“ปลูกน้อย แต่ได้มาก” คาถาพารวย ของเกษตรกรผู้ปลูกพริก

ที่ผ่านมาหลายคนคงเข้าใจว่า การปลูกพืชชนิดใดก็ตาม หากปลูกในปริมาณมาก ผลตอบแทนหรือกำไรก็จะงามตามไปด้วย ในเรื่องนี้ อาจารย์วีระ ภาคอุทัย ภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ปฏิเสธ ไม่ใช่ทุกพืช โดยเฉพาะพริก เพราะการปลูกจะต้องใช้ความประณีต เอาใจใส่ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเพาะเมล็ด จนถึงการเก็บเกี่ยว เนื่องจากว่า พริกเป็นพืชที่มีโรครุมเร้าได้ง่าย และเปราะบาง กับสภาพอากาศ กล่าวคือฝนตกมากก็เป็นโรครากเน่า หนาวมาก ก็เป็นโรคเชื่อรา เพลี้ยไฟ ซึ่งอาจทำให้ต้น ดอก และผลของพริกเกิดความเสียหาย ดังนั้น การปลูกพริกให้ได้เงินจะต้องใช้เทคนิค และองค์ความรู้จากการวิจัยที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว

สำหรับเทคนิค และองค์ความรู้จากการวิจัย อาจารย์วีระ อธิบายว่า เป็นการถอดแบบความรู้จากโครงการวิจัย เรื่อง “การขยายและการพัฒนาเครือข่ายการจัดการห่วงโซ่อุปทานพริกสดปลอดภัยอำเภอเกษตรสมบูรณ์ และอำเภอเกษตรสมบูรณ์และอำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ” โดยการสนับสนุนของ ฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นำมาต่อยอด เป็นชุดโครงการ “การพัฒนาระบบการตัดสินใจการผลิตสินค้าเกษตรและการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานพริก จังหวัดแพร่” เพื่อ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สร้างความสุข (สุขภาพ)” ให้เกษตรกรผู้ปลูกพริก

แม้พริกที่เกษตรกรของจังหวัดชัยภูมิ และแพร่ ปลูกเป็นพริกต่างชนิด คือ ชัยภูมิเป็นพริกขี้หนูใหญ่ผลใหญ่ ส่วนที่แพร่เป็นพริกชี้ฟ้าหรือพริกโรงงาน แต่ก็สามารถใช้เทคโนโลยี หรือ องค์ความรู้ มาประยุคใช้ด้วยกันได้ เพราะปัญหาที่เกษตรกรผู้ปลูกพริกประสบ เหมือนกัน คือ เรื่องโรค ราคาที่ตกต่ำ ด้วยเหตุนี้ อาจารย์วีระ และทีมวิจัย จึงใช้โมเดลวิจัยการปลูกพริกของจังหวัดชัยภูมิ มาใช้ที่แพร่ ศึกษาระบบการปลูกพริก ระบบการผลิตและการตลาด เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานประกอบการตัดสินใจของเกษตรกร รวมทั้งวิเคราะห์เสนอทางเลือกที่ดี และเหมาะสบกับเกษตรกรผู้ปลูกพริก ในฐานะพืชเศรษฐกิจของจังหวัด

“หลักจากได้ข้อสรุป จากการหารือร่วมกับจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเกษตรอำเภอ เกษตรจังหวัด และ ผู้บริหารฝ่ายเกษตร สกว. ทีมวิจัย ได้ดำเนินการจัดอบรมให้กับเกษตรกรผู้ปลูกพริก ช่วงปี 2553 ถึงวิธีการบริหารจัดการแปลง ว่าที่ทำอยู่ทำอย่างไร มีปัญหาและโรคอะไรรุมเร้า พร้อมกับทำความเข้าใจกับเกษตรกร ถึงที่ไปที่มาของโครงการ กระทั้งรู้ภาพรวมของปัญหาการปลูกพริกในจังหวัดแพร่ เช่น การทำตลาดที่มุ้งส่งโรงงานผลิตซอสพริก ต้นทุนการผลิตสูง การใช้สารเคมี ราคาพริกตกต่ำ โรคและแมลง”อาจารย์วีระเล่าย้อนการดำเนินการวิจัย ก่อนอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงของเกษตรกรว่า

“จากวันนั้น ถึงวันนี้ ทีมวิจัยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการปลูกพริกปลอดภัยภายใต้ระบบเกษตรที่เหมาะสม (Good Agricultural Practice หรือ GAP) ให้กับเกษตร และปรับวิธีการใหม่ ยกตัวอย่างการดูแลต้นพริกให้เหมาะสม ไม่เน้นที่ปริมาณ ซึ่งเดิมพื้นที่ 1 ไร่ เกษตรกรปลูกพริกถึงหมื่นต้น ถือว่ามากเกินไป ขณะเดียวกันจะต้องมีการตกแต่งกิ่งให้ต้นมีความแข็งแรง ควบคู่กับเทคนิคอื่นๆ เช่น การทำน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมักแห้ง การใช้สารเคมีที่ถูกต้อง การสังเกตอาการของโรคพร้อมกับจดบันทึก ตลอดจนการวางแผนการผลิตและการจัดการด้านการตลาด ทั้งหมดที่กล่าวมาช่วยยกระดับผลผลิตทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค และความปลอดภัยให้กับเกษตรกร”

ด้าน นางยุภาภรณ์ หลาดไหล เกษตรกรผู้ปลูกพริกตำบลหนองม่วงไข่ จังหวัดแพร่ เล่าว่า ช่วงที่อาจารย์วีระ และทีมวิจัยเข้ามา ได้สอบถามว่า “ที่ทำอยู่ ทำอย่างไร” (ยุภาภรณ์ หมายถึง วิธีการปลูกพริก) ก่อนจะแนะนำวิธีการที่ถูกต้อง ทั้งเรื่องเทคนิค และวิธีการรวมถึงการวางแผนระบบการปลูกใหม่ (ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น) “เมื่อก่อนก็ปลูกกันเอง ปลูกแบบตัวใครตัวมันไม่มีหลักวิชาการอะไรมารองรับ อย่างพริกหนึ่งถุงที่ปลูกได้ประมาณหมื่นต้นของพื้นที่ 1 ไร่ ก็ปลูกหมด ส่วนปัญหาโรคพืชต่างๆ ก็ฉีดพ่นสารเคมี ช่วงแรกก็ได้ผลดี แต่พอหลังๆ เริ่มไม่ได้ เหมือนมันจะดื้อยา ก็ต้องใส่เพิ่มขึ้น เมื่อเล่าสิ่งที่ทำ และ ปัญหาให้ทีมวิจัยรับทราบ ก็มีคำแนะนำให้ปรับวิธีการ”

นางยุภาภรณ์ เล่าต่อว่า ภายหลังที่เล่าสิ่งที่ทำกันอยู่ให้อาจารย์วีระฟัง อาจารย์ก็แนะนำให้ปรับวิธีการ  ซึ่งเป็นวิธีที่เราไม่เคยคิดมาก่อน ยกตัวอย่างเรื่องของการลูกพริก ที่เดิมปลูกเพื่อส่งโรงงานผลิตซอสพริก ไม่แบ่งส่งขายตลาดทั่วไป อาจารย์ก็แนะนำให้แบ่งมาส่งตลาดสดทั่วไปเพื่อลดความเสี่ยงของการปลูก พร้อมกับให้ปรับวันในการปลูกใหม่ เดิมที่ปลูก “ตามใจฉัน” ช่วงหลังนา หรือ กิจกรรมอื่นๆ ก็มาวางแผนร่วมกันถึงช่วงฤดูการปลูกที่สัมพันธ์กับสภาพพื้นที่ และ ความต้องการของตลาด เช่น การปลูกพริกชี้ฟ้าให้ทันออกตลาดช่วงปลายเดือนตุลาคม ไป จนถึงเดือน พฤษจิกายน เพราะเป็นช่วงที่พริกชี้ฟ้ามีราคาสูง หรือก่อนช่วงเดือนธันวาคม ไปจนถึงมกราคม เป็นช่วงที่พริกจังหวัดสุโขทัย และ จังหวัดใกล้เคียงออกสู่ตลาด ทำให้ราคาพริกตกต่ำ

ในส่วนของเรื่องเทคนิค นางยุภาภรณ์ เล่าว่า อาจารย์วีระ และ ทีมวิจัย ได้ถ่ายทอดวิธีการตัดแต่งกิ่งต้นพริก ให้มีความแข็งแรง ยืดอายุ เพิ่มเวลาเก็บผลผลิตให้กับพริก รวมถึงการใช้ปุ๋ยชีวภาพ และไตโค    เดอร์มา หรือ ราเขียว โดยทั้งสองเทคนิคที่ได้รับการถ่ายทอด ช่วยให้ผลผลิตพริกเพิ่มขึ้น 30-40 เปอร์เซ็นต์ อย่างในปี’61 ตนสามารถเก็บพริกได้ถึง 8-9 รอบ นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังแนะนำให้ปรับลดพื้นที่ในการปลูก เนื่องจากการปลูกพริกให้ได้ผลดี จะต้องปลูกอย่างปราณีต คือ ทุกกระบวนการจะต้องดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี ซึ่งถ้าลดจำนวนพื้นที่เกษตรกรก็จะดูแลแปลงพริกได้อย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันยังเป็นการลดรายจ่ายอีกทางหนึ่งด้วย สิ่งที่ “ยุภาภรณ์” เล่า ตรงกับบันทึก ระบุ ถึงช่วงของการเก็บผลผลิตพริกช่วงวันที่ 30 ตุลาคม 61-2 ธันวาคม 2561 รวมน้ำหนัก 1,903 กิโลกรับ ของพื้นที่ 2 งาน สร้างรายได้ให้กับครอบครัวถึง 29,125 บาท

อย่างไรก็ดี สิ่งที่อาจารย์แนะนำเป็นเรื่องที่เกษตรกรไม่มีความรู้มาก่อน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องยากของการเปลี่ยนความคิด ในส่วนนี้เกษตรกรคนเดิมบอกว่า เป็นเพราะความจน และหนี้สินจากการปลูกพริกที่ขาดทุนสะสมและราคาที่ไม่แน่นอน ทำให้เกษตรกรมีความต้องการองค์ความรู้ วิธีการใหม่ๆ เพื่อมาแก้ไขกับเรื่องดังกล่าว ประกอบกับความรู้ที่อาจารย์นำมาบอกต่อ ตรงกับความต้องการของเกษตรกร ที่สำคัญ ภายหลักจากที่ทำตามคำแนะนำไม่นาน การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น ดั่งที่อาจารย์พูดว่า “ปลูกน้อย แต่ได้มาก” ซึ่งถือเป็นคาถาพารวยของเกษตรกร