ทุเรียนไทยส่งออก GAP & GMP ไม่มีไม่ได้แล้ว

งานพืชสวนก้าวหน้า ครั้งที่ 15 (HORITEX 2018) ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา เวทีประชุมหารือ “GAP ไม่มีไม่ได้แล้ว” เป็นหัวข้อที่โดนใจ ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมรับฟังกว่า 200 คน กระทั่งห้องประชุมล้นหลาม โดยมี ดร. เสริมสุข สลักเพ็ชร อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ประธานประชุม ตอบคำถามด้วยตัวเองอย่างชัดเจนตรงประเด็น จากผู้ร่วมเวที อาทิ อาจารย์ปราโมช ร่วมสุข ประธานสถาบันทุเรียนไทย หน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น เกษตรจังหวัด 3 จังหวัดภาคตะวันออก ประธานแปลงใหญ่ทุเรียน จังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด และสมาคมผู้ส่งออกทุเรียน มังคุด จันทบุรี-ชุมพร นายกสมาคมผู้ค้าและผู้ส่งออกผลไม้ไทย ผู้แทนผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ GMP ผลไม้ทั้งเปลือก จังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด และ7ผู้แทนเกษตร GAP ดีเด่น เป็นต้น

เพื่อหารือแนวทางการทำมาตรฐาน GAP ของทุเรียน และ GMP ของโรงคัดบรรจุ เพราะอนาคตทุเรียนต้องประสบปัญหาคู่แข่งด้านการตลาดกับเพื่อนบ้านอาเซียนและเป็นผลไม้ที่สามารถส่งออกทำเงินได้ปีละกว่า 20,000 ล้านบาท

 

จีน พบสารตกค้าง เกษตรกร โรงคัดรีบทำตลาด

โชว์ GAP/GMP ทุเรียนคุณภาพเหนือคู่แข่ง

ดร. เสริมสุข สลักเพ็ชร อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวถึงการค้าทุเรียนกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เป็นคู่ค้าหลักของไทยว่า ไทย-จีน มีการทำพิธีสารระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้องกัน ระหว่าง 2 ประเทศ ผลไม้ไทย 5 ชนิด คือ ทุเรียน มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง และของจีน 5 ชนิด คือ แอปเปิ้ล สาลี่ ส้ม พุทรา องุ่น ที่ต้องขึ้นทะเบียนสวนและโรงคัดบรรจุ แต่ยังไม่เข้มข้น เรื่อง GAP/GMP การส่งออกมีการสวมสิทธิ์ GAP ในการส่งออก ใช้ทะเบียนโรงคัดบรรจุอื่นๆ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GMP กรมวิชาการเกษตร ได้เตรียมดำเนินการ เรื่อง GAP ของสวนหรือเกษตรกร และเรื่อง GMP ของโรงคัดบรรจุแต่ไม่ได้รับความสนใจ เพราะเป็นความสมัครใจ ที่ผ่านมานับ 10 ปี การขายทุเรียนผลสดออกไปจำหน่ายมากในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกับตลาดจีนที่เป็นตลาดหลักไม่ได้มีการพัฒนาเรื่องมาตรฐาน

ดร. เสริมสุข สลักเพ็ชร (ขวาสุด)

ถึง “วันร้าย คืนร้าย” ปื 2561 จีนเข้มงวดจริงจังกับมาตรฐานทุเรียนผลสดจากไทยถึงกลับให้ไทยเข้มงวดในการออกใบสุขอนามัยพืช เนื่องจากตรวจพบแมลงศัตรูพืช (เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย หนอนเจาะเมล็ด) และปริมาณยาต่างๆ ที่เกินมาตรฐาน ซึ่งจีนเตือนมาเป็นระยะๆ กว่า 1,000 ครั้ง ถึงเวลาแล้วที่สวนทุเรียนของเกษตรกรต้องมี GAP (Good  Agricultural Practice : GAP) และโรงคัดบรรจุต้องมีมาตรฐาน GMP (Good Manufacturing Practice : GMP) เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับทุเรียนที่มีปัญหาและเพื่อรับรองมาตรฐานทุเรียนไทยที่ส่งออกตลาดต่างประเทศที่มีคุณภาพ เพื่อแสดงศักยภาพของทุเรียนไทยที่มีคุณภาพมาตรฐานเหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนในตอนนี้ ซึ่งอนาคตอันใกล้จะเป็นคู่แข่งขันสำคัญ

“กรมวิชาการเกษตร ได้พยายามแก้ไขแจ้งเตือนผู้ส่งออก หลังจีนตรวจพบจะแจ้งมา ล่าสุดจีนเปลี่ยนหน่วยงานที่ควบคุมตรวจสอบและกักกันโรค ทั้งนำเข้า-ส่งออก ไปอยู่กระทรวงศุลกากร มีหน่วยงานที่ตรวจด้านสุขอนามัยพืชร่วมตรวจประกบกับศุลกากร ได้แจ้งให้ไทยดูแลเรื่องคุณภาพ ทุเรียนอ่อนและศัตรูพืช เพราะตรวจพบหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน จริงๆ แล้วจีนต้องการให้แยกพิธีสารทุเรียนออกจากพืชชนิดอื่นมีมาตรการที่เข้มงวดขึ้น ปัญหาเรื่องมาตรฐาน GAP และ GMP ของทุเรียนไทยจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะทางมาเลเซียเองได้พยายามผลักดันให้นำเข้าทุเรียนสดเข้าจีนได้ จะเป็นคู่แข่งของไทยรวมทั้งอนาคตปริมาณการผลิตทุเรียนที่จะเพิ่มขึ้นจำนวนมากทั้งในไทยและเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นในรูปของทุเรียนผลสด ผลสดแช่เย็น ทุเรียนแช่แข็ง ทุเรียนแปรรูป สุดท้ายต้องมีคุณภาพผ่านการรับรอง ขณะนี้เพื่อนบ้านยังตามเรื่องการรับรองมาตรฐาน GAP และ GMP ไม่ทัน ถ้าเราทำได้ก่อนและบอกคนทั้งโลกได้ว่า ถ้าบริโภคทุเรียนไทย เป็นทุเรียนที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน มีคุณภาพ ปลอดภัย นั่นคือ ความเหนือกว่าทางด้านการตลาด” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

 

ทางเลือกเกษตรกร ทำ GAP หรือ THAI GAP เร่งด่วน

อาจารย์ปราโมช ร่วมสุข ประธานสถาบันทุเรียนไทย กล่าวถึงการทำคุณภาพมาตรฐานของเกษตรกรเจ้าของสวนทุเรียนว่า มาตรฐานของกรมวิชาการเกษตร คือ มาตรฐาน GAP และมาตรฐาน THAI  GAP ที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (วิทยาเขตกำแพงแสน) ส่งเสริม ซึ่งเป็นมาตรฐานที่กำหนดขึ้นโดยภาคเอกชนได้รับการรับรองจาก กรมวิชาการเกษตร และขึ้นทะเบียนกับ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 (จันทบุรี) กรมวิชาการเกษตร เช่นเดียวกับมาตรฐาน GAP ทั้งนี้ เกษตรกรกรที่ต้องการขอใบรับรอง THAI GAP สามารถรวมตัวกันเป็นกลุ่มเกษตรกร หรือกลุ่มสหกรณ์ สมาชิก จำนวน 10 แปลงขึ้น ยื่นขอใบรับรองประเมินเป็นกลุ่มได้ การประเมินจะเลือกสุ่มตรวจ อัตราส่วน 1 ใน 10 แปลง ถ้าผ่านเป็นการผ่านยกกลุ่ม หรือถ้าไม่ผ่าน จะไม่ผ่านยกกลุ่มเช่นกัน

อาจารย์ปราโมช ร่วมสุข

“ที่ผ่านมา เกษตรกรยังไม่เห็นความสำคัญของการทำ GAP สถาบันทุเรียนไทยมาประสานเพื่อทำมาตรฐาน THAI GAP เป็นปีที่ 2 มีผ่านการประเมินไปแล้ว 1,700 แปลง มีบางรายสอบไม่ผ่าน ประมาณ 20% และไม่ยอมแก้ไขยกเลิกไป ทีมประเมินมาตรฐาน THAI GAP จะมีเจ้าหน้าที่มาให้คำแนะนำ ข้อปฏิบัติ และมีทีมลงประเมินผลเบื้องต้นและทีมประเมินจริงประกบตามไป เพื่อให้งานรวดเร็วขึ้น ซึ่งในการขอรับการประเมินจะมีค่าใช้จ่าย จึงควรรวมๆ ตัวกันเป็นกลุ่ม ต่อไปเราจะไม่คุยกันในประเด็นราคาทำแล้วจะขายได้เท่าไร หรือมีความแตกต่างกันอย่างไร แต่เราจะเน้นว่า ถ้าไม่ทำจะขายไม่ได้” อาจารย์ปราโมช กล่าว

คุณวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดตราด และประธานสหกรณ์การเกษตรเพื่อการแปรรูปและส่งออกจังหวัดตราด จำกัด กล่าวถึงปัญหาการทำ GAP เพิ่มเติมว่า การทำ GAP ของเกษตรกรเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน ไม่ทำไม่ได้แล้ว ที่ผ่านมาเกษตรกรไม่ให้ความสำคัญ เพราะทำหรือไม่ทำไม่มีความแตกต่างกัน ภาครัฐต้องมีมาตรการเข้มข้นให้เห็นถึงความสำคัญของมาตรฐาน และความน่าเชื่อถือของ GAP และความแตกต่างของสวนที่ผ่านการรับรอง GAP ที่มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (QR Code) ได้ และโรงคัดแยก ต้องได้มาตรฐาน GMP เพราะมีการเชื่อมต่อกัน ทุกวันนี้ล้งมากกว่า 50% เป็นล้งเช่า ไม่เข้าใจเรื่องมาตรฐาน ต้องแก้ปัญหา “ล้ง” ให้สร้างเป็นล้งมาตรฐานจดทะเบียนตรวจสอบได้ จึงจะคุมมาตรฐานได้ และควรส่งเสริมให้มีปริมาณล้งเพิ่มขึ้นตามอัตราการเพิ่มของผลผลิตทุเรียนด้วย

คุณวุฒิพงศ์ รัตนมณฑ์

“มาตรฐาน GAP กับระยะเวลาของใบรับรอง 2 ปี ต้องสร้างความเชื่อมั่นได้ ซึ่งในกลุ่มสหกรณ์น่าจะตรวจติดตามกันเองได้ อนาคตถ้ามีการถ่ายโอนภารกิจให้ภาคเอกชน ปัญหาค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้น ขณะที่ทำกับกรมวิชาการเกษตรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ทางที่ดีภาครัฐต้องหามาตรการเชิงรุกกระตุ้นให้เกษตรกรหันมาทำ GAP ในปีนี้ให้ได้มากที่สุด สหกรณ์ต้องผลักดันให้สมาชิกทำมาตรฐาน GAP และสหกรณ์หรือล้งที่ส่งออกต้องได้มาตรฐาน GMP ด้วย โดยรับซื้อทุเรียนที่มีใบรับรอง GAP เท่านั้น เมื่อสินค้ามีคุณภาพราคาจะมาเอง นี่คือ ข้อแตกต่างของการทำหรือไม่ทำ GAP และ GMP” คุณวุฒิพงศ์ กล่าว

ทางด้าน คุณชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า จำนวนเกษตรกรเจ้าของแปลงทุเรียนในภาคตะวันออก 3 จังหวัดภาคตะวันออก ระยอง จันทบุรี ตราด พื้นที่ประมาณ 300,000 ไร่ มีเกษตรกรผ่านการประเมิน และรอการตรวจสอบมีเพียง 40,000 ไร่ ประมาณ 14-15% เท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมาก ซึ่งในอดีตมีผู้ได้ใบรับรองถึง 40% แต่เมื่อเกษตรกรไม่เห็นความสำคัญต่อมาเลิกต่ออายุบ้าง ไม่สนใจที่จะขอใบรับรองบ้าง จำนวนจึงลดลงมาก แต่ปีนี้ยอมรับว่าเกษตรกรมีการตื่นตัวมาก ยื่นขอทั้ง GAP และโรงคัด ยื่นขอ GMP สวพ.6 ได้เตรียมจัดระบบ ดังนี้

ผอ. ชลธี นุ่มหนู
  1. 1. เกษตรกรที่ยื่นขอ GAP
  2. 2. ล้งที่ยื่นขอมาตรฐาน GMP จะร่วมกับสถาบันการศึกษาในการตรวจประเมิน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ สวพ.6 มีน้อย และ
  3. 3. ล้งที่ไม่ยื่นขอ GMP เป็นล้งที่ไม่เข้าสู่ระบบ สวพ.6 ร่วมกับมหาวิทยาลัยบูรพา จะจัดทำพิกัด เพื่อให้ทราบที่ตั้ง หากจีนมีการร้องเรียนปัญหาทุเรียนอ่อน มีศัตรูพืช จะสามารถตรวจสอบได้

“สวนทุเรียนใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก ระยอง จันทบุรี ตราด มีพื้นที่ปลูกทุเรียน 300,000 ไร่ อยู่ในจันทบุรีมากที่สุด 200,000 ไร่ ข้อมูล จาก สวพ. 6 ปี 2561 มีผ่านการประเมินมาตรฐาน GAP และยังไม่หมดอายุ 30,451.56 ไร่ และอยู่ระหว่างการตรวจ 9,357 ไร่ รวม 39,808 ไร่ ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก 13-14% เท่านั้น ส่วน GMP โรงคัดบรรจุผลไม้ ประมาณ 500 แห่ง ได้รับ GMP เพียง 147 แห่ง หรือ 30% แยกเป็นโรงคัดบรรจุทุเรียนเพียง 97 แห่งเท่านั้น  ยอมรับว่ากำลังเจ้าหน้าที่ สวพ.6 มีเพียง 12 คน ไม่เพียงพอ เพราะต้องประเมินทั้ง GAP และ GMP จังหวัดจันทบุรีและตราด ปัญหาเรื่องนี้ สวพ.6 เตรียมประสานสถาบันการศึกษา เช่น มหาวิทยาลัยรำไพพรรณี มหาวิทยาลัยบูรพา (วิทยาเขตจันทบุรี) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจันทบุรี ระดมกำลังกันเพื่อประเมินผล”

“และกรมวิชาการเกษตร มีแผนที่จะโอนภารกิจออกใบรับรองทั้ง GAP GMP ให้ภาคเอกชน ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่าย ช่วงนี้จึงเหมาะสมที่เกษตรกรและผู้ประกอบการจะเร่งดำเนินการ ทุเรียนไทยต้องมีใบรับรองมาตรฐานคุณภาพ และต่อไปล้งจะมีเงื่อนไขรับซื้อทุเรียนจากสวนที่มี GAP เท่านั้น ไม่มีการสวมสิทธิ์กัน ทั้งนี้ GAP ยื่นขอได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานเกษตรจังหวัด สวพ.6 จันทบุรี สวพ. ระยอง ขอที่ สำหรับ GMP จันทบุรี ตราด ขอได้ที่ สวพ.6 และระยองขอได้ที่ สวพ. ระยอง หรือสะดวกสามารถยื่นขอ มาตรฐาน THAI GAP จากสถาบันภาคเอกชนได้เช่นกัน”

“มีเกษตรกรที่ยื่นขอ GAP ไว้ 470 ราย ที่สำนักงาน (สวพ.6) จะเร่งตรวจให้ทันภายในมีนาคม 2562 ในส่วนของสมาคมส่งออกทุเรียนแห่งประเทศไทย ถ้าสมาชิกรวมๆ กันยื่นขอ GMP จะบริหารจัดการได้รวดเร็ว ตามแผนเดือนมกราคม 2562 จะมีการเปิดอบรมให้โรงคัดบรรจุ เพื่อปรับปรุงก่อนที่เจ้าหน้าที่ตรวจได้รวดเร็วขึ้น ทันในช่วงต้นฤดูกาล ต่อไปล้งที่รับรอง GMP อาจจะตั้งเตาไมรโครเวฟเพื่อพิสูจน์เปอร์เซ็นต์เนื้อแป้งกันก่อนซื้อ-ขาย และรายชื่อล้งที่ไม่ได้มาตรฐานจะจัดทำพิกัดไว้ สามารถตรวจสอบได้เช่นกัน”

สมาคมส่งออกทุเรียนฯ

ขานรับ GAP & GMP ต้องมาพร้อมกัน

คุณภานุวํฒน์ ไหมแก้ว นายกสมาคมส่งออกทุเรียนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า มีสมาชิกหรือล้งรับซื้อผลไม้ ประมาณ 200 ล้ง ทั้งภาคใต้ ภาคตะวันออก แต่ยอมรับว่ามีล้งที่ได้มาตรฐาน (GMP) น้อยมาก ที่ผ่านมาระบบการบริหารจัดการทุเรียนตั้งแต่ในสวนมาถึงโรงคัดหรือล้งผู้ส่งออกมีความเสี่ยงตลอด ทั้งเรื่องทุเรียนอ่อน และแมลงศัตรูพืชปนเปื้อน เนื่องจากไม่มีมาตรการเข้มงวดเรื่องมาตร GAP จากสวน ปัญหาทุเรียนอ่อนโทษกันไปโทษกันมาตลอด คือโทษชาวสวนตัดทุเรียนอ่อนหรือล้งตัดทุเรียนอ่อน ตอนนี้ถึงเวลาที่ต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา สวนต้องมีใบรับรอง GAP และโรงคัดบรรจุต้องมี GMP ไปด้วยกัน

ตลาดทุเรียนส่วนใหญ่ 80-85% อยู่ที่จีนเป็นหลัก เมื่อพ่อค้าเหมาสวนแขวนทุเรียน ชาวสวนไม่มั่นใจว่าพ่อค้าจะกลับมาเอาทุเรียนอีกหรือไม่ จึงพยายามจะตัดมีดเดียว (ครั้งเดียว) ทำให้มีทุเรียนอ่อน ทุเรียนตกไซซ์ติดมาด้วย ถ้าจะแก้ปัญหาต้องจ้างเจ้าของสวนตัดทุเรียนแก่ให้เอง โดยจ่ายค่าจ้างให้ กิโลกรัมละ 3-4 บาท จะทำให้ได้ทุเรียนคุณภาพ 100% ถ้าทำให้วงจร 3 กลุ่ม คือ ผู้ผลิต-ผู้ขาย-ผู้บริโภค ไปด้วยกัน จะได้ทุเรียนมาตรฐาน ส่วนนายหน้าติดต่อรับซื้อทุเรียนให้ล้งส่งออก ต้องบอกที่มาจากสวนและล้งที่รับซื้อได้ ส่วนล้งต้องจดทะเบียนและมีมาตรฐาน GMP หากสายตัดอ้างล้งให้ตัดชาวสวนจะตรวจสอบกลับได้ ซึ่งสมาคมจะสนับสนุนให้ชาวสวนทำมาตรฐาน GAP และให้โรงคัดบรรจุหรือล้งของสมาคมทำ มาตรฐาน GMP เป็นลูกโซ่ไปด้วยกัน โดยมีเงื่อนไขว่า ล้งต้องมี GMP และจะซื้อทุเรียนจากสวนที่มีใบรับรอง GAP เท่านั้น

คุณภานุวัฒน์ ไหมแก้ว

“ปัญหาการส่งออกทุเรียน มีทั้งเรื่องมือตัดทุเรียนหายากมากๆ อนาคตต้องเร่งสร้างแรงงานฝีมือด้านนี้ให้เพียงพอ เนื่องจากเป็นแรงงานเชี่ยวชาญ ที่ผ่านมาจะใช้แรงงานต่างด้าวไม่มีคุณภาพ ระยะสั้นล้งต้องจ้างชาวสวนตัดเองไปก่อน ที่สำคัญภาครัฐไม่ควรมุ่งหวังตลาดจีนแห่งเดียว ควรเปิดตลาดใหม่ๆ ที่มีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น อย่างตลาดอินเดีย เพราะมีประชากรมาก และมีกำลังซื้อสูง” นายกสมาคม กล่าว

คุณไพฑูรย์ วานิชศรี

ทางด้าน คุณไพฑูรย์ วานิชศรี เจ้าของทุเรียนรายใหญ่และเป็นผู้ผลิตทุเรียนของ บริษัท ซีพี ส่งตลาดจีนและญี่ปุ่น กล่าวว่า การสร้างมาตรฐานทุเรียนส่งออกเป็นเรื่องสำคัญและเรื่องจำเป็นสำหรับเกษตรกรและผู้ส่งออก ด้วยเหตุผลหลักๆ 2 ประการ คือ ไทยมีตลาดคู่แข่งในแถบอาเซียน โดยตลาดผลไม้ไทยได้รับความเชื่อมั่นระดับกลางๆ เพราะปัญหาทุเรียนอ่อน ศัตรูพืช ต่างจากผลไม้ของยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย ทุกวันนี้ผลไม้ที่ส่งไปตลาดจีนของ บริษัท ซีพี มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ด้วย QR Code ตลาดจีนมีกำลังซื้อสูง ต้องการบริโภคของที่มีคุณภาพ ปัจจุบันไทยมีโอกาสทำตลาดทุเรียนไม่ใช่แค่จีนแต่ไปตลาดโลกได้ เพราะส่งออกได้ทั้งผลสด แช่แข็งและทุเรียนแกะเนื้อแช่เย็นที่ส่งออกไปยุโรป อเมริกา ดังนั้น การทำคุณภาพมาตรฐาน ความปลอดภัย จะทำให้เป็นที่ยอมรับเป็นส่วนสำคัญ

ปัญหาทุเรียนส่งออกของไทย บทสรุปคือ มาตรฐาน GAP & GMP เป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร ที่จะทำให้ตลาดทุเรียนไทยเติบโตได้อย่างยั่น…เป็นการตั้งรับในแนวทางที่ถูกต้อง…และหวังว่าเวทีประชุมคงไม่สูญเปล่า