สวทช. จับมือภาคี รวม 12 หน่วยงาน ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไม้เศรษฐกิจครบวงจร

บรรยากาศภายในงาน แจกต้นกล้าไม้พันธุ์ดี

ในงานประชุมวิชาการ สวทช. ประจำปี 2562 (NAC2019) ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสมาคมที่เกี่ยวข้องกับไม้เศรษฐกิจ รวม 12 หน่วยงาน เปิดตัว “กลุ่มพัฒนาอุตสาหกรรมไม้เศรษฐกิจครบวงจร” ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมไม้เศรษฐกิจครบวงจร ให้เป็นเครื่องมือตัวใหม่ในการพัฒนาประเทศที่จะสร้างรายได้ปีละ 2-4 ล้านล้านบาท

ภาคี 12 องค์กรลงนามและเปิดตัวกลุ่มพัฒนาอุตสาหกรรมไม้เศรษฐกิจครบวงจร

ดร. ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ทำให้โลกหันมาให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ และนำไม้จากแหล่งที่จัดการอย่างยั่งยืนมาใช้ประโยชน์ ความต้องการไม้ในตลาดโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มเช่นนี้ไปอีกนาน การเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น ชีวมวลยิ่งเร่งอัตราความต้องการใช้ไม้ของโลกให้เร็วและมากขึ้น ในขณะที่ประเทศไทยปลูกต้นไม้ได้โตกว่าเขตอบอุ่น 5-7 เท่า และภาคเกษตรของไทยกำลังประสบปัญหาหลายด้าน การปรับเปลี่ยนไปปลูกไม้เศรษฐกิจเป็นทางเลือกที่มีความเหมาะสมที่สุดที่จะช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งเทคโนโลยีการใช้ประโยชน์ไม้ได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วจนคาดไม่ถึง ไม้สามารถสร้างเป็นอาคารสูงหลายสิบชั้น ผลิตเป็นเสื้อผ้า พลาสติก น้ำมัน ชิ้นส่วนเครื่องจักรกลและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สารเคมีต่างๆ แม้กระทั่งใช้ในทางการแพทย์และการเสริมความงาม ทำให้ในช่วงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อุตสาหกรรมไม้เศรษฐกิจครบวงจรมีศักยภาพที่จะสร้างรายได้ให้ประเทศประมาณปีละ 2-4 ล้านล้านบาท โดยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีต้องใช้เวลาในการดำเนินงานตามขั้นตอน กว่าจะถึงระดับลงมือปฏิบัติงานจริงใช้เวลา 1-2 ปี หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการสร้างคุณค่าให้กับไม้เศรษฐกิจรวม 12 แห่ง จึงได้ร่วมมือทำความตกลงว่าจะช่วยกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไม้เศรษฐกิจครบวงจรให้บรรลุเป้าหมายปีละ 2-4 ล้านล้านบาท ให้ไปในทิศทางที่เห็นชอบร่วมกัน จากนั้นแต่ละหน่วยงานจะนำไปดำเนินการในกรอบของตนเองต่อไป

นิทรรศการให้ความรู้การปลูกป่าไม้เศรษฐกิจ

“เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลให้ความสนใจกับการพัฒนาไม้เศรษฐกิจที่ต่อยอดไปข้างหน้า อุตสาหกรรม  ไม้เป็นอุตสาหกรรมที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาโดยตลอด การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสมาคมที่เกี่ยวข้องกับไม้เศรษฐกิจ จำนวน 12 แห่ง ได้แก่ 1) คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 2) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราช มงคลตะวันออก 3) มหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ 4) องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ 5) กรมป่าไม้ 6) วิสาหกิจชุมชน ชมรมไม้กฤษณา (ไม้หอม) แห่งประเทศไทย 7) สมาคมศิษย์เก่าวนศาสตร์ 8) สมาคมธุรกิจไม้โตเร็ว 9) สมาคมธุรกิจไม้ 10) สมาคมการค้าชีวมวลไทย 11) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และ 12) สวทช. ทุกหน่วยงานจะได้ใช้ศาสตร์ที่ตัวเองมีมาทำงานร่วมกัน พัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับไม้เศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงสร้างมาตรฐาน การทดสอบ และการสอบย้อนกลับว่า ไม้เหล่านั้นมาจากป่าปลูกหรือไม่ เพื่อร่วมกันดูแลให้อุตสาหกรรมไม้เศรษฐกิจเป็นอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน และอยู่คู่กับเศรษฐกิจไทยโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ โดยมีความร่วมมือ 5 ปี และมอบหมายให้ สวทช. เป็นฝ่ายเลขานุการกลุ่มในการทำงานร่วมกัน เชื่อว่าการทำงานร่วมกันในครั้งนี้ จะส่งผลที่ดีต่อการทำงานของภาคเกษตรกร ชุมชน และประชาชนทั่วไปในการที่จะใช้ไม้เศรษฐกิจเป็นฐานสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับครอบครัวต่อไปในวันข้างหน้า” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว

ด้าน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ หนึ่งในภาคีร่วมลงนามขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม้ครบวงจร กล่าวว่า จากนโยบายรัฐบาลในเรื่องการส่งเสริมการผลิตไม้เศรษฐกิจในปัจจุบัน และการแก้ไขกฎหมายที่อำนวยความสะดวกในเรื่องที่ให้ประชาชนปลูกไม้มีค่า ทั้งในที่ดินที่เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์และที่ดินที่รัฐอนุญาตใช้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นเราจะมีพื้นที่อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 60 ล้านไร่ ที่จะเป็นเป้าหมายในการปลูกไม้เศรษฐกิจ ดังนั้น จึงควรเร่งสร้างให้เกิดห่วงโซ่อุปทานของไม้เศรษฐกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้กล้าไม้พันธุ์ดี เมื่อไม้โตแล้วเป็นไม้ที่มีคุณภาพ รวมถึงความรู้ในเรื่องกระบวนการตัดไม้หลังจากที่ไม้โตแล้ว การต่อยอดพัฒนากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ไม้เพื่อเพิ่มมูลค่า ตลอดจนการส่งเสริมให้เกิดการค้าไม้ไปยังต่างประเทศ ทั้งในส่วนไม้ท่อน ไม้แปรรูป และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ทุกฝ่ายที่มีองค์ความรู้ในทุกๆ เรื่อง ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำมาร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม้ครบวงจร จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกัน เพราะแต่ละหน่วยงานมีจุดเด่นในแต่ละเรื่อง เช่น จุดเด่นในเรื่องเทคโนโลยีการพัฒนาสายพันธุ์ นวัตกรรมการแปรรูปไม้หรือผลิตภัณฑ์ไม้ และการสร้างมูลค่าไม้ เชื่อว่าในอนาคตหากทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครบวงจร จะทำให้เศรษฐกิจในประเทศที่เป็นเศรษฐกิจที่เกิดจากไม้มีมูลค่าเพิ่มจำนวนมากขึ้น

“มูลค่าของไม้มีมูลค่าด้วยตัวเอง ค่านิยมของการใช้ไม้ได้เริ่มคืนกลับมา เพราะเป็นทรัพยากรทดแทนที่ปลูกกลับมาใหม่ได้ โดยปัจจุบันความต้องการของชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสหภาพยุโรป จีน เอเชียแปซิฟิก ออสเตรเลีย หรือญี่ปุ่น มีความต้องการใช้ไม้สูงมาก ประโยชน์ที่ได้รับไม่ใช่มูลค่าของไม้ที่ได้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นมูลค่าที่ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นมูลค่าที่ช่วยสร้างอากาศให้บริสุทธิ์ ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ไม้เหล่านี้ ตอบสนองต่อตลาดโลกทั้งหมด ฉะนั้น ต้องมีเทคโนโลยีในการพัฒนาคุณภาพของไม้ เทคโนโลยีที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มที่มีมากกว่าไม้ท่อนและไม้  แปรรูป” อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวเสริม