O-Clay วัสดุปลูกพืช จากเม็ดดินเผา งานของคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจการเกษตร

สวัสดีครับ ในโลกปัจจุบันนี้ที่คนรุ่นใหม่ ที่เรียกกันว่า คนรุ่นมิลเลเนียล (Millenials) กับ คนเจนแซด (Gen Z) กำลังจะครองโลก ธุรกิจสาขาต่างๆ ก็กำลังจะถูกคนกลุ่มนี้เข้าครอบครอง ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจการเกษตร “คิดใหญ่แบบรายย่อย” กับผมธนากร เที่ยงน้อย ฉบับนี้เต็มใจพาท่านเดินทางออกจาก กทม. ไป 600 กว่ากิโลเมตร ไปยังภาคอีสาน เพื่อไปเยี่ยมชมธุรกิจรายย่อยที่มีคนรุ่นใหม่ไฟแรงเข้ามาสานต่อและขยายงาน ขยายธุรกิจเดิมของที่บ้านให้เป็นธุรกิจใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ตามผมไปที่จังหวัดอุบลราชธานีกันครับ

ที่มาของเม็ดดินเผาโอเคลย์ (O-Clay)

พาท่านมาพบกับ ดร.ยุวเรศ วิทุรวงศ์ ที่บ้านเลขที่ 254 ถนนพโลรังฤทธิ์ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ดร.ยุวเรศ หรือ คุณยุวเรศ เป็นเจ้าของเม็ดดินเผายี่ห้อ โอเคลย์ (O-Clay)

ดร.ยุวเรศ วิทุรวงศ์ เจ้าของเม็ดดินเผา โอเคลย์ (O-Clay)

คุณยุวเรศ เล่าที่มาของธุรกิจเม็ดดินเผา ยี่ห้อ โอเคลย์ (O-Clay) ให้เราฟังว่า “ที่บ้านมีธุรกิจโรงงานผลิตเครื่องเคลือบดินเผา เป็นโรงงานผลิตในอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่โรงงานประมาณ 11 ไร่ มีเตาเผาเซรามิกขนาดใหญ่ 8 ตัว มีทั้งระบบฟืน (เผาแบบโบราณ) และระบบไฟฟ้า บริเวณหลังโรงงานยังแบ่งพื้นที่ไว้ทำเกษตรและเลี้ยงสัตว์ เช่น ทำนาข้าว ปลูกหญ้าเนเปียร์ไว้เลี้ยงวัว บ่อปลา เลี้ยงวัว เลี้ยงแพะ ต้องออกตัวว่าไม่ได้เรียนด้านการเกษตรนะคะ แต่มีความสนใจด้านเกษตรอยู่ หลังจากสอบจบ ป.เอก ช่วง พ.ศ. 2559 ก็กลับไปอยู่บ้าน เป็นช่วงที่เริ่มสนใจการปลูกผักระบบไฮโดรโปนิกส์ สนใจในระบบการปลูกจึงเริ่มศึกษา พืชที่ทดลองปลูกต้นแรกคือ เมล่อน ปลูกด้วยระบบน้ำวน ทำเองหมดเลย ตั้งแต่ออกแบบโรงเรือน เลือกซื้อวัสดุ และประกอบโรงเรือนจิ๋วขนาดปลูกเมล่อนได้ 10 ต้น ผลออกมาไม่ดีเท่าไร แต่ได้เรียนรู้กระบวนการ ข้อดี ข้อเสีย ของระบบน้ำวน หลังจากนั้น มีโอกาสได้คุยกับญาติที่สนใจด้านการเกษตรเหมือนกัน ศึกษาการปลูกผักระบบไฮโดรโปนิกส์เช่นกัน ได้ชี้แนะว่าดินเผาบ้านเรานี่แหละเป็นวัสดุปลูกพืชระบบไฮโดรโปนิกส์ที่ดีเมื่อเทียบกับวัสดุอื่นๆ ที่มีในท้องตลาด ก็เลยเริ่มศึกษาวัสดุปลูกอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเม็ดดินเผา ทั้งด้านการผลิตและด้านการตลาด”

แนวคิดการทำธุรกิจ โอเคลย์ (O-Clay)

คุณยุวเรศ บอกว่า ที่สนใจในเรื่องการเกษตรโดยเฉพาะการปลูกพืชผักแบบไฮโดรโปนิกส์ รวมทั้งความพยายามที่จะหาวัสดุปลูกทดแทนดินก็เนื่องมาจากในปัจจุบัน สิ่งปนเปื้อนที่มากับผักที่เรารับประทานมีทั้งเชื้อแบคทีเรีย สารเคมีตกค้าง ซึ่งทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากการปนเปื้อนจากดินที่เราใช้ปลูก ดังนั้น การปลูกพืชแบบไร้ดินจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการปลูกพืชผักที่ปลอดสารเคมีหรือการปลูกผักกินเอง โดยเราสามารถใช้ปลูกผักกินเองที่สวนหลังบ้าน กรณีที่มีพื้นที่อาศัยไม่เยอะ เช่น อยู่ห้องเช่าหรือคอนโดฯ ก็สามารถปลูกผักในภาชนะเล็กๆ ได้

เม็ดดินเผา ที่รอเข้าเตาเผา

“ข้อดีของเม็ดดินเผาคือ ไม่เลอะเทอะพื้นที่เพาะปลูก ไม่มีฝุ่นฟุ้งกระจาย ควบคุมและรักษาความชื้น ลดพลังงานระยะเวลาและปริมาณการใช้น้ำได้ดีขึ้น นอกจากนั้น เราสามารถนำไปประยุกต์ใช้ตกแต่งสวนในบริเวณบ้าน โรงแรม หรือรีสอร์ตได้ ส่วนมุมมองในด้านการทำธุรกิจกับชุมชนนั้น เรามองว่า เม็ดดินเผาที่เราผลิตและคิดโดยคนไทย ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น แรงงานที่ใช้ในกระบวนการผลิตก็เป็นคนในชุมชน เป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้คนในชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย”

เม็ดดินเผาคืออะไร ใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง

จากเอกสารวิชาการบอกว่า เม็ดดินเหนียว (dried clay pellets) และเม็ดดินเผา (expanded clay) เป็นวัสดุอย่างหนึ่งที่นิยมนำมาใช้เป็นวัสดุปลูกพืชไม่ใช้ดิน เนื่องจากมีคุณสมบัติโครงสร้างคงทน อายุการใช้งานหลายปี มีการระบายอากาศดี ไม่ทำปฏิกิริยากับสารละลายธาตุอาหาร ไม่เป็นแหล่งสะสมของโรคและแมลง ฆ่าเชื้อโรคและแมลงได้ง่าย (อิทธิสุนทร, 2552) เม็ดดินเผายังมีน้ำหนักเบา มีความพรุนดูดซับน้ำได้ดี สามารถล้างทำความสะอาดเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ง่าย

เม็ดดินเผา เมื่อผ่านอุณหภูมิสูง ประมาณ 1,000 องศาเซลเซียส

คุณยุวเรศ บอกต่อไปว่า “หลังจากมีข้อมูลว่าเม็ดดินเผาเป็นวัสดุปลูกพืชที่ดีจึงทดลองปั้นดินเหนียว ตากให้แห้ง พอปั้นได้ถุงใหญ่ก็จะเอาไปเข้าเตาเผา โดยเผาที่อุณหภูมิสูง ประมาณ 1,000 องศาเซลเซียส แล้วเม็ดดินจะออกมาเป็นสีส้มแดง พอเอามาโรยกระถางดอกไม้สวยเลยค่ะ”

ปรับปรุงการผลิต

คุณยุวเรศ เล่าต่อไปว่า “หลังจากศึกษาและลองผิดลองถูกซัก 2-3 เดือน จนได้เม็ดดินเผาที่มีลักษณะมีรูพรุนสูง แข็งแรง ไม่เปื่อยยุ่ยเมื่อแช่น้ำนานๆ ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญ เพราะหากเม็ดดินเผาเปื่อยยุ่ยระหว่างที่พืชยังไม่เก็บเกี่ยว เศษนั้นอาจไปอุดตันระบบไหลเวียนของน้ำในระบบเกิดความเสียหายได้ ซึ่งหลังจากเราพัฒนาจุดนี้ได้สำเร็จจึงเริ่มทำเม็ดดินเผาจริงจัง เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 โดยเริ่มเปิดเพจทางเฟซบุ๊ก แรงงานในการผลิตเราแบ่งมาจากไลน์ผลิตเครื่องเคลือบดินเผา ซึ่งก็เป็นชาวบ้านที่อยู่ในละแวกโรงงานแล้วมีแม่ช่วยควบคุมการผลิตอีกที”

เม็ดดินเผา โอเคลย์ (O-Clay) กับการปลูกพืชชนิดต่างๆ

ลูกค้าส่วนใหญ่เอาเม็ดดินเผายี่ห้อ โอเคลย์ (O-Clay) ไปใช้เป็นวัสดุปลูกพืชไฮโดรโปนิกส์ระบบปิด เช่น ผักสลัด แก้วมังกร พริกหวาน มะเขือเทศ เมล่อน เป็นต้น แล้วก็มีลูกค้าประจำที่ชอบซื้อเม็ดดินเผาของเราไปแต่ง ไปโรยหน้ากระถางต้นไม้ ผสมดินปลูกและใช้เป็นวัสดุปลูกกล้วยไม้ด้วย

ดินโปร่ง โล่งสบาย รากเดินดี

คุณยุวเรศ เล่าต่อไปว่า “สำหรับลูกค้าที่ใช้เม็ดดินเผา โอเคลย์ (O-Clay) ของเราแล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่บอกตรงกันว่าใช้แล้ว “ดินโปร่ง โล่งสบาย รากเดินดี” ซึ่งก็เป็นคุณสมบัติหลักของเม็ดดินเผาที่เราตั้งใจทำขึ้นมา”

ในตอนนี้นอกจากจะขายเม็ดดินเผา โอเคลย์ (O-Clay) คุณยุวเรศยังต้องทำการทดสอบประสิทธิภาพของเม็ดดินเผาของตัวเองอยู่ตลอดเวลา” ส่วนด้านความรู้ เราค้นคว้าข้อมูลทางวิชาการ วางแผนขั้นตอนการผลิต และทดสอบคุณสมบัติทางกายภาพของเม็ดดินเผาด้วยตัวเอง ซึ่งได้นำทักษะที่ได้ฝึกฝนเรียนรู้สมัยเรียนมาประยุกต์ใช้กับสิ่งที่เรามีอยู่ในมือ นอกจากนั้นเพื่อตอบโจทย์ให้กับลูกค้า เราจึงปลูกผัก ปลูกพืชต่างๆ โดยใช้เม็ดดินเผาที่เราทำเองด้วย เพื่อที่จะได้เซอร์วิส (service) แก้ปัญหาช่วยตอบคำถามในการเพาะปลูกได้หมด ตอนนี้เราก็ทดลองปลูกในเมล่อน ผักสลัด ล่าสุดเราปลูกพริกขี้หนูสวน อีกเหตุผลหนึ่งคือ เพื่อที่จะได้ศึกษาและพัฒนาเม็ดดินเผาให้มีคุณสมบัติที่ดีขึ้น และเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น ในอนาคตเม็ดดินเผาอาจจะสามารถควบคุมลักษณะเฉพาะบางอย่างของพืชหรือควบคุมการสร้างสารออกฤทธิ์ต่างๆ ได้

เม็ดดินเผา โอเคลย์ (O-Clay) หลายสี หลายขนาด

ขายผ่านโซเชียล

คุณยุวเรศ บอกว่า ช่องทางจัดจำหน่ายตอนนี้มีช่องทางเดียว คือ http://www.facebook.com/OClayOkay/ ตอนนี้ยังไม่มีหน้าร้าน ส่วนตัวสินค้าขณะนี้เม็ดดินเผามี 2 ขนาด คือ 5 มิลลิเมตร และ 10 มิลลิมิตร มี 2 สี สีส้มและคละสี เราใช้เม็ดสีส้มสำหรับปลูกผักระบบไฮโดรโปนิกส์ ส่วนคละสีเราใช้ในการผสมดินปลูกและตกแต่งสวน ราคาลิตรละ 50 บาท ทุกสี ทุกขนาด มีราคาพิเศษสำหรับสั่งจำนวนมากๆ อีกด้วย

ใครสนใจเม็ดดินเผา โอเคลย์ (O-Clay) เข้าไปดูได้ที่เฟซบุ๊กที่ให้ไว้ หรือติดต่อไปได้ที่ โทร. 089-424-3927 “คิดใหญ่แบบรายย่อย” กับผมธนากร เที่ยงน้อย ฉบับนี้หมดพื้นที่แล้ว ต้องขอลากันไปก่อน ขอให้โชคดี ธุรกิจเกษตรของท่านมีความสำเร็จ แล้วพบกันใหม่ สวัสดีครับ

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564