เกษตรเขาเขียว (ตอนที่ 1)

ชื่อเกษตรเขาเขียวคงไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก รู้จักกันก็แต่คนในวงการอาชีวศึกษาสายเกษตร หรือรู้จักเขาเขียวกันว่า เขาเขียวเป็นสวนสัตว์เปิดอยู่ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี        

“เกษตรเขาเขียว” เป็นชื่อเรียกของโรงเรียนเกษตรกรรมราชบุรี ก่อตั้งมานานเกือบ 5 ทศวรรษ โดยเมื่อปี พ.ศ. 2507 จังหวัดราชบุรีมีความประสงค์ที่จะจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมและได้มีหนังสือแจ้งไปยังกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ให้ทราบว่าจังหวัดราชบุรีมีพื้นดินของจังหวัดเป็นป่าสงวนฯ อยู่บริเวณเขาเขียว ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม ประมาณ 8,000 ไร่ ต่อมากรมอาชีวศึกษาจึงได้มีการประชุมคณะกรรมการและมีมติอนุมัติให้ตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมราชบุรีขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2512 โดยมีคณะกรรมการจากจังหวัดราชบุรีเข้าร่วมและฝ่ายของกรมอาชีวศึกษา ซึ่งมี นายระบิล สิตสุวรรณ รองอธิบดีกรมอาชีวศึกษา นายเชิญ มณีรัตน์ หัวหน้ากองโรงเรียนเกษตรกรรม ดร.บัญญัติ วิโมกขสันต์ และ นายสัณหจิตต์ ฐาปนะดิลก เป็นผู้ประสานงานเพื่อจัดตั้งโรงเรียนเกษตรกรรมราชบุรี

นักเรียนรุ่นแรกปลูกข้าวโพด

ในที่ประชุมได้ตกลงให้ย้ายสถานที่ก่อสร้างจากการสำรวจพื้นที่ไว้ก่อนแล้วประมาณ 608 ไร่ เป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมแก่การดำเนินงานทางด้านการเกษตร ให้เลื่อนมาทางด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่เหมาะสมกับการทำเกษตรกรรมมากกว่าพื้นที่เดิมและได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารต่างๆ ปัจจุบันนี้ มีพื้นที่ 1,302 ไร่ 2 งาน 35 ตารางวา ตั้งอยู่ที่เลขที่ 63/1 หมู่ที่ 7 ตำบเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี ระยะทางห่างจากอำเภอโพธาราม 22 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอเมืองราชบุรี 32 กิโลเมตร และระยะทางจากอำเภอบ้านโป่ง 32 กิโลเมตร

รถแทรกเตอร์เดวิดบราวน์

ได้เปิดรับนักเรียนรุ่นแรกเมื่อปี พ.ศ. 2513 ตอนเปิดรับนักเรียนรุ่นแรกการก่อสร้างอาคารต่างๆ ที่เขาเขียวยังไม่แล้วเสร็จจึงต้องใช้อาคารเก่าของโรงเรียนการช่างราชบุรีหรือวิทยาลัยเทคนิคราชบุรีไปก่อน

ฤดูร้อนของต้นเดือนพฤษภาคม ปี พ.ศ. 2513 ในตัวเมืองจังหวัดราชบุรีกระแสลมในฤดูร้อนได้แผ่กระจายไปกว้าง ถึงแม้มีสายลมเย็นจากแม่น้ำแม่กลองพัดพาเอาไอเย็นขึ้นมาถึงบนฝั่งได้บ้างก็ตาม แต่มันก็ไม่ได้ช่วยลดอุณหภูมิที่ร้อนผ่าวของฤดูนี้ลงไปได้มากนัก อุณหภูมิที่ร้อนทำให้นักเรียนในวัยรุ่นกระทงเพิ่งจบชั้น ม.ศ.3 (ม.3) บางคนตกชั้น ม.ศ.4 ที่เดินทางมาที่โรงเรียนการช่างราชบุรีหรือวิทยาลัยเทคนิคราชบุรีตามตัวต่างเปียกชุ่มไปด้วยเหงื่อ ด้วยจุดประสงค์เพื่อจะมาสมัครเรียนเกษตรตามใบประกาศ บางคนบอกว่าลงจากรถประจำทางที่สนามหญ้าในเมือง (หอนาฬิกา) ก็เดินมาที่นี่

สระน้ำและหอประปา

คนที่อยู่ใกล้แม่น้ำแม่กลองแถวบางคนที, บางนกแขวก, คุ้งน้ำวนมาด้วยเรือโดยสารขึ้นที่ท่าเรือเมืองราชบุรีใกล้หอนาฬิกาแล้วต่อรถรับจ้าง บางคนขึ้นสามล้อมากับผู้ปกครอง หลายคนมากับรถโดยสารจะจอดลงหน้าโรงเรียนพอดี บางคนมาด้วยรถส่วนตัวกับผู้ปกครองสามารถขับรถเข้าถึงภายในโรงเรียนโดยไม่ต้องเดินจากหน้าโรงเรียนให้เหนื่อย ส่วนคนที่มาจากปักษ์ใต้ได้เดินทางมาโดยรถไฟล่วงหน้าก่อนหนึ่งวันพักค้างที่โรงแรมและจ้างสามล้อมาส่งในวันรุ่งขึ้น

ถึงแม้ว่าพวกเขาเหล่านั้นต่างอยู่ในชุดนักเรียนกางเกงขาสั้น แต่มันก็ไม่ได้ช่วยบรรเทาความร้อนที่พวกเขาต้องเดินผ่าเปลวแดดเข้ามาได้ ประกอบกับความตื่นเต้นที่เพิ่งเดินทางมาราชบุรีเป็นครั้งแรก

ยังเช้าอยู่พวกเขามองหาสถานที่รับสมัครนักเรียนใหม่ บรรยากาศบนอาคารอำนวยการด้านหน้าใกล้ถนนเงียบเหงา ไม่มีอาจารย์และคนงานรอรับสมัคร ทำให้พวกเขาชักไม่แน่ใจว่า มันจะใช่สถานที่รับสมัครหรือเปล่า แต่เมื่อเดินไปด้านหลังที่เป็นโรงอาหารหลังคารูปโดมหลังใหญ่ได้เงินกู้จากประเทศญี่ปุ่นอยู่ด้านหลังของอาคารตึกอำนวยการ เดินไปตามป้ายที่บอกทางก็พบสถานที่รับสมัครภายในโรงอาหารหลังคารูปโดม มีโต๊ะตั้งอยู่ 2 ตัว มีอาจารย์นั่งอยู่ 2 หรือ 3 คน หลายคนภูมิใจว่าที่นี่เป็นสถานที่ใหญ่โตน่าเรียนแต่ก็อดคิดไม่ได้ว่าอาจจะต้องมาเรียนร่วมกับนักเรียนการช่าง มีนักเรียนไม่กี่คนกำลังเขียนใบสมัคร บางคนพาผู้ปกครองมาด้วย เมื่อเขียนใบสมัครแล้วก็สอบสัมภาษณ์ไปพร้อมกันอีกโต๊ะมี อาจารย์สัณหจิตต์ ฐาปนะดิลก เป็นคนสอบสัมภาษณ์ ซึ่งมักถามว่า รู้จักเกษตรไหม? เล่นกีฬาอะไรได้บ้าง? เล่นดนตรีเป็นไหม? ส่วนมากมักตอบว่าไม่รู้จัก

หอพักหลังแรก

ส่วนใหญ่ไม่รู้จักเกษตรจริงๆ บางคนมาสมัครเพราะพลาดจากการสอบเข้าที่อื่น เช่น พลาดจากสอบเข้าโรงเรียนการช่างบ้าง ตกชั้น ม.ศ.4 ขึ้นชั้น ม.ศ.5 (ม.6) ไม่ได้จึงมาสมัคร บางคนตั้งใจมาสมัครโดยตรง บางคนได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองเนื่องจากผู้ปกครองเคยเรียนเกษตรมาก่อน เพื่อนจากปักษ์ใต้หลังจากสมัครแล้วยังเดินทางกลับไม่ได้และไม่มีที่พัก อาจารย์สัณหจิตต์จึงให้มาพักที่บ้านพักของแกอยู่แถวๆ สนามกีฬาจังหวัด พักอยู่หลายคน เมื่อประกาศผลสอบแล้วจึงเดินทางกลับ อาจารย์บอกว่าพวกเราเป็นนักเรียนเกษตรราชบุรีรุ่นแรก ทำให้นักเรียนที่มาสมัครอมยิ้มด้วยความภาคภูมิใจ

หลังจากประกาศผลการสอบคัดเลือกแล้วส่วนใหญ่ได้ทุกคนที่มาสมัคร ต้นเดือนมิถุนายนจึงมารายงานตัวกันเป็นนักเรียนของโรงเรียนเกษตรกรรมราชบุรีเต็มตัว อาจารย์สั่งให้คนงานพานักเรียนใหม่เดินไปทางด้านหลังของอาคารอำนวยการ คนงานพามาหยุดหน้าอาคารไม้โทรมๆ หลังใหญ่ มีอาจารย์ท่านหนึ่งรออยู่ก่อน อาจารย์บอกว่า สถานที่ตรงนี้จะใช้เป็นที่เรียนและที่พักของพวกเราไปก่อน มันเป็นหอพักเก่าและโรงอาหารเก่าที่ปล่อยร้างเลิกใช้มานานแล้ว คนที่เคยคิดว่าคงจะได้เรียนในอาคารที่ใหญ่โตอยู่ด้านหน้าใกล้ถนนถึงกลับถอนใจหายยาว รู้สึกผิดหวัง

พวกเรามองหอพักโทรมๆ ที่เขาเลิกใช้แล้วด้วยใจหดหู่ มันดูเงียบขรึมน่ากลัวชวนให้วังเวงไม่ต่างอะไรกับการที่เดินเข้าไปในบ้านผีสิง มันไม่น่าเชื่อว่ามันจะใช้เป็นที่เรียนและหอพักของนักเรียนเกษตรราชบุรีรุ่นแรก มีโรงอาหารที่หลังคาสังกะสีเป็นสนิมเปิดอ้าเป็นรู สังกะสีบางแผ่นตะปูตอกไว้หลุดจึงพะเยิบพะยาบขึ้นลงตามแรงลมที่พัด คล้ายจะกวักมือเรียกเชิญชวนให้เราเข้ามาอยู่ด้วยกัน โรงอาหารแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นโรงเปิดโล่งมองเห็นทุ่งนาที่ขนาบอยู่โดยรอบ ส่วนนี้อาจารย์บอกว่าเป็นที่เรียน อีกส่วนเป็นโรงอาหารสำหรับนั่งรับประทานอาหาร ติดกันเป็นโรงครัวมีกระทะใบบัวอยู่ 2 ใบ พ่อครัวสูงอายุกำลังง้วนอยู่กับการหุงข้าวท่ามกลางควันไฟ

ความฝันที่เคยวาดไว้ว่าโรงเรียนใหม่จะต้องมีอาคารใหม่สวยสง่างาม เหม็นอบอวลไปด้วยกลิ่นสีที่เพิ่งทาเสร็จใหม่ๆ หอพักที่เพียบพร้อมด้วยเครื่องสุขภัณฑ์ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วน เตียงที่นอนสะอาดนุ่มนิ่มน่านอน แต่เมื่ออาจารย์สำทับอีกครั้งว่าโรงเรียนของพวกเรายังสร้างไม่เสร็จต้องอาศัยหอพักเก่าของโรงเรียนการช่างราชบุรีหรือวิทยาลัยเทคนิคราชบุรีเป็นที่เรียนไปก่อน จบคำพูดของอาจารย์สิ่งที่วาดฝันไว้ของพวกเราก็สูญมลายหายไปพลัน เข่าจะอ่อน แทบไม่เชื่อกับสายตาเลยว่า พวกเราจะต้องมาเรียนและอยู่กินกับหอพักสุดโทรมและโรงอาหารที่พังแหล่มิพังแหล่ ผู้ปกครองบางคนแสดงท่าทีถอดใจไม่อยากให้ลูกมาเรียนสถานที่แห่งนี้ แต่ทุกอย่างมันสายเกินไปเสียแล้วที่จะหันหลังกลับเมื่อได้ย่างก้าวเข้ามาเหยียบบนพื้นดินหน้าหอพักเก่าที่คล้ายกับมีมนต์สะกดเรียกให้พวกเราเข้าไป เบิกของแล้วมี จอบ มีด บัวรดน้ำ เราจึงเดินขึ้นชั้นบนของหอพักอย่างไม่ค่อยสบอารมณ์นัก

หอพักพร้อมโอบรับพวกเราทั้ง 71 ชีวิต เตียงมีเพียงที่นอนฟูกกับหมอน ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนและผ้าห่มเราต้องจัดหากันเอง ที่นอนไม่ได้นุ่มนิ่มดังที่คิด เตียงเป็นเพียงเตียงไม้เก่าด้านหนึ่งพาดกับขอบของตู้เก็บเสื้อผ้า เตียงนอนถูกจัดเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบเป็นแถวยาวฝั่งละ 13 คน ห้องหนึ่งจึงจุได้ 25-27 คน ชั้นบนมี 2 ห้อง กับชั้นล่างอีก 1 ห้อง ชั้นล่างเป็นพวกที่ได้เลขประจำตัวตั้งแต่เลขที่ 50

อาจารย์ 3 ท่านนอนที่ห้องมุขชั้นบน มี อาจารย์สานนท์ ภู่ขวัญเมือง อาจารย์สาคร ช่วยสุข และ อาจารย์สมบัติ พัฒนา พวกเราเข้าประจำเตียงตามหมายเลขประจำตัวด้านตะวันตกเป็นของหมายเลขแรกๆ ปลายเตียงเป็นตู้ไม้ไว้ให้เก็บสัมภาระ ใต้เตียงใช้เป็นที่เก็บของ จอบ มีด และบัวรดน้ำ เมื่อรู้จักเตียงของตนเองแล้วจึงจัดเตียงของตนเองนำเสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวเก็บเข้าตู้ เสียงขยับเตียง เสียงตอกลิ่มเข้าด้ามจอบดังสลับกันโปกเปกอยู่ชั้นล่าง หลายคนไม่เคยเข้าด้ามจอบมาก่อนจึงให้คนงานช่วยหรือให้เพื่อนที่เป็นช่วย เพื่อนคนใต้ดูจะเก่งเรื่องเข้าด้ามจอบกันทุกคน

ห้องน้ำห้องส้วมดีหน่อยยังใหม่อยู่เพราะเป็นการก่อสร้างจากโครงการเงินกู้ของญี่ปุ่นอยู่หลังหอพักอาจารย์โรงเรียนการช่าง ที่อนุญาตให้ห้องน้ำห้องส้วมส่วนนี้ ห้องน้ำเป็นฝักบัว ห้องส้วมมีหลายห้องไม่ต้องแย่งกัน น้ำประปาใสสะอาดไหลแรงมาก ส้วมแบบนั่งยองแต่ใช้กดน้ำล้าง น้ำแรงมาก มีพื้นที่สำหรับซักเสื้อผ้าอย่างเพียงพอ ประมาณ 5 โมงครึ่งระฆังเรียกให้ลงรับประทานอาหารเย็นก็ดังขึ้น แม่ครัวจัดอาหารตักใส่จานให้นั่งโต๊ะละ 6 คน นั่งตามเลขที่ การรับประทานอาหารเย็นมื้อแรกผ่านไปโดยไม่มีใครก็ตำหนิหรือวิจารณ์ว่าอาหารอร่อยหรือไม่ ตอนนั้นยังไม่มีถาดหลุม

เวลาประมาณ 3 ทุ่มพวกเราลงมาเข้าแถวบนลานคอนกรีตกว้างไม่มาก พื้นแตกร้าวหน้าหอพักพร้อมกันเพื่อเช็คชื่อ แล้วจึงสวดมนต์และร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีก่อนแยกย้ายขึ้นไปนอน เมื่อแรกเข้ามานั้นพวกเราเป็นรุ่นแรกที่บางคนไม่รู้จักเลยว่า เกษตรคืออะไร ต้องมาเรียนอะไรบ้าง เกษตรมีความเป็นมาอย่างไร จบไปทำงานอะไร บางคนที่ได้รับการถ่ายทอดเรื่องราวเกษตรจากรุ่นพี่ต่างสถาบันก็เข้าใจดีว่า เกษตรเรียนอะไรกันบ้างจึงเตรียมตัวเตรียมใจกันมาดี โดยเฉพาะเพื่อนจากปักษ์ใต้มีความพร้อมเตรียมตัวมาดี ร่างกายบึกบึนทางอดทนสู้งาน มีทั้งชุดยีนส์, มีด, จอบ, บัวรดน้ำ เตรียมกันมาพร้อม แต่ส่วนใหญ่ต้องมาซื้อที่โรงเรียน ส่วนบางคนที่อยู่ในเมืองเป็นลูกของข้าราชการ ลูกพ่อค้า จึงไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับเกษตรเลย

เช้ามืดตี 5 ครึ่งเสียงระฆังปลุกก็ดังขึ้น มันเป็นเสียงระฆังปลุกที่ตีด้วยลีลาอันยียวนของคนงานปลุกให้เราลุกขึ้นด้วยความน่ารำคาญใจ คนงานเริ่มตีระฆังปลุกตอนตี 5 ครึ่ง เสียงระฆังดังกังวานในครั้งแรกปลุกให้เราตื่นจากภวังค์สะดุ้งขึ้น เนื่องจากเรายังไม่คุ้นกับเสียงระฆังที่ใช้เฟืองท้ายรถยนต์นี้ เสียงแรกขาดหายไปนานจนความเงียบเข้ามาครอบหงำถึงตีอีกครั้ง สิ้นเสียงระฆังปลุกเราทุกคนรู้เวลาดีจะต้องทำธุระส่วนตัวให้เสร็จก่อนเข้าแถวลงงานตอน 6 โมงเช้าถึง 7 โมงเช้า การลงงานเช้าเพื่อปลูกฝังนิสัยแห่งการเตรียมความพร้อมที่จะเป็นเกษตรกรที่ดีในอนาคต พวกจับจอบถากหญ้าขุดดินรอบบริเวณหอพักและโรงอาหาร หลายคนที่ไม่เคยจับจอบมาก่อนเลยในชีวิต เพียงชั่วโมงแรกก็ทำให้มือแตกมีตุ่มน้ำใสๆ ทนแสบอยู่หลายวัน ไม่นานมันก็เริ่มด้านเป็นก้อนแข็งพร้อมที่จะรับกับงานขุดได้ทุกสถานการณ์

ประมาณ 07.30 น. ทุกคนมาพร้อมที่โรงอาหารเพื่อรับประทานอาหารเช้าเป็นข้าวต้มมีถั่วลิสงคั่วหนึ่งอยู่รายการอาหาร ทุกคนต้องมีช้อนส้อมติดประจำตัวเองทุกคน ถ้าลืมช้อนส้อมจะไม่ได้รับประทาน ข้าวที่หุงด้วยกระทะใบบัวจากฝีมือของพ่อครัววัยชรา ผู้เคร่งครัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ของตนองแม้จะเหนื่อยสักปานใดมิเคยบ่น ไม่มีวันหยุดสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ ถ้าลุงแกต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ซึ่งนั่นหมายถึงอาหารในวันนั้นมีปัญหา ต้องหาคนมาหุงข้าวแทนแก

ลุงคงมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่ของแกแม้ค่าตอบแทนค่าเหนื่อยจะได้เพียงน้อยนิดก็ตาม ก่อนตี 5 ลุงแกต้องตื่นลุกขึ้นมาก่อไฟเพื่อหุงข้าวให้สุกก่อนที่เวลาอาหารเช้าจะเริ่มขึ้นในเวลา 07.30 น. แกต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวและความระมัดระวังอย่างสูงในการหุงข้าว เพื่อไม่ให้ข้าวนั้นแฉะหรือดิบและต้องเพียงพอกับพวกเราทั้ง 71 คน กับอาจารย์อีก 3 คน เรารู้ดีว่าการหุงข้าวของลุงผู้นี้ไม่เคยทำให้ใครต้องผิดหวังหรือต้องตำหนิได้เลยสักครั้ง

ประมาณ 08.30 น. พวกเราก็เข้าเรียนในห้องเรียนที่เป็นส่วนหนึ่งของโรงอาหาร เครื่องแบบนักเรียนเราแต่งกายด้วยชุดกางเกงขาสั้นสีดำ เสื้อสีขาว รองเท้าดำ ถุงเท้าขาว กลัดเข็มของโรงเรียนที่หน้าอกซ้าย โต๊ะเรียนเป็นเล็กเชอร์เก่าๆ บางตัวไม่อยู่ในสภาพจะใช้ได้ อาจารย์ทั้ง 4 คนผลัดเปลี่ยนกันมาสอนประกอบด้วย อาจารย์สัณหจิตต์ ฐาปนะดิลก เป็นอาจารย์ใหญ่, อาจารย์สานนท์ ภู่ขวัญเมือง, อาจารย์สาคร ช่วยสุข และ อาจารย์สมบัติ พัฒนา ในชั่วโมงปฏิบัติอาจารย์สั่งให้เราได้ยกแปลงปลูกผักบุ้งจีนกันคนละแปลง มันเจริญเติบโตขึ้นงอกงามอย่างรวดเร็ว ทำให้เราอดภูมิใจในความสำเร็จในการเพาะปลูกเป็นครั้งแรกไม่ได้ จนมันครบวันเก็บเกี่ยวผักบุ้งก็ถูกนำไปทำเป็นอาหารให้พวกเรา

หลังจากรับประทานอาหารเช้าแล้วพักผ่อนได้สักพักใหญ่จึงเริ่มเข้าเรียนที่โรงอาหารหลังเดิมนั่นแหละแต่เป็นห้องที่แยกออกมาห้องใช้รับประทาน ระหว่างนั่งเรียนช่วงนั้นเป็นฤดูการทำนา มีชาวนามาทำการไถคราดอยู่ใกล้กับห้องเรียนเราจึงได้เห็นภาพชาวนาทำนาเป็นการเรียนรู้การทำนาโดยไม่ต้องมีการบรรยาย เป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับเพื่อนที่ไม่เคยเห็นการทำนามาก่อน แต่กับเพื่อนที่เป็นลูกชาวนาผ่านการทำนามาแล้วจึงเป็นเรื่องปกติธรรมดา

ขณะที่เรียนเรามักได้ยินเสียงชาวนาออกคำสั่งให้วัวทั้งคู่ทำตามขณะไถ เราจำได้ว่ามีวัวอยู่ตัวหนึ่งชื่อมันยังติดปากทุกวันนี้ มันชื่อไอ้เขียว เสียงของชาวนาตะโกนสั่งว่า “ไอ้เขียวถาด…ไอ้เขียวทูน…ยอๆ” เราจึงรู้ศัพท์ที่ใช้ในการทำนาตั้งแต่นั้นมา วันดีคืนดีงูเห่าเลื้อยเข้ามาเรียนกับเราด้วย นั่งเรียนจนเกือบเที่ยงใกล้ได้เวลาพักกลางวันมักได้ยินเสียงช้อนส้อมตกกระทบพื้นบ่อยๆ เพื่อเตือนให้อาจารย์ที่กำลังสอนทราบว่าหมดชั่วโมงได้เวลาแล้วพักกลางวัน

(อ่านต่อฉบับหน้า)