ระวัง! ‘เพลี้ยจักจั่นมะม่วง’ ระบาดในช่วงหน้าแล้ง

นายนเรศ ฝีปากเพราะ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในช่วงหน้าแล้งนี้เป็นช่วงที่มะม่วงในฤดูกำลังออกดอก ติดผล ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ไว้ว่าสภาพอากาศในฤดูร้อนปีนี้ คาดว่าจะร้อนกว่าปี 2561 อุณหภูมิเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอีก 1-2 องศาเซลเซียส โดยทั่วไปฤดูร้อนจะมีลักษณะสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง ซึ่งเป็นสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการแพร่ระบาดของเพลี้ยจักจั่น

โดยเพลี้ยจักจั่นที่พบการระบาดจะมีด้วยกันอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ตัวที่มีลำตัวสีเทาปนดำ และตัวที่มีลำตัวสีน้ำตาลปนเทา ลักษณะส่วนหัวโตและป้าน ลำตัวเรียวแหลมมาทางด้านหาง ทำให้เห็นส่วนท้องเรียวเล็ก มองดูด้านบนเหมือนรูปลิ่ม ขนาดความยาวลำตัว 5.5-6.5 mm. เพศเมียจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ รูปร่างยาวรีสีเหลืองอ่อน จะวางไข่ตามแกนกลางใบอ่อนหรือก้านช่อดอก ปรากฏเป็นแผลเล็กๆ คล้ายมีดกรีด

หลังจากวางไข่แล้วประมาณ 1-2 วัน ระยะฟักไข่ 7-10 วัน เมื่อออกเป็นตัวอ่อนจะดูดกินน้ำเลี้ยงจากช่อดอกและใบตัวอ่อนเจริญเติบโตโดยการลอกคราบ 4 ครั้ง กินเวลา 17-19 วัน จึงเป็นตัวเต็มวัย การเคลื่อนไหวว่องไวตัวอ่อนมักพบอยู่เป็นกลุ่มตามช่อดอกและใบ โดยเฉพาะบริเวณโคนของก้านช่อดอกและก้านใบ เนื่องจากบริเวณโคนจะมีเยื่อบางๆ สีน้ำตาลหุ้มไว้ เมื่อแดดร้อนจัดจะหลบซ่อนอยู่ตามหลังใบ

ระยะที่ทำความเสียหายมากที่สุดคือ ระยะที่มะม่วงกำลังออกดอก โดยจะดูดน้ำเลี้ยงจากช่อดอก ทำให้ดอกแห้งและร่วงหล่น ติดผลน้อยหรือไม่ติดเลย ระหว่างที่เพลี้ยจักจั่นดูดกินน้ำเลี้ยง จะถ่ายมูลมีลักษณะเป็นน้ำเหนียวๆ คล้ายน้ำหวานติดตามใบ ช่อดอก ผล และรอบๆ ทรงพุ่ม ทำให้ใบมะม่วงเปียกเยิ้ม หลังจากนั้นตามใบ ช่อดอก จะถูกปกคลุมโดยเชื้อราดำ ถ้าปกคลุมมากก็จะกระทบกระเทือนต่อการสังเคราะห์แสง ใบที่ถูกดูดน้ำเลี้ยงในระยะเพสลาด (ใบกึ่งอ่อนกึ่งแก่) ใบจะบิดงอโค้งลงด้านใต้ใบ ตามขอบใบจะมีอาการปลายใบแห้ง

ดังนั้น จึงขอแจ้งเตือนเกษตรกรที่ปลูกมะม่วง หมั่นสำรวจต้นมะม่วงของตนเอง หากพบแมลงขนาดเล็กคล้ายจักจั่น กระโดดไป-มา เวลาเดินเข้าใกล้ต้นมะม่วง หรือพบน้ำเหนียวๆ คล้ายน้ำหวานติดตามใบ ช่อดอก ผล และมีราดำขึ้นปกคลุม ให้ป้องกันกำจัด ดังนี้

– ฉีดพ่นเชื้อราบิวเวอเรีย (เชื้อสด) อัตรา 250 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ช่วงที่มะม่วงแทงช่อดอกจนถึงก่อนดอกบาน สัปดาห์ 1 ครั้ง และควรหลีกเลี้ยงการฉีดพ่นเชื้อราบิวเวอเรียช่วงที่ดอกมะม่วงบานเพราะอาจเป็นอันตรายต่อแมลงผสมเกสร การฉีดพ่นเชื้อราบิวเวอเรียนั้น ควรฉีดพ่นให้ทั่วทั้งต้นเพื่อป้องกันแมลงที่หลบซ่อนอยู่ในส่วนอื่นของต้น และควรฉีดพ่นในช่วงที่แดดไม่ร้อน แนะนำให้ฉีดพ่นในตอนเย็น

– ในระยะที่ดอกมะม่วงกำลังบาน การฉีดพ่นน้ำเปล่าในตอนเช้าจะช่วยให้การติดมะม่วงดีขึ้น แต่ควรปรับหัวฉีดอย่าให้กระแทกดอกมะม่วงแรงเกินไป และเป็นการชะล้างราดำที่เกาะติดอยู่บนใบมะม่วงอีกด้วย

– หากระบาดอย่างรุนแรงจนไม่สามารถควบคุมด้วยเชื้อราบิวเวอเรีย แนะนำให้ใช้สารเคมีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันกำจัดแมลงปากดูดจำพวกเพลี้ย เช่น อิมิดาคลอพริด (โปรวาโด), ไดโนที่ฟูแรน (สตาร์เกิ้ล), ฟีโนบูคาร์บ เป็นต้น อัตราตามคำแนะนำบนฉลาก