สับปะรดภูเก็ต ของดีของเด่น มีมานาน ปลูกที่อื่นไม่อร่อย เท่าที่ภูเก็ต

สอบถามคนภูเก็ตเขาว่า สับปะรดภูเก็ตกับสับปะรดพันธุ์ภูเก็ตต่างกัน ต่างกันตรงไหน อธิบายความว่า สับปะรดภูเก็ตคือสับปะรดพันธุ์ภูเก็ตที่ต้องปลูกในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเท่านั้น ส่วนสับปะรดพันธุ์ภูเก็ตที่นำไปปลูกที่จังหวดอื่นๆในภาคใต้เช่น พังงา กระบี่ สุราษฎธานี ชุมพร ระนอง ฯลฯ ไม่เรียกว่าสับปะรดภูเก็ต แต่ก็เป็นสับปะรดพันธุ์ภูเก็ตเช่นกัน เพราะคนพื้นที่เขาว่ารสชาติมันแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ที่ปลูก และการเอาใจใส่ของเจ้าของสวน

ปลูกแค่อื่นม่ายหร่อย

เขาว่านะเขาว่าผมไม่ได้ว่า เคลียร์กันเอง “ ปลูกที่อื่นไม่อร่อย สับปะรดพันธุ์ภูเก็ตต้องปลูกที่ภูเก็ต เวลาสุกรสชาติจะหวานกรอบ แกนกลางเคี้ยวได้ แต่ถ้าปลูกที่พังงา จะหวานกรอบบ้าง หวานอมเปรี้ยวบ้างไม่อร่อยเท่าภูเก็ต แต่ก็ใกล้เคียงกับปลูกที่ภูเก็ตมากที่สุด ถ้าปลูกที่กระบี่ แม้ลูกสุกก็จะออกเปรี้ยวและไม่กรอบ ส่วนถ้าปลูกชุมพร ระนอง เวลาสุกจะหวานนิ่มๆและไม่กรอบ”

สับปะรดพันธุ์ภูเก็ต ปลูกที่ภูเก็ต เพื่อคนภูเก็ต ไม่ได้ประชดน่ะนี่ แต่อารมณ์พาไป ช่างน่าสงสัยจริงๆว่าทำไม แถมยังบอกว่า สับปะรดภูแล เป็นสับปะรดพันธุ์ภูเก็ตที่เอาไปปลูกที่นางแล เจออากาศหนาวลูกมันเล็ก เลยเรียกว่าภูแล โดยเอาคำว่าภูเก็ต กับนางแลมาเชื่อมคำกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงไม่ใช่อิงนิยาย สืบเนื่องจาก ผศ.เอนก ประทีป ณ ถลาง อาจารย์มหาวิทยาลัยราชฎัชเชียงราย เป็นผู้นำพันธุ์สับปะรดภูเก็ตไปปลูกที่ตำบลนางแล อ.เมือง จ.เชียงราย

ที่มาของคำว่า หย่านัด

ย่านัด หย่านัด เขียนกันได้หลายแบบ ทำไมถึงคนใต้เรียกสับปะรดว่า หย่านัด สันนิษฐานว่า เพราะสับปะรดเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งเรียกว่า Nanas แปลว่า ผลไม้อันยอดเยี่ยม ชาวโปรตุเกสได้นำมาเผยแพร่ไปทั่วโลกเรียกว่า Ananas  มาที่อินเดียเรียกเพี้ยนไปว่า อยายัด มาปลูกที่มาเลเซีย เรียกเหลือ นานัด ภาคใต้เลยเรียกเพี้ยนไปต่อว่า ยานัด สตอรีนี้เป็นการสันนิษฐานนะครับ ผมเกิดไม่ทัน เลยไม่กล้ายืนยันข้อมูล

จากที่เคยชิมสับปะรดภูเก็ตในอดีตหลายสิบปีแล้ว ตามท่ารถท่าเรือโดยสารของที่ภูเก็ต สับปะรดที่เขานำมาขายนอกจากปอกเปลือกและเอาตากออกแล้วจะไม่ตัดก้านทิ้ง แต่จะผ่าจากก้านแบ่งสับปะรดเป็นสี่ส่วน ขายชิ้นละสลึงหรือสองสลึง จำคลับคล้ายคลับคลา วางไว้บนถาด ในถาดมีถ้วยตะไลใส่เกลือกับพริกสดตำ และมีก้านสับปะรดเปล่าเอาไว้จิ้มเกลือเอามาทาสับปะรดทั้งสองข้าง เพราะสับปะรดภูเก็ตรสจัดมากและกัดลิ้น กินไปสักสองสามชิ้น แลบลิ้นหน้ากระจกจะเห็นว่าลิ้นมีสีขาวจากเดิมที่เป็นสีชมพู เพราะน้ำในเนื้อสับปะรดกัด ถ้าใส่เกลือเข้าไปหน่อยจะพอประทัง ไม่ยังงั้นจะแสบปากมากกว่านี้ การปลูกสับปะรดในสมัยนั้นปลูกแบบธรรมชาติไม่ได้มีการใส่ปุ๋ยเคมีและสารเร่งให้มีผล สับปะรดจึงมีขนาดเล็กนิดไม่เกิน 1 กก. รสชาดจึงเข้มข้นกว่าสมัยนี้

 

ที่มาของสับปะรดภูเก็ต

คุณชาลี สิตบุศย์หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์ และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต เล่าว่า “ พระยาจรูญ ราชโภคากร(คอซิมเต็ก ณ ระนอง) เจ้าเมืองหลังสวนในสมัยนั้น ได้นำสายพันธุ์สับปะรดจากเมืองปีนังเข้ามาปลูกในอำเภอหลังสวนและอำเภอสวี ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า ยานัด ต่อมาได้แพร่หลายไปสู่จังหวัดอื่นทั่วภาคใต้รวมถึงกระบี่ พังงาและภูเก็ต ซึ่งในสมัยนั้นชาวบ้านมักจะปลูกแซมในสวนมะพร้าวหรือสวนยางพารา เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตมีพื้นดินเป็นดินร่วนปนทราย โดยเฉพาะผิวหน้าดินที่เป็นทรายเสียส่วนใหญ่ และมีความเป็นกรดค่อนข้างสูง ส่งผลให้สับปะรดที่ปลูกในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตมีรสชาติดีกว่าสับปะรดที่ปลูกในจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งถ้าไปปลูกที่อื่นจะมีรสหวานอมเปรี้ยว ไม่กรอบ สีขาวซีด แม้แต่พื้นที่แต่ละแห่งในจังหวัดภูเก็ตเองก็มีผลทำให้รสชาติแตกต่างกัน” อันนี้เคลียร์ได้แล้วว่า รสชาดของสับปะรดขึ้นอยู่กับสถานที่ปลูกที่มีสภาพดินแตกต่างกันเป็นสำคัญอีกปัจจัยหนึ่ง

 

ลักษณะประจำพันธุ์

สับปะรดภูเก็ตเป็นสับปะรดในกลุ่ม Malacca Queen ซึ่งเป็นพันธุ์เดียวกับสับปะรดสวี และสับปะรดภูแลที่ปลูกทางภาคเหนือและสับปะรดตราดสีทองที่ปลูกทางภาคตะวันออก ใบจะมีลักษณะแคบยาวรี สีเขียวอ่อน มีแกนกลางใบสีแดง ขอบใบมีหนามสีแดง ลูกค่อนข้างเล็กเมื่อเทียบกับพันธุ์อื่น แต่เมื่อนำไปลูกในพื้นที่ที่มีสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศต่างกัน จึงทำให้ได้ผลผลิตมีขนาด รูปร่าง และรสชาดแตกต่างกัน ลักษณะประจำพันธุ์ของสับปะรดชนิดนี้ จะมีผลขนาดเล็กประมาณ 1-2 กก. เนื้อแน่นสีเหลืองฉ่ำ เนื้อกรอบ มีกลิ่นหอม เปลือกมีสีเหลืองส้ม รสชาดหวานจัด ถือว่าเป็นอัตตลักษณ์ของจังหวัดภูเก็ตและทางจังหวัดได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(GIP) ไว้เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552 ทำให้ได้รับการคุ้มครองและเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้ประกอบกิจการสับปะรดภูเก็ต  แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อกำหนดของส่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

 

การทำไร่สับปะรดในภูเก็ต

เกษตรกรในจังหวัดภูเก็ตมักจะปลูกสับปะรดแซมในสวนยางพารา ในช่วงที่ปลูกยางใหม่ๆจนกระทั่งยางพารามีอายุถึง 3 ปี เมื่อยางพาราเริ่มโตแตกกิ่งก้านสาขาทำให้มีร่มเงา ทำให้ไม่สามารถปลูกสับปะรดได้อีกต่อไป เนื่องจากสับปะรดเป็นพืชที่ต้องการแสงมาก ในช่วงดังกล่าวจะทำให้เจ้าของสวนยางพารามีรายได้ก่อนยางกรีดยางได้  หรือบางกรณีเจ้าของสวนยางพาราจะให้เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดมาเช่า เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยไม่คิดค่าเช่า แต่เกษตรกรผู้เช่าจะต้องเป็นผู้ปลูกยางพาราและดูแลรักษาสวนยางพาราให้เป็นเวลา 3 ปีเช่นกัน ในปัจจุบันจังหวัดภูเก็ตมีพื้นที่ปลูกสับปะรดภูเก็ตอยู่ประมาณ 2,500 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่น้อยมากเนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเป็นเกาะมีเพียง 3 อำเภอ พื้นที่ค่อนข้างจำกัด ไร่สับปะรดดังกล่าวอยู่ในอำเภอถลางแทบทั้งหมด ส่วนอำเภอกระทู้มีไร่สับปะรดจำนวนไม่มาก เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดมีประมาณ 50 ราย ผลผลิตทั้งหมดประมาณ 11,962 ตัน  ผลผลิตต่อไร่ประมาณ 3,300 ผล คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ  128 ล้าน ต่อปี

ปลูกแซมในสวนยาง

การปลูกสับปะรดภูเก็ตนั้น เกษตรกรสามารถปลูกได้ตลอดปี โดยปกติจะเริ่มเตรียมดินตั้งแต่ช่วงฤดูร้อน ประมาณเดือนมีนาคมหรือเมษายน และจะทยอยปลูกเป็นรุ่นๆ การปลูกด้วยระยะห่างระหว่างแถว 100 – 120 เซ็นติเมตร ระยะห่างระหว่างต้น 40-45 เซ็นติเมตร ใช้ต้นพันธุ์ 3,900 – 4,000 หน่อต่อไร่ โดยวางต้นพันธุ์เอียง 45 องศา  ฝังหน่อให้ลึก15-25 ซม. เมื่อสับปะรดมีอายุ 8-10 เดือน จะเริ่มบังคับดอกด้วยสารเนฟธาลีอะซิติก แอซิด 0.5 มิลลิกรัมต่อต้น โดยการหยอดยอดสับปะรด  และจะเก็บผลผลิตเมื่ออายุ12-14 เดือน  ในฤดูฝนสับปะรดจะสุกเร็วและเป็นเนื้อแก้ว(เนื้อฉ่ำ)มาก หน้าแล้งสับปะรดจะสุกช้า ให้สังเกตสับปะรดผลสุกมีร่องเหี่ยวที่ก้านผล และมีตานูนใสผิวเปลือกเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเล็กน้อย ถ้าไม่มีความรู้ในการเลือกผลสับปะรดสุกและผลแก้วให้ดีดแขนตัวเองแล้วดีดผลสับปะรด ถ้ามีเสียงดังเหมือนกันถือว่าสับปะรดสุกแน่นอนและเป็นเนื้อแก้ว

การตลาดของสับปะรด

การจำหน่ายสับปะรดภูเก็ตจะจำหน่ายเป็น 4 ขนาด เบอร์1ใหญ่สุดจะมีน้ำหนักที่  2.2-2.5 กก. เบอร์2  น้ำหนัก 1.6 -2.4 กก. เบอร์3 น้ำหนัก 1.3 -1.5 กก. และเบอร์4น้ำหนัก 0.7-1.2 กก. และมีราคาเฉลี่ยค่อนข้างสูงคือเบอร์1 ราคาเฉลี่ย 15 บาท เบอร์ 2 ราคาเฉลี่ย 13 บาท เบอร์ 3 ราคาเฉลี่ย 11 บาท และเบอร์ 4 ราคาเฉลี่ย 8 บาท เกษตรกรมีรายเฉลี่ย 30,000  – 40,000 บาทต่อไร่ ช่วงที่ผลผลิตดีและราคาดีที่สุดคือช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธุ์ซึ่งเป็นหน้าท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตพอดี พ่อค้าส่วนใหญ่จะมารับผลผลิตถึงในไร่และคัดเกรดดีนำไปจำหน่ายต่อให้กับโรงแรมและร้านอาหารเป็นหลัก ส่วนที่เหลือจึงจะจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป  ผลผลิตสับปะรดที่ปลูกในจังหวัดภูเก็ตมักจะไม่เพียงพอสำหรับการบริโภคในจังหวัด ยิ่งในฤดูท่องเที่ยวแล้วด้วย จึงมีสับปะรดจากจังหวัดใกล้เคียงซึ่งเป็นพันธุ์สับปะรดภูเก็ตเช่นกันนำมาเข้ามาเพื่อขายในภูเก็ต แต่เนื่องจากคุณภาพมีความแตกต่างกันในเรื่องรสชาด ความหวานกรอบ เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดชาวภูเก็ตจึงมีการรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อปกป้องความเป็นสับปะรดภูเก็ต เพื่อไม่ให้ของเลียนแบบที่คุณภาพไม่ถึงมาขายในชื่อสับปะรดภูเก็ต เช่น การติดสติกเกอร์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าเป็นสับปะรดภูเก็ต การทำถุงบรรจุที่มีรูปสับปะรดภูเก็ต และมีการกำหนดจุดจำหน่ายสับปะรดภูเก็ตอย่างเป็นทางการคือบริเวณร้านขายของฝากคุณแม่จู้ ในอำเภอถลางอีกด้วย

ขายริมทางก่อนขึ้นสะพานเทพกษัตริย์ตรี

นิยมนำมาเป็นของไหว้เจ้า

นอกจากการบริโภคสดเป็นผลไม้แล้วสับปะรดภูเก็ตนี้ ชาวภูเก็ตและจังหวัดใกล้เคียงนิยมนำมาเป็นผักที่ใช้กินกับขนมจีน บางครั้งก็นำไปเป็นของรับประทานเล่นกับเกลือเคย(คล้ายน้ำปลาหวานแต่มีกะปิเป็นส่วนประกอบหลัก นิยมนำมาจิ้มกับผลไม้รสจัด) นอกจากนี้ชาวบ้านนิยมนำไปประกอบอาหารหลายชนิด เช่น แกงส้มสับปะรด ต้มส้มสับปะรดกับหน่อข่า แกงเลียงสับปะรด ผัดสับปะรดเปรี้ยวหวานกับสะตอ

ชาวบ้านในภูเก็ตส่วนใหญ่มักจะเป็นชาวไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน นอกจากนิยมทำบุญกับพระสงฆ์ในวัดวาอารามแล้ว สิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจอีกอย่างหนึ่งคือ การไหว้เจ้าในพิธีกรรมตามเทศกาลต่างๆและการเซ่นไหว้บรรพบุรุษในเทศกาลตรุษจีน สารทจีน เช้งเม้ง ตามบรรพบุรุษอย่างเคร่งครัด ดังนั้นมักจะเห็นหิ้งไหว้บรรพบุรุษและหิ้งพระขนาดใหญ่ตามบ้านของคนไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยนนี้แทบทุกบ้าน ของที่มักนำมาไหว้เนื่องจากต้องมีความคงทนหลายวันแล้วยังต้องได้ง่ายในทุกฤดูกาลอีกด้วย เราจึงมักเห็นสับปะรดภูเก็ตวางในจานเป็นเครื่องเซ่นไหว้กันเสมอ นอกจากนี้ในศาลเจ้าต่างๆในจังหวัดภูเก็ตและพังงา นิยมนำสับปะรดมาเซ่นไหว้เช่นกัน  เนื่องจากในภาษาจีนฮกเกี้ยนเรียกสับปะรดว่า อ่องหลาย (อ่อง เป็นภาษาจีนฮกเกี้ยนตรงกับภาษาจีนกลางว่า ว่าง แปลว่า ความเจริญก้าวหน้า หลาย แปลว่า มา )เป็นความหมายสิริมงคลว่า ความเจริญก้าวหน้าเข้ามาในชีวิต  จึงถือว่าเป็นของไหว้ที่นิยมนำมาใช้ในพิธีกรรมต่างๆของชาวไทยเชื้อสายจีนฮกเกี้ยน