“กฤษฎา” สั่งตั้งศูนย์บริหารน้ำหน้าแล้ง พร้อมให้ทุกจังหวัดตั้งทีมงานประสานกรมชลฯ แก้ขาดน้ำ

เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ได้ส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ ด่วนที่สุด เรื่อง การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ประจำปี 2562 ถึงปลัด กษ. อธิบดีกรมชลประทาน, กรมส่งเสริมการเกษตร, กรมพัฒนาที่ดิน เกษตรและสหกรณ์จังหวัด เกษตรจังหวัด ชลประทานจังหวัด และสหกรณ์จังหวัดทุกจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดว่า  ในขณะนี้ ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูแล้งแล้ว ประกอบกับมีเกษตรกรหลายกลุ่มทั้งที่อาศัยอยู่ในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานได้เพาะปลูกทำการเกษตรกรรมเช่นเดิม

เพื่อเป็นการป้องกันแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค บริโภค ในฤดูแล้งนี้ จึงขอมอบหมายปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมชลประทาน จัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจัดการน้ำหน้าแล้งปี 2562 ประจำกระทรวงเกษตรฯ ขึ้น เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเจ้าภาพรับผิดชอบการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ปี 2562 ดังนี้

1.ขอให้แจ้งทุกจังหวัดแต่งตั้งคณะทำงานติดตามการขาดแคลนน้ำประจำพื้นที่ทั้งในพื้นที่ในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทานโดยให้ใช้โครงสร้างคณะอนุกรรมการ อพก. จังหวัด ที่มี ผวจ. หรือรอง ผวจ. เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ และมอบหมายให้ชลประทานจังหวัดเป็นเจ้าของเรื่องรับผิดชอบงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในระดับจังหวัด

2.ขอให้ชลประทานจังหวัดจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำหน้าแล้งปี 2562 ประจำพื้นที่ โดยให้นำเสนอต่อที่ประชุม อพก. เพื่อขอให้ ผวจ. หรือ รอง ผวจ. รับทราบสถานการณ์น้ำในฤดูแล้ง และมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ รับผิดชอบไปปฏิบัติตามแผนดังกล่าว

3.องค์ประกอบสำคัญของแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2562 ควรประกอบด้วย-ข้อมูลแหล่งน้ำทั้งแหล่งธรรมชาติและแหล่งน้ำที่ทำขึ้นพร้อมปริมาณน้ำในแต่ละแหล่งน้ำ-ข้อมูลจำนวนพื้นที่เพาะปลูกหรือทำการเกษตรและประมาณการใช้น้ำเพื่อการเกษตรตั้งแต่เดือน มี.ค.-พ.ค. 62

-ข้อมูลปริมาณการใช้น้ำเพื่ออุปโภค/บริโภคของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่-นำข้อมูลปริมาณน้ำที่อยู่ในปัจจุบันมาเปรียบเทียบกับความต้องการใช้น้ำในฤดูแล้ง 2562 เพื่อจะได้ทราบสถานการณ์น้ำว่าจะเพียงพอต่อการใช้เพื่อการเพาะปลูกและอุปโภคเพียงพอหรือไม่

4.ขอให้ประสานงานกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเพื่อยกร่างแผนงานมอบหมายให้ส่วนราชการต่างๆ ไปปฏิบัติงานตามแผนบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งในด้านต่างๆ คือ

-หน่วยประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่เพื่อขอความร่วมมือเกษตรกรและประชาชนร่วมกันประหยัดการใช้น้ำในฤดูแล้งนี้

-จัดทำบัญชีรวมเครื่องมือ/อุปกรณ์การสูบน้ำ หรือนำน้ำไปบริการประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ โดยอาจแบ่งพื้นที่พร้อมทั้งกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบประจำแต่ละพื้นที่ให้ชัดเจน ฯลฯ

5.ขอให้ทุกกรม รวมทั้งส่วนราชการเทียบเท่ากรมในสังกัด กษ. ที่มีสำนักงานและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่ในฐานะราชการส่วนภูมิภาคและหรือหน่วยงานส่วนกลางที่มีที่ตั้งอยู่ในจังหวัด/เขตต่างๆ ได้ร่วมกันสนับสนุน/ปฏิบัติงานตามแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งโดยพร้อมเพียงกัน โดยให้ ผต.กษ. ได้ไปตรวจราชการเพื่อสดับตรับฟังและติดตามการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งนี้โดยใกล้ชิด พร้อมรายงานสถานการณ์ให้ ผบช. ทราบทุกระยะด้วย