ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
น.ส.วันเพ็ญ นิโครวนจำรัส รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า ปี 2562 กรมฯ มีแผนที่จะยื่นคำขอจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ในต่างประเทศจำนวน 5 สินค้า ที่ประเทศจีน 2 สินค้า ได้แก่ มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี และทุเรียนปราจีน และที่มาเลเซีย 3 สินค้า ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง และส้มโอทับทิมสยามปากพนัง เพราะเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในตลาดจีนและมาเลเซีย จากการที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย และได้ทดลองบริโภคสินค้าเหล่านี้ ทำให้รู้จักสินค้ามากขึ้น จึงต้องไปจดทะเบียนคุ้มครองไว้ก่อน เพื่อช่วยส่งเสริมสินค้าจีไอที่จะไปจำหน่ายในอนาคตและป้องกันปัญหาการละเมิดที่อาจจะเกิดขึ้น
“อย่างมะพร้าวน้ำหอมราชบุรี ดังถึงขนาด มีล้งชาวจีนมารับซื้อถึงแหล่งผลิต และมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนสินค้าข้าว ที่นำไปจดในมาเลเซีย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะตลาดมีความต้องการเพิ่มขึ้น จึงต้องหาทางจดเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าข้าวที่เป็น GI ของไทย และยังเป็นไปตามนโยบายของน.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการให้กรมฯ จด GI สินค้าข้าวในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวคุณภาพดีที่เป็น GI ของไทย” น.ส. วันเพ็ญ กล่าว
น.ส. วันเพ็ญ กล่าวว่า ปัจจุบัน กรมฯ ได้ดำเนินการยื่นจดทะเบียน GI ในตลาดต่างประเทศได้แล้ว 7 สินค้า ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ที่สหภาพยุโรป (อียู) ผ้าไหมยกดอกลำพูน ที่อินเดีย และอินโดนีเซีย เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน ที่เวียดนาม ซึ่งสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเหล่านี้ ปัจจุบันสามารถเข้าสู่ตลาดข้างต้นได้ดีขึ้น ผู้บริโภคให้การยอมรับว่าเป็นสินค้าที่ดีมีคุณภาพ ช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตมากขึ้น
น.ส. วันเพ็ญ กล่าวว่า ยังมีสินค้าจีไอ ที่รอการพิจารณาขึ้นทะเบียนในต่างประเทศอีก 9 สินค้า ได้แก่ ญี่ปุ่น 3 สินค้า คือ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง สับปะรดห้วยมุ่น จีน 3 สินค้า คือ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ มะขามหวานเพชรบูรณ์ และส้มโอทับทิมสยามปากพนัง เวียดนาม 2 สินค้า คือ มะขามหวานเพชรบูรณ์ และลำไยอบแห้งเนื้อสีทอง และกัมพูชา 1 สินค้า คือ กาแฟดอยตุง คาดว่าจะได้รับการจดทะเบียนในเร็วๆ นี้