“ดร. สมศักดิ์ จังตระกูล” พ่อเมืองขอนแก่น กับวิสัยทัศน์การเกษตร ภาคเกษตรมั่นคง เกษตรกรมั่งคั่ง รากฐานการผลิตยั่งยืน

ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ขอนแก่น เป็นจังหวัดที่ถูกจับตามองถึงการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างเมืองอันเกิดจากแนวคิดตามนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยการพัฒนาให้เป็นเมืองอัจฉริยะหรือ Smart City ภายใต้กรอบแนวทางการพัฒนาจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาประชากร สิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ เทคโนโลยี เป็นต้น

ขณะเดียวกันการถาถมของโครงการก่อสร้างต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งจากรัฐบาลและจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นทางรถไฟ ทางรถยนต์ ทางอากาศ ที่กำลังดำเนินการอยู่และจะสำเร็จในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าก็เป็นแรงหนุนให้ภาคเอกชนของไทย ตลอดจนนักลงทุนต่างประเทศ แห่กันเข้ามาจับจองพื้นที่เพื่อสร้างฐานธุรกิจกันอย่างคับคั่ง สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างความเจริญเติบโตของเมืองชนิดก้าวกระโดด

จึงมีคำถามว่า ความเจริญในทุกด้านที่กำลังมาถึงในเร็ววัน แล้วภาคเกษตรกรรมที่นับเป็นรากฐานการสร้างเงิน และอาชีพสำคัญนั้นจะปรับตัวเองเพื่อให้ทันและเหมาะสมกับการพัฒนา เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในครั้งนี้อย่างไร??

นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ดร. สมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น หรือพ่อเมืองแห่งนี้ถึงแนวทางการกำหนดทิศทางการพัฒนาภาคเกษตรกรรมในจุดเปลี่ยนผ่านจากวิถีแบบดั้งเดิมไปสู่ความเป็นไทยแลนด์ 4.0

ก่อนอื่นต้องมาดูภาพรวมเศรษฐกิจทั้งจังหวัดก่อน โดยได้บอกกับเพื่อนข้าราชการทุกท่านที่ทำงานด้วยกันว่า ให้มองจังหวัดเป็นประเทศ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งของข้อมูลที่นำมาใช้จะได้จากงานวิจัยของทางคณาจารย์ นักวิชาการ ตลอดจนบุคคลหลากหลายอาชีพในด้านต่างๆ เพื่อนำมาประมวลร่วมกันจัดทำเป็นแผนพัฒนาจังหวัดหรือเพื่อเป็นแนวทางที่จะขับเคลื่อนไปพร้อมกัน

จากตัวเลขในปี 2559 ที่จัดทำขึ้นสมบูรณ์ครบทุกด้าน แล้วได้วางข้อมูลและแนวทางของจังหวัดต่อไปอีก 20 ปีข้างหน้า หรือในปี 2579

ปัจจุบัน ขอนแก่น มีประชากรอยู่จำนวนกว่า 1.8 ล้านคน ถ้าในอีก 20 ปีข้างหน้า คาดว่าจะมีประชากรกว่า 2.1 ล้านคน คือเพิ่มขึ้นจำนวน 3 แสนคน หรือปีละประมาณ 1.5 ล้านคน หรือเดือนละกว่าพันคน หรือเฉลี่ยวันละประมาณ 40 คน ทั้งนี้ประชากรทั้งหมดในตอนนี้และในอนาคตจะต้องเติบโตขึ้นเป็นบุคลากรสำคัญของจังหวัด

ในเรื่องของ GPP หรือมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด ใน ปี 2562 จะต้องแยกออกเป็น 3 ด้านหลัก ได้แก่ ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และภาคพาณิชยกรรมและบริการ ทั้งนี้ภาคเกษตรกรรมมี GPP อยู่ที่เฉลี่ย 11 เปอร์เซ็นต์ และเป็นตัวเลขที่คงที่มานาน ดังนั้น จึงต้องหาทางในทุกวิธีเพื่อขยับตัวเลขดังกล่าวให้เพิ่มสูงขึ้นให้ได้

อย่างไรก็ตาม จากสถิติข้อมูลประชากรของจังหวัดยังพบอีกว่า จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ขณะที่วัยกลางคนมีอัตราการเพิ่มขึ้นไม่มาก สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่าวัยแรงงานที่จะก้าวไปสู่ภาคเกษตรกรรมจะมีจำนวนน้อยมาก จึงเป็นข้อมูลเพื่อนำมาวางแผนขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรมของจังหวัดไม่ให้ติดขัดหรือเชื่องช้า

ขณะเดียวกันมีโครงการใหญ่ๆ ที่ทางรัฐบาลได้วางไว้ให้กับทางจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นรถไฟรางคู่ ท่าเรือบกที่จะสร้างขึ้นที่น้ำพอง โครงการรถไฟรางเบา โครงการมอเตอร์เวย์ การขยายสนามบินเพื่อให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีความสำคัญที่จะนำพาความเจริญเข้ามาสู่จังหวัด สร้างเม็ดเงินจำนวนมากนำมาสู่ GPP ที่เพิ่มขึ้น

ระหว่างที่มีการเร่งพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมและบริการ จะต้องเร่งผลักดันภาคเกษตรกรรมให้เติบโตจาก 11 เปอร์เซ็นต์ ด้วยการปรับกลยุทธ์จากแนวทางการทำเกษตรกรรมแบบเดิมมาสู่การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาแทนที่แรงงาน เน้นการใช้เครื่องมืออุปกรณ์การสื่อสารทันสมัยมากขึ้น

จากอดีตจนถึงปัจจุบันภาคเกษตรกรรมในจังหวัดขอนแก่นมีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์อันมาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นในหลายด้าน คนขอนแก่นมีพื้นที่ปลูกข้าวจำนวนทั้งสิ้นกว่า 2.4 ล้านไร่ ปลูกข้าวเหนียวเพื่อการบริโภคจำนวนกว่า 1.6 ล้านไร่ ส่วนที่เหลือปลูกข้าวเจ้า

แต่จากแนวคิดต่อไปเพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพธรรมชาติที่เปลี่ยนไป ชาวบ้านอาจต้องปลูกพืชชนิดอื่นร่วมกับการปลูกข้าวด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้มีรายได้เพียงทางเดียว และลดความเสี่ยงจากปัญหาผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศและตลาดโลก จนทำให้ลูกหลานต้องอพยพไปหางานต่างถิ่นทำกัน ขาดแคลนแรงงานในจังหวัด ครอบครัวขาดความอบอุ่น

สำหรับภาคการประมงและปศุสัตว์นั้น ถ้ามองในเรื่องโคจะแบ่งส่งเสริมการเลี้ยงออกเป็น 2 ส่วน ตามที่นักวิชาการแนะนำ ได้แก่ การผลิตพันธุ์เพื่อนำไปขายให้กับกลุ่มอื่นเพื่อเลี้ยงต่อ แล้วใช้ประโยชน์ต่างๆ กับการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์วัวในแบบต่างๆ ที่ตลาดต้องการ ส่วนการเลี้ยงปลาหรือสัตว์น้ำไม่ควรส่งเสริมเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้หาตลาดรองรับไว้ หรือควรเลี้ยงให้มีคุณภาพได้มาตรฐานเพื่อสร้างความมั่นคงทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ขอนแก่น มีพืชเศรษฐกิจเด่นที่เป็นจุดแข็งของภาคเกษตรกรรมสำคัญ ได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และถั่วเหลือง มีสัตว์เศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ไก่เนื้อ ไก่ไข่ โคเนื้อ สุกร และโคนม ส่วนด้านการประมง ได้แก่ ปลานิล และปลาดุก

จากปัจจัยทางเกษตรกรรมหลากหลายด้าน รวมทั้งจุดแข็งต่างๆ จึงทำให้ภาคเกษตรกรรมของจังหวัดขอนแก่นมีความเข้มแข็ง มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดทุกระดับ ดังนั้น เพื่อเป็นการตอกย้ำฐานรากที่มั่นคงให้ต่อยอดไปอย่างยั่งยืน ทางจังหวัดจึงกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการพัฒนาเกษตรของจังหวัดขอนแก่น ใน 3 ด้านคือ “ภาคเกษตรมั่นคง เกษตรกรมั่งคั่ง รากฐานการผลิตยั่งยืน”

ต้นแบบการตลาดนำการเกษตรหรือโนนเขวาโมเดล ถูกกำหนดให้เป็นหมู่บ้านเป้าหมายเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรในลักษณะบูรณาการที่สมบูรณ์ ภายใต้หลักคือ “การตลาดนำการผลิต” มีการพัฒนาต่อยอดจากแปลงผักขนาดใหญ่ ที่มี GAP ให้เข้าสู่มาตรฐานโรงคัดแยก โดยได้รับความสนใจจากนักลงทุนเอกชนเข้ามารับซื้อผลผลิต

“หรืออย่างที่ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในตลาดพืชผักในลักษณะการรับซื้อสินค้าเกษตรที่ผลิตอย่างมีคุณภาพและรับซื้อต่อเนื่อง อย่างที่เห็นเป็นภาพชัดเจนในตอนนี้คือ ที่อำเภอโนนเขวา ซึ่งกำหนดเป็นโนนเขวาโมเดล ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตรกรรมประเภทใดก็ตาม สิ่งที่ฝากไว้คือ ต้องระมัดระวังในเรื่องปริมาณการผลิตและความต้องการของตลาดควรมีความสมดุลเหมาะสมกัน อย่าให้อย่างหนึ่งอย่างใดมีมาก เพราะจะไม่ส่งผลดีต่อภาคเกษตรกรรมเลย”

อย่างไรก็ตาม โนนเขวาโมเดล ได้ร่วมกับทางเทสโก้ โลตัส รับซื้อผักคุณภาพที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจำนวนมากอย่างต่อเนื่องในราคาที่เป็นธรรม ช่วยทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจในการผลิต แล้วยังมีความมั่นคงทางรายได้

ทั้งยังมีการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตร ส่งเสริมให้ใช้พื้นที่ทำเกษตรกรรมให้ถูกต้องเหมาะสมของพืชแต่ละชนิด ตลอดจนการส่งเสริมกิจกรรมเกษตรแปลงใหญ่ พร้อมกันนี้ยังมีภารกิจแบบคู่ขนานด้วยการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้เป็น Smart Farmer ทั้งความรู้และทักษะ ตลอดจนการรับมือกับเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ในทุกรูปแบบ

สำหรับการสร้างความยั่งยืนทางภาคเกษตรกรรมด้วยการพัฒนาและรักษาทรัพยากรที่เป็นฐานการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพและบริหารจัดการดิน น้ำ และสิ่งแวดล้อม ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า แล้วยังเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อนำไปสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์และอาหารปลอดภัย

ทั้งนี้การทำเกษตรกรรมทุกประเภท ควรมุ่งหวังให้เกษตรกรทุกรายมีรายได้สม่ำเสมอและต่อเนื่อง ควรมีรายได้ทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน และทั้งปี ไม่ควรรอขายผลผลิตทางการเกษตรเพียงปีละ 1-2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม การผลิตสินค้าทางการเกษตรควรตระหนักถึงคุณภาพและมาตรฐานตามหลักปฏิบัติ ตลอดจนกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่กำหนดไว้ทั้งของไทยและต่างประเทศ เพราะถ้าพูดกันถึง Smart Living ที่ต้องเน้นคุณภาพ เพราะถ้าสินค้าที่ผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐานจะช่วยทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด นำมาสู่การขายที่มากขึ้น มีรายได้สูงขึ้น

ท่านผู้ว่าฯ ไม่ปฏิเสธว่าในภาคเกษตรกรรมจะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ผลิตหรือปลูกอย่างเดียว แต่ควรมีบทบาทในเรื่องการวางแผนแล้วขายเองด้วย ทั้งนี้คงเป็นหน้าที่ของทางภาครัฐที่จะเข้าไปช่วยส่งเสริมให้ความรู้ในสิ่งเหล่านี้เพื่อยกระดับขึ้นอีก และควรเป็นหน้าที่ของคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาสานต่อ

ขอนแก่น เป็นจังหวัดที่มีจุดแข็งอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ เรื่องผ้าไหม และฟอสซิลไดโนเสาร์ โดยมองว่าจะทำอย่างไรให้ทั้งสองอย่างนี้เด่นขึ้นมาจนสร้างรายได้เข้ามาในจังหวัด ที่ผ่านมายังไม่เคยมีลายผ้าไหมประจำจังหวัด แต่ที่ผลิตขายมีลายผ้าจำนวนมากมาย แต่ยังไม่เคยมีลายที่เป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดที่ชัดเจน จึงได้มีการดำเนินการคัดเลือกจนได้ลายผ้าไหมของจังหวัดขอนแก่นในชื่อ “ลายแคนแก่นคูณ” กระทั่งได้รับความสนใจกันอย่างคับคั่ง ทำให้ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของจังหวัดขอนแก่นสามารถขายได้เงินจำนวนมากกว่าที่ผ่านมา

นอกจากนั้นแล้ว ยังเสนอตัวไปยังสภาหัตถกรรมโลก ของ UNESCO เพื่อขอให้พิจารณาจังหวัดของแก่นเป็นเมืองหัตถกรรมผ้ามัดหมี่ แล้วปรากฏว่าได้ผ่านการคัดเลือกแล้วได้การรับรองให้ขอนแก่นเป็นเมืองหัตถกรรมผ้ามัดหมี่ ทำให้จังหวัดขอนแก่นกลายเป็นเมืองที่ได้รับความสนใจจากต่างประเทศทั่วโลกทันที ขณะเดียวกันยังมีแผนพัฒนาให้ฟอสซิลไดโนเสาร์เป็น GEO PARK หรืออุทยานทางธรณีวิทยา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ศึกษาหาข้อมูลในระดับนานาชาติ ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปตามขั้นตอน

“สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมา จะต้องทำงานอย่างเร่งด่วนและมีคุณภาพไปพร้อมทุกอย่างควบคู่กัน โดยหวังว่าในอนาคต ขอนแก่นจะไม่เป็น Smart City เพียงอย่างเดียว แต่ต้องยกระดับให้เป็น Global City เพราะหวังว่าเมื่อนักท่องเที่ยวคิดถึงเมืองไทย จะต้องนึกถึงขอนแก่นเป็นอีกแห่งของเมืองแห่งความน่าประทับใจด้วย” ท่านผู้ว่าฯ กล่าว