กระทรวงดีอีเดินหน้าพัฒนา  5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน

วันที่ 3 เมษายน 2562 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันงาน “5G ปลุกไทย ที่ 1 อาเซียน” ณ ห้องประชุมมหิตลาธิเบศร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  

นายฐากูร บุนปาน กรรมการผู้จัดการ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) กล่าวรายงานการจัดงานในครั้งนี้ว่า ทุกวันนี้ เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก การเปลี่ยนแปลงอยู่หน้าประตูบ้าน อยู่ในครัว อยู่ในห้องนั่งเล่นของทุกท่าน ไอโอที (IoTs) เอไอ (AI) 5จี (5G) กลายเป็นคำคัพท์สามัญประจำบ้าน ทุกคนเริ่มเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่เริ่มเล่นมือถือ คนแก่ที่เล่นไลน์ สะท้อนว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องใกล้ตัว  ไม่ว่ารัก ชอบ เกลียด ชัง อย่างไร แต่การเปลี่ยนแปลงมาถึงแล้ว ทุกคนต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้

บริษัท มติชน ได้รับการอนุเคราะห์การจัดงานครั้งนี้ จาก กระทรวงดีอี กสทช. หัวเว่ย เอไอเอส ทรู คอร์ปอเรชั่น ดีแทค ซีพีเอฟ ไปรษณีย์ไทย และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อกระตุ้นเตือนผู้คนในสังคมรับรู้การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งนำเสนอตัวอย่างการใช้งานจริง (ยูสเคส) เพื่อให้ทุกท่านเห็นว่าเทคโนโลยีอยู่ใกล้ตัวเราเพียงใด เพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศไทยไม่ให้ตกกระแสโลก เพราะเทคโนโลยี 5G เป็นความหวังของพวกเรา ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนในประเทศนี้

ด้าน ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ดีอี ได้ร่วมมือกับ กสทช. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ใช้พื้นที่ มก.วิทยาเขตศรีราชา เป็นศูนย์ทดสอบการใช้งาน 5จี ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และมีเอกชนหลายรายสนใจเข้าร่วมโครงการทดสอบ 5จี  ในครั้งนี้ด้วย เช่น ท่าเรือแหลมฉบัง ไปรษณีย์ไทย โรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา โรงพยาบาลระยอง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) และ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

เอไอเอส นำเสนอรถยนต์ไร้คนขับคันแรกของไทย ที่เชื่อมต่อบนเครือข่าย Live Network 5G

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า กสทช. เตรียมศูนย์ปฏิบัติการทดสอบ 5G ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากนั้นจะขยายพื้นที่ทดสอบไปยังจังหวัดต่างๆ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา  เพราะหากไทยต้องล่าช้าในการก้าวสู่ 5G จะสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะช่วงที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน กสทช. จึงเร่งผลักดันเทคโนโลยี 5G ให้เกิดขึ้นในประเทศไทยภายในปี 2563 สอดคล้องกับทั่วโลก  โดยคาดการณ์ว่า เทคโนโลยี 5G จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้กว่า 2.3 ล้านล้านบาท ภายในปี 2578