณจากโครงการภัยแล้ง จำนวน 100,000 บาท ผลิตกรงดักไซซ์ใหญ่ จำนวน 200 กรง แจกจ่ายให้เกษตรกรเจ้าของสวนผลไม้ในท้องถิ่นได้นำไปใช้ ก็ได้ผลดีเช่นเดียวกัน ปีนี้เจอการแพร่ระบาดผีเสื้อมวนหวานน้อยลงกว่าปีผ่านมา” คุณสุชาติ กล่าวในที่สุด 

      ด้าน คุณสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า เมื่อ วันที่ 12 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตร ได้ลงพื้นที่ให้คำแนะนำเกษตรกรบ้านรักไทย อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ที่ประสบปัญหาผีเสื้อมวนหวานบุกทำลายผลผลิตภายในสวนเงาะ-ลำไย อย่างหนักกว่า 200 ไร่ โดยการดูดกินน้ำหวานจากผลเงาะและผลลำไย ทำให้ผลร่วง ซึ่งผลผลิตทั้งเงาะโรงเรียนและลำไยพันธุ์อีดอที่เตรียมจะเก็บเกี่ยวให้ทันเทศกาลวันลำไยช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้ ได้รับความเสียหายกว่า 70 เปอร์เซ็นต์

1469505149

      กรมวิชาการเกษตร ขอแนะนำให้เกษตรกรใช้วิธีการป้องกันกำจัดผีเสื้อมวนหวานแบบผสมผสาน โดยเกษตรกรควรหมั่นทำความสะอาดกำจัดวัชพืชและเก็บเศษซากพืชที่อยู่ภายในสวน และบริเวณใกล้เคียงออกไปเผาทำลายนอกสวนทันที เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์ แหล่งที่อยู่อาศัยข้ามฤดูกาล และลดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการแพร่ขยายพันธุ์ของผีเสื้อมวนหวาน หลีกเลี่ยงการปลูกพืชที่เป็นพืชอาหารในบริเวณใกล้เคียงกับสวน เพราะจะเป็นที่หลบซ่อนของผีเสื้อมวนหวานได้

            อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระยะที่ผลผลิตในสวนเริ่มสุก เกษตรกรควรเก็บกลุ่มไข่และตัวหนอนขนาดเล็กมาทำลายทิ้งนอกสวนเพื่อลดการระบาด ใช้ไฟส่องพร้อมนำสวิงโฉบจับตัวเต็มวัยผีเสื้อมวนหวานไม่ให้มาวางไข่ได้ เพื่อเป็นการตัดวงจรชีวิตและตัดวงจรการระบาด ใช้กรงดักผีเสื้อมวนหวานที่ทำด้วยมุ้งลวดหรือผ้ามุ้งไนล่อนทั้ง 6 ด้าน เจาะด้านล่างกรงดักเป็นรูปฝาชี วางตั้งให้สูงจากพื้นดิน 20-30 เซนติเมตร และใช้ผลไม้สุกที่มีกลิ่นหอมเป็นเหยื่อล่อที่บริเวณด้านล่างของกรงดัก วิธีนี้สามารถดักจับผีเสื้อมวนหวานได้จำนวนมาก

1469505129

            นอกจากนี้ เกษตรกรสามารถใช้เหยื่อพิษที่ทำด้วยผลไม้สุกที่มีกลิ่นหอมมาทำเป็นเหยื่อล่อผีเสื้อมวนหวาน เช่น กล้วย สับปะรด มะละกอ ลูกตาลสุก เป็นต้น โดยให้นำผลไม้สุกตัดเป็นชิ้นแล้วชุบด้วยสารฆ่าแมลงคาร์บาริล 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 5 กรัม ต่อน้ำ 1 ลิตร นำไปแขวนไว้ในทรงพุ่มที่ระดับความสูง 1-1.5 เมตร ตามจุดต่างๆ ในสวน เว้นระยะห่างกันจุดละ 20 เมตร ต่อ 1 กับดัก หรือพ่นด้วยสารสกัดสะเดาที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันผีเสื้อมวนหวานเข้าทำลายผลผลิต นำมาพ่นให้ทั่วสวนในเวลาเย็นช่วงใกล้เก็บเกี่ยวผลผลิตทุก 7 วัน โดยพ่นติดต่อกัน 3-4 ครั้ง

1469505114

            สำหรับผู้สนใจวิธีป้องกันกำจัดผีเสื้อมวนหวานแบบผสมผสาน สามารถสอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร หมายเลขโทรศัพท์ (02) 579-1061 หรือที่เว็บไซต์ www.doa.go.th/plprotect/