ลูกเขยตายแม่ยายปก เป็นได้ทั้งสมุนไพรและไม้ประดับ

เป็นสมุนไพรที่พบได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศ คนสมัยก่อนรู้คุณค่าดี แต่คนรุ่นหลังไม่ใส่ใจสักเท่าไหร่

ย้อนไปในยุคก่อนเก่าโบราณ บ้านเมืองยังไม่มีความเจริญทางด้านรักษาพยาบาลอย่างปัจจุบัน  มีแม่ยายกับลูกเขย ในชุมชนห่างไกลแห่งหนึ่ง ต้องเข้าป่าลึกไปหาของป่า เมื่อหาของป่าได้แล้ว ก่อนกลับ ลูกเขยคนขยัน ถูกงูมีพิษร้ายกัด จนถึงแก่ความตาย

แม่ยายซึ่งเห็นเหตุการณ์เสียใจมาก นางพยายามช่วยเหลือลูกเขยแล้ว แต่ก็ช่วยไม่ได้ นางพยายามแบกศพลูกเขยกลับบ้าน แต่ก็ทำได้ด้วยความยากลำบาก เพราะลูกเขยตัวโตมาก

นางจึงลากศพลูกเขยไปซุกไว้ใต้ต้นไม้ใหญ่ พร้อมกับไปหักกิ่งไม้มาปกคลุมไว้ เพราะเกรงว่า สัตว์ป่าจะมาแทะกิน จากนั้นนางกึ่งวิ่งกึ่งเดินกลับไปตามญาติพี่น้อง เพื่อนำศพลูกเขยกลับมาทำพิธีที่บ้าน

นางเดินร้องไห้ พร้อมกับบ่นเสียดายลูกเขย เพราะขยันและเป็นคนดี

เมื่อมาถึงบ้าน ปรากฏว่า ลูกเขยมานั่งรอแม่ยายอยู่แล้ว ซึ่งแม่ยายตกใจมาก นึกว่าผีหลอกตอนกลางวัน

ลูกเขยเล่าว่า ตนเองฟื้นขึ้นมา ร่างกายเต็มไปด้วยใบไม้ชนิดหนึ่ง เข้าใจว่า ใบไม้มีคุณสมบัติเป็นสมุนไพรพลิกฟื้นชีวิต แต่ก็ยังไม่มีการปักใจเชื่อ จนกระทั่งมีคนในหมู่บ้าน เกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับลูกเขยของแม่ยาย เมื่อทดลองนำมาใช้ดู ปรากฏว่าได้ผลดีมาก คนในหมู่บ้านจึงเรียนพืชชนิดที่รักษาพิษร้ายของงูว่า “เขยตายแม่ยายปก”

นอกจากชื่อเขยตายแม่ยายปกแล้ว สมุนไพรชนิดนี้ ยังเรียกได้หลายชื่อ ดังนี้ กรุงเทพฯ เรียก ประยงค์ใหญ่ แถบภาคกลาง เรียก กระรอกน้ำข้าว เขยตาย ลูกเขยตาย แถวชลบุรี เรียก กระรอกน้ำ กระรอกน้ำข้าว ภาคเหนือ เรียก เขนทะ ภาคใต้ เรียก ต้นน้ำข้าว มาลายู-ยะลา เรียก ตาระแป สุโขทัย เรียก พุทธรักษา ประจวบคีรีขันธ์ เรียก มันหมู ภาคอีสาน เรียก ส้มชื่น บางคนเรียก พิษนาคราช

ลำต้น เป็นพรรณไม้ขนาดกลาง สูงประมาณ 3-6 เมตร ขนาดลำต้นโตประมาณเท่ากับต้นหมาก ส่วนผิวของลำต้นจะเป็นสีเทา ตกกระเป็นดวงสีขาว มีขนสั้นนุ่มที่กิ่งก้าน

ต้นและใบคล้ายต้นชา ปลายใบจะเรียวเล็ก ขอบใบเรียบส่วนกลางใบกว้าง ปลายใบแหลม ยาว 9-18.5 เซนติเมตร กว้าง 3-7 เซนติเมตร

ผล…สีแดงอมชมพู ผลกลม ขนาดใกล้เคียงผลมะแว้ง ขนาดกวาง 1-1.2 เซนติเมตร ยาว 1-1.8 เซนติเมตร ผิวเรียบ สีเขียวทึบ เมื่อสุกเป็นสีชมพูใส ฉ่ำน้ำ มีรสหวาน ในผลหนึ่งมีเมล็ดอยู่เพียง 1 เมล็ด เมล็ดมีสีดำ กลม เป็นลาย

รสชาติจะออกเปรี้ยวๆ หวานๆ รับประทานจิ้มกับน้ำตาลอร่อย นำมาทำแยมรสชาติดี

ดอกมีสีขาวและมีกลิ่นหอม ก้านดอกสั้น ดอกย่อยเป็นกระจุก กระจุกละ 12-15 ดอก ออกตามซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง กลีบดอก 5 กลีบขนาด 4-5 X 2-2.5 มิลลิเมตร ผิวมีต่อมเป็นจุด กลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก ยาว 1-1.5 มิลลิเมตร รูปแหลมกึ่งรูปไข่ มีขนอ่อนที่ส่วนปลาย มีใบประดับหุ้ม ชั้นบนมี 5 กลีบใหญ่ และมีส่วนย่อยเล็กๆ อีกหลายอัน

ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ติดผลราวเดือนมีนาคม

เกสรตัวเมียเรียงเป็นวง ตรงกลางแกนดอกมีเกสรตัวผู้เป็นแท่ง รังไข่ขนาดกว้าง 2-2.5 มิลลิเมตร รูปไข่ เกสรเพศผู้ 8-10 อัน ก้านชูอับเรณูยาว 2-3 มิลลิเมตร ปลูกเป็นไม้ประดับก็ได้

ขยายพันธุ์โดยการชำกิ่ง ตอนกิ่งและเพาะเมล็ด

ตำรายาไทย ราก รสเมาขื่นปร่า กระทุ้งพิษ แก้พิษฝีภายในและภายนอก ขับน้ำนม ฝนน้ำกินและทาแก้พิษงู แก้พิษแมลงกัดต่อย ทาแผลที่อักเสบ แก้ไข้กาฬ แก้โรคผิวหนังพุพอง แก้ไข้รากสาด เกลื่อนฝีให้ยุบ แก้ฝีที่นม ตัดรากฝีที่นม ยับยั้งเชื้อไวรัสบางชนิด

เปลือกต้น รสเมาร้อน แก้ฝีภายนอกและภายใน กระทุ้งพิษ แก้พิษงู ขับน้ำนม แก้พิษต่างๆ แก้พิษไข้

เนื้อไม้ กระทุ้งพิษ แก้ฝีภายนอกและภายใน แก้พิษงู ขับน้ำนม ดอกและผล รสเมาร้อน ทารักษาหิด ไม่ระบุส่วนที่ใช้ กระทุ้งพิษ แก้ฝีภายนอกและภายใน แก้พิษงู ขับน้ำนม

ประเทศบังคลาเทศใช้ น้ำคั้นจากใบผสมน้ำตาล กินตอนท้องว่างเพื่อถ่ายพยาธิตัวกลม แก้ไข้ แก้โรคตับ ใบบดผสมกับขิง รักษาผิวหนังอักเสบ ตุ่มพุพอง หรือคันแสบ ราก ใช้ลดไข้

แพทย์แผนไทยใช้สมุนไพรเขยตายแม่ยายปกสำหรับถอนพิษ เมื่อถูกแมลงมีพิษกัดต่อย  เป็นเริม-งูสวัด-ไฟลามทุ่ง -ขยุ้มตีนหมา เพียงแค่ใช้ใบขยี้ หรือนำใบบดผสมกับแอลกอฮอลล์ เหล้าขาว หรือน้ำมะนาว นำไปทาแล้วพอกไว้ ประเดี๋ยวเดียวก็สามารถถอนพิษได้

คุณบุญส่ง พูลพัฒน์ นักวิชาการเกษตรอิสระ เจ้าของส่งตะวันรีสอร์ท อำเภอหนองหญ้าปล้อง จังหวัดเพชรบุรี บอกว่า แถบที่ตนเองอาศัยอยู่ เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ทุรกันดาร คนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ได้สมุนไพรชนิดนี้ รักษาพยบาลคนในชุมชน ซึ่งได้ผลดีมาก จึงมีการอนุรักษ์พันธุกรรม มาจนบัดนี้

ส่วนการปลูกประดับ สามารถทำได้ดีเพราะทรงพุ่มสวยงาม คล้ายๆหูกระจง ดังนั้นเจ้าของรีสอร์ทพื้นที่กว้างๆควรพิจารณาใช้เขยตายแม่ยายปก เป็นไม้ประดับสถานที่