สาคร อาจสุโพธิ์ หญิงเก่ง โนนดินแดง จบเกษตรทำสวนลำไย ได้ผลดี

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตามสื่อใหม่มักพบเห็นการนัดหมายเลี้ยงรุ่นกันมาก สาเหตุอาจจะเป็นเพราะเริ่มมีเวลาว่างและคิดถึงกัน ยิ่งช่วงอากาศเย็น ปลายปี ต้นปี มักถี่เป็นพิเศษ คนเรียนมาหลายสถาบัน ต้องจัดคิวเหมือนดารา

สองปีมาแล้ว มีงานเลี้ยงรุ่นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ที่ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ช่วงนั้นตรงกับปลายปี ในงานมีลำไยมาให้ได้กินกัน สอบถามแล้วเป็นของ คุณสาคร อาจสุโพธิ์…จริงๆ แล้วงานนั้นเป็นงานของเกษตรสุรินทร์..โกดกง 17 แต่คุณสาคร เป็นโกดกง 18 ด้วยความระลึกนึกถึงพี่ๆ ที่สนิทกัน เขาจึงมาร่วมงาน พร้อมกับผลผลิตลำไยนอกฤดู เกรดส่งต่างประเทศมาให้พี่ๆ ได้ลิ้มรสกัน

โกดกง เป็นนิคเนมของเกษตรสุรินทร์ ซึ่งที่อื่นๆ ก็มี

เมื่อเทคโนโลยีชาวบ้าน ไปทำรายงานพิเศษจังหวัดบุรีรัมย์ จึงถือโอกาสพูดคุยเรื่องราวการทำงานของ คุณสาคร หญิงเก่งและแกร่ง

คุณสาคร อาจสุโพธิ์ และสามี

เริ่มต้นที่โรงงานผลไม้กระป๋อง

คุณสาคร อยู่บ้านเลขที่ 75 หมู่ที่ 12 ตำบลลำนางรอง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ เธอเรียนจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ที่เกษตรสุรินทร์ เมื่อปี 2528 ขณะนั้นยังไม่ได้เปิดสอนระดับปริญญาตรีอย่างปัจจุบัน

อาชีพเริ่มต้นของคุณสาคร คือทำงานในโรงงานผลไม้กระป๋อง ที่บุรีรัมย์เอง รวมทั้งสกลนครและเชียงใหม่ เธอตระเวนหาประสบการณ์อย่างต่อเนื่อง ได้ทำหน้าที่ทุกแห่ง

ขณะไปทำงานอยู่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ คุณสาครได้ติดรถไปซื้อผลผลิตลำไย เมื่อได้ชิมลำไย เธอนึกขึ้นมาทันทีว่า บ้านมีที่ดินปลูกแต่มันสำปะหลัง อยากปลูกลำไยบ้าง จะได้กินไหม เมื่อคิดได้ดังนั้น จึงสั่งลำไยพันธุ์อีดอไปปลูกที่ลำนางรอง จำนวน 100 ต้น ด้วยกัน ทั้งๆ ที่ยังไม่มีเทคโนโลยี หรือวิธีการทำให้ออกดอก แต่เธออยากปลูก โดยหวังว่า ปีใดอากาศเย็น จะสามารถออกดอกติดผลให้กับเจ้าของได้

“ใหม่ๆ ปลูกแบบเทวดาเลี้ยง ปลูกเมื่อปี 2539 ลำไยเริ่มออกดอก ปี 2543 ดอกออกมาไม่น้อย แต่ดูแลไม่เป็น ได้กิน 2 ลูก” เธอบอก

แต่งผล

ราดสารให้ออกนอกฤดูได้

คุณสาคร บอกว่า มีอยู่ช่วงหนึ่งได้ข่าว มีการระเบิดของสารที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นสารที่นำมาทำให้ลำไยออกนอกฤดู แต่เธอก็ไม่ได้มีความรู้ ใน ปี 2543 ได้เดินทางไปดูงานที่อำเภอสอยดาว จังหวัดจันทบุรี ซึ่งมีการผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพกันมาก

เมื่อกลับมาผลิตลำไย สามารถทำได้ตามที่ไปดูงาน แต่การตลาดยุ่งยากมาก เพราะขายไม่ทัน ลำไยออกมาทีเดียว 5-10 ไร่ ขายไม่หมด จึงหยุดพักการผลิตไว้ก่อน แต่ก็เลี้ยงต้นลำไยไว้ไม่โค่นทิ้ง จนกระทั่ง ปี 2552 ไปดูงานที่อำเภอสอยดาวอีกครั้ง ทีนี้ลาออกจากงานประจำ มาทำสวนลำไยโดยตรง

พื้นที่ปลูกลำไยของคุณสาคร เริ่มแรก 14 ไร่ ต่อมาขยายออกเป็น 30 ไร่ มีทั้งหมด 700 ต้น

อายุของต้นที่ปลูก เริ่มปลูกตั้งแต่ ปี 2539 รุ่นแรก รุ่นที่สอง ปี 2554

“แรกสุด ทำลำไย โดยบังคับทีเดียว 30 ไร่ หลังๆ ไม่ไหว แรงงานไม่พอ จึงแบ่งเป็นสองแปลง สามารถจัดการได้” เจ้าของบอก

ดูแลดี

หลักการราดสารนั้น เจ้าของสวนได้หารือกับล้งที่รับซื้อ เช่น จะซื้อขายลำไยกัน วันที่ 15-31 กรกฎาคม 2562 เจ้าของสวนต้องราดสารให้ วันที่ 1 มกราคม 2562 หรือช้ากว่านี้เล็กน้อย ได้รับการอธิบายว่า หลังราดสาร 6 เดือนครึ่ง ถึง 7 เดือน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ สารที่ใช้คือ โพแทสเซียมคลอเรต จำนวนที่ใช้นั้น เจ้าของใช้สาร 50 กิโลกรัม ผสมน้ำ 1,000 ลิตร ราดต้นลำไยได้ 25 ต้น หากคิดถึงทรงพุ่ม ระยะระหว่างต้นระหว่างแถว 8 คูณ 9 เมตร ทรงพุ่มลำไยชนกัน

ก่อนที่จะราดสาร ต้องเตรียมต้นให้มีความสมบูรณ์ โดยการใช้ขี้ไก่ ขี้หมู ใส่ให้กับต้นหลังการเก็บเกี่ยว เป็นปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์ ส่วนปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ใส่สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 รวมทั้ง 8-24-24 จำนวน 2 กิโลกรัม ต่อต้น

เมื่อมีผลผลิตใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ

ก่อนเก็บผลผลิต ใส่สูตร 13-13-21 เพื่อปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต ช่วงมีผลผลิตเจ้าของใส่ปุ๋ยให้กับลำไยเดือนละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1.5 กิโลกรัม ต่อต้น ช่วงให้ปุ๋ยต้องมีน้ำให้

น้ำจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตลำไย หากไม่มีน้ำไม่ควรจะผลิตลำไยเป็นการค้า แต่ถ้าปลูกต้นสองต้นไว้รอบๆ บ้าน ไม่ต้องให้น้ำก็ได้

ศัตรูของลำไยมีไม่น้อย

แรกสุด หนอนกินใบช่วงแตกใบอ่อน แมงอีนูนก็ชอบมากัดใบ

ใบแก่มักมีไรแดง

ดังนั้น ต้องรักษาใบ โดยการป้องกันกำจัด หากใบไม่ดี ไม่สามารถที่จะทำลำไยนอกฤดูได้

ต้นหนุ่มสาว

เรียนเกษตรมา นำความรู้มาใช้ได้มาก

เรื่องของการซื้อขาย คุณสาคร บอกว่า ติดต่อกับทางล้ง เขามาซื้อเพื่อส่งไปต่างประเทศ ปัจจุบันขายได้ กิโลกรัมละ 25 บาท

ลำไยต้นหนึ่งให้ผลผลิตกับเจ้าของได้ ครั้งละ 200-300 กิโลกรัม ดังนั้น รายได้ต่อต้นอยู่ที่ 5,000 บาท อย่างต่ำ แต่การลงทุนเรื่องปุ๋ยและปัจจัยอื่นก็มีมาก

“ลำไยที่จะราดสารได้หลังปลูกอายุ 3-4 ปี ทุกวันนี้ปลูกพันธุ์อีดออย่างเดียว ละแวกบ้านมีทำลำไยกันกว่า 10 ราย ที่ทำเพราะมีล้งรับซื้อ อยู่ไกลล้งคงลำบาก ต้นพันธุ์ ทางพ่อสามีทำขาย ใครสนใจติดต่อได้ …ราคาผลผลิตที่ขายอยู่ กิโลกรัมละ 25 บาท พออยู่ได้ ที่จันท์ ล้งเยอะ รู้สึกว่าราคาสูงกว่านี้…ตอนนี้ แรงงานหลักๆ ทำกับสามี 2 คน ลูก 2 คน เรียนจบทำงานไปคนหนึ่งแล้ว อีกคนเพิ่งอยู่ ม.4 …ช่วงงานยุ่งๆต้องจ้างแรงงานมาช่วย มาตัดแต่งกิ่ง ซอยปลายกิ่งให้มียอด 4-5 ยอด เมื่อมีผลต้องซอยผลไม่ให้ดกเกินไป เพราะลูกจะเล็ก เวลาเก็บผลผลิต ทางล้งมีคนมาเก็บ เราดูตราชั่งและเก็บเงิน” คุณสาคร บอก

คุณสาคร บอกว่า มีความมั่นใจเรื่องตลาดลำไย ว่ายังเป็นอาชีพที่ทำรายได้ แต่ต้องเน้นคุณภาพ ผู้รับซื้อจึงจะมาซื้อ ผลผลิตไม่ได้ขายปลีกทั่วไป ขายให้ล้งอย่างเดียว

ปัญหาการทำเกษตรที่พบอยู่ ขณะนี้คือ เรื่องแรงงาน

เปรียบเทียบกับพืชอื่นๆ ในละแวกใกล้เคียงกัน คุณสาคร บอกว่า ลำไยยังน่าปลูก แต่ต้องมีที่รับซื้อ มีปัจจัยการผลิตที่เหมาะสม โดยเฉพาะเรื่องน้ำ

ต้อนรับนักศึกษา มทร. อีสาน วิทยาเขตสุรินทร์ ดูงาน

“ที่เรียนเกษตรมาได้ใช้อย่างคุ้มค่ามาก สามารถนำมาปรับใช้ ยกตัวอย่าง ใบลำไยที่ร่วงหล่น ที่อื่นอาจจะเผาทิ้ง ที่สวนเรานำมากองทำเป็นปุ๋ยหมัก นำกลับไปใส่ให้ลำไย เมื่อก่อนดินแห้ง เหมือนไม่มีชีวิต ทุกวันนี้ดินร่วน ไส้เดือนเยอะมาก เรื่องของสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช มีชื่อการค้ามากมายกว่า 10 ชื่อ เราก็ดูที่ชื่อสามัญ แล้วเปรียบเทียบความเข้มข้น เลือกซื้อยี่ห้อความเข้มข้นเท่ากัน มีตัวให้เลือกราคา ก็เลือกราคาที่ถูกกว่า…เรื่องของการดูว่า พืชขาดธาตุอาหาร ขาดสังกะสี ขาดแคลเซียม ดูแล้วขาดตัวไหนก็เติม ได้ความรู้จากสมัยที่เรียนมา” เจ้าตัวพูดถึงสิ่งที่เรียนมา แล้วนำมาปรับใช้

คุณสาคร บอกว่า พึงพอใจ และภูมิใจ ที่เรียนเกษตรมาแล้ว ได้นำมาใช้

“เคยมีอาจารย์พาน้องๆ ที่สถาบันมาดูงาน เราก็ให้ความรู้อธิบายไป ทำสวนเหนื่อย ยามว่างก็ไปเที่ยวกันบ้าง ตามประสาตายาย” เธอเล่าอย่างมีความสุข

สนใจการทำลำไยที่แดนอีสาน สอบถามได้ตามที่อยู่ หรือโทรศัพท์ 086-445-2085 หรือ FB:สาคร อาจสุโพธิ์