เผยแพร่ |
---|
นายการุณย์ มะโนใจ เกษตรอำเภอภูซาง และ นายเอกณัฏฐ์ จายหลวง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ รับผิดชอบงานส่งเสริมการผลิตพืชไร่ สำนักงานเกษตรอำเภอภูซาง ได้รับแจ้งจาก นายแก้ว แสงงาม อายุ 62 ปี บ้านเลขที่ 42 หมู่ที่ 7 บ้านป่าสัก ตำบลป่าสัก อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา ว่าตนเองปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พันธุ์ลูกผสม บนพื้นที่ 4 ไร่ ณ บ้านม่วงชุม หมู่ที่ 5 ตำบลป่าสัก อำเภอภูซาง โดยใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดของบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ปลูกเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 ซึ่งเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตพบฝักข้าวโพดติดเมล็ดแค่ 1 ไร่ ส่วน 3 ไร่ที่เหลือ ติดเมล็ดไม่เต็มฝัก บางต้นก็มีฝักสั้น จึงแจ้งให้ทางเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตร อำเภอภูซางทราบ เพื่อหาสาเหตุและแนวทางแก้ไข ทั้งนี้ ตนเองไม่ได้ออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานหรือบริษัทให้มารับผิดชอบ เพียงแต่รู้สึกแปลกใจว่าแปลงข้าวโพดที่อยู่ติดกับไร่ของตนเองมีเมล็ดเต็มฝักทุกต้น แต่ในไร่ของตนเองกลับเสียหายกว่าครึ่ง เพราะเมื่อปีก่อนหน้า ผลผลิตเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย โดยความเสียหายในครั้งนี้ รวมค่าปุ๋ย ค่าแรง และเมล็ดพันธุ์ รวมแล้ว สูญเสียรายได้ประมาณ 13,000-14,000 บาท แต่ถ้าหากทางหน่วยงานหรือบริษัทมีแนวทางแก้ไขเยียวยาให้ก็ยินดีและขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง
ด้าน นายการุณย์ เผยว่า จากที่ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ สันนิษฐานเบื้องต้นว่า อาจเกิดจากการผสมเกสรของดอกที่ติดบ้างไม่ติดบ้าง หรือการผสมเกสรที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้เมล็ดข้าวโพดเมื่อเจริญเติบโตแล้วมีเมล็ดไม่เต็มฝัก อันเนื่องมาจากจากอากาศร้อน อุณหภูมิสูงเกินไป ในช่วงระยะการสร้างดอกสร้างเกสร ทำให้การผลิตฮอร์โมนในพืชไม่สมบูรณ์ในการสร้างละอองเกสรของข้าวโพด ส่งผลให้การผสมเกสรมีปัญหา ในช่วงสำคัญในระยะออกดอกระยะผสมเกสรมีสภาพอากาศแห้งแล้ง ปริมาณน้ำไม่เพียงพอส่งผลต่อการเจริญเติบโตไม่เต็มที่ทำให้ข้าวโพดออกไม่เต็มฝัก เพราะในช่วงแล้งจัดๆ ต้นข้าวโพดจะพยายามดึงน้ำเพื่อรักษาสภาพของต้นให้มากที่สุด ใบล่างสุดจะเริ่มมีสีเหลืองและแห้งเหี่ยว ซึ่งสามารถสังเกตว่าสภาพต้นยังอยู่ในสภาพปกติแต่ฝักไม่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นธรรมชาติของข้าวโพดที่ขาดน้ำ และในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง
ทั้งนี้ ทางสำนักงานเกษตรอำเภอภูซาง ได้ประสานบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์เพื่อตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริง และหาทางให้การเยียวยาแก่เกษตรกรรายนี้ โดยทางบริษัทจะเข้ามาร่วมตรวจสอบกับทางสำนักงานเกษตรอำเภอภูซาง โดยเร็วที่สุด