เอกชนรับซื้อไหมสุก ทางเลือกใหม่ของเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม

เคยนำเสนอเรื่องการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อขายตัวไหมสุกไปแล้ว หลายคนอาจสงสัยว่าบริษัทที่รับซื้ออยู่ที่ไหน ดำเนินการกันอย่างไร และเขานำไปทำอะไรต่อ วันนี้จะได้เล่าในรายละเอียด

บริษัทเอกชนที่จังหวัดพะเยาจับมือศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ น่าน ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงไหมขายตัวเป็นๆ โดยรับซื้อไปเดินเส้นไหมเองส่งออกไปขายที่ประเทศเกาหลี ซึ่งความต้องการของตลาดยังมีอีกมาก

คุณสุมิตร ฮาวบุญมี

คุณสุมิตร ฮาวบุญมี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท NTGS จำกัด ตั้งโรงงานอยู่ที่ตำบลทุ่งรวงทอง อำเภอจุน จังหวัดพะเยา กล่าวว่า บริษัทจัดตั้งได้ยังไม่นานนัก ก่อนหน้านี้เป็นวิสาหกิจชุมชนเล็กๆ ทำงานเกี่ยวกับแผ่นใยไหม มีการไปแสดงสินค้าตามงานต่างๆ มีลูกค้าชาวต่างประเทศเข้ามาติดต่อโดยเฉพาะลูกค้าชาวเกาหลี เห็นว่าธุรกิจตัวนี้มีช่องทางที่จะเป็นไปได้ จึงมาศึกษาพื้นที่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในจังหวัดพะเยาและเชียงราย ซึ่งเกษตรกรทำเป็นอาชีพดั้งเดิมอยู่ก่อนนี้แล้วมากพอสมควร ประกอบกับประสานข้อมูลกับศูนย์วิจัยหม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ น่าน จะเป็นผู้สนับสนุนทางวิชาการและผลิตไข่ไหมป้อนให้กับเกษตรกรในระยะแรก เห็นว่าสามารถที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงแล้วส่งต่อให้กับบริษัทเดินเส้นและดำเนินการทางการตลาดต่อ

จึงเริ่มต้นในการส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้ขยายธุรกิจให้ใหญ่ขึ้น โดยเกษตรกรในจังหวัดเชียงรายและพะเยา เดิมมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมหลายพันครอบครัว แต่มีปัญหาเรื่องต่างๆ รวมถึงตลาดที่จะรับซื้อ ทำให้เกษตรกรเลิกเลี้ยง การดำเนินธุรกิจของบริษัทถือว่าเป็นเรื่องใหม่ เพราะแต่เดิมเกษตรกรจะเลี้ยงไหมเพื่อสาวเส้น ทั้งสาวเองหรือขายรังไหม การเลี้ยงไหมที่บริษัทดำเนินการนั้นเกษตรกรจะเลี้ยงถึงแค่ไหมสุก (หมายถึง ตัวไหมแก่พร้อมที่จะพ่นใยทำรัง) บริษัทจะรับซื้อมาดูแลเพื่อให้หนอนไหมได้ชักใยในแบบที่บริษัทกำหนด จะไม่ใช่การสร้างรังในรูปแบบเดิมๆ เกษตรกรใช้เวลาน้อยลง ลดเวลาในการเลี้ยงลงครึ่งหนึ่ง ความยุ่งยากน้อยลง ได้รับผลตอบแทนเร็วขึ้น สามารถเพิ่มรอบการเลี้ยงได้มากขึ้นตามไปด้วย โดยปกติการเลี้ยงไหมเพื่อสาวไหมจะเลี้ยงได้ 1 แผ่น ต่อ 1 คน แต่การเลี้ยงเพื่อขายไหมสุก จะเลี้ยงได้ 5-6 แผ่น ต่อคน การเลี้ยงเพื่อสาวเส้นไหมส่วนใหญ่จะเป็นคนรุ่นเก่า เพราะใช้เวลามากและมีความยุ่งยากในการเลี้ยงมากกว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่เริ่มเข้ามาเลี้ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่มีความยุ่งยาก และสามารถเลี้ยงได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น แน่นอนว่าผลตอบแทนก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน

ผู้จัดการทั่วไป บริษัท NTGS จำกัด เล่าว่า การดำเนินงานส่งเสริมและขั้นตอนการเลี้ยงคือ จะรับสมัครเกษตรกรที่จะเลี้ยงในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงกันเพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการ ที่สำคัญเกษตรกรจะต้องมีแปลงหม่อนเพื่อเป็นอาหารให้กับหนอนไหม มีโรงเรือนที่ปิดมิดชิดสามารถป้องกันศัตรูของหนอนไหม เช่น จิ้งจก ตุ๊กแก มด ลม ฝน เป็นต้น สำหรับแผ่นไข่ไหม ทางศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ น่าน จะเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายให้กับเกษตรกรในราคาที่เกือบจะเป็นการให้ฟรี คือแผ่นละ 10 บาท ซึ่งจริงๆ ต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับหลักร้อยบาทขึ้น โดยเกษตรกรที่จะปลูกจะต้องรวมกลุ่มกันเลี้ยงเพื่อให้ได้ปริมาณมากพอที่บริษัทจะรับซื้อไปเดินเส้นไหม และเวลาเดียวกัน โดยจะมีตัวแทนในหมู่บ้านที่มีความชำนาญในการคัดตัวหนอนไหมที่ดี เพราะแน่นอนว่าตัวหนอนไหมที่เกษตรกรผลิตได้จะมีทั้งได้คุณภาพและด้อยคุณภาพ

ไหมสุก หมายถึง หนอนไหมที่เจริญเติบโตเต็มที่และเริ่มจะชักใยทำรัง ไหมสุกมีลักษณะดังนี้ จะเริ่มหยุดกินอาหารและไต่ขึ้นบนหรือออกนอกกลุ่ม ผนังลำตัวเริ่มบางใส มูลที่ถ่ายออกมาจะมีสีน้ำตาลมากกว่าสีเขียวคล้ำ ชูส่วนหัวส่ายไปมา และเคลื่อนไหวมาก เมื่อพบหนอนดังกล่าวมักจะเป็นวัย 5 วันที่ 8 ก็ต้องเก็บหนอนไหมเหล่านี้ จากนั้นทางบริษัทจะส่งรถไปรับมาที่โรงงานเพื่อนำหนอนไหมมาเดินเส้นใย ซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง และผลิตเป็นแผ่นใยไหมจนถึงกระบวนการส่งออกไปให้ลูกค้าในต่างประเทศ ทั้งนี้ จะมีการวางแผนร่วมกันระหว่างศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ น่าน และบริษัท เพิ่มการผลิตไข่ไหมและการสุกของไหมที่จะเวียนมาเข้าโรงงานเพื่อการผลิตเส้นไหมจะได้ไม่ขาดช่วง การเดินเส้นไหมจะเดินในเฟรม ขนาด กว้าง 1.5 ยาว 4.0 เมตร โดย 1 เฟรม จะใช้ตัวหนอนไหมสุก ประมาณ 5 กิโลกรัม แผ่นใยไหมที่ได้จะส่งออกไปยังประเทศเกาหลี โดยเกาหลีจะนำไปผลิตเป็นเครื่องสำอาง เพราะในเส้นใยไหมจะอุดมไปด้วย เซริซิน ไฟเบอร์อิน ในขณะนี้ตลาดต่างประเทศมีความต้องการ ไทยเรายังผลิตให้ไม่พอกับความต้องการ สามารถขยายการปลูกได้อีก

พนักงานคัดเลือกตัวไหมก่อนปล่อยพ่นเส้นไหม
กระบวนการตรวจทำความสะอาดแผ่นใยไหมเตรียมส่งออก

สนใจรายละเอียดอยากจะเลี้ยงไหมเพื่อขายตัวไหมสุก ติดต่อได้ที่ บริษัท NTGS จำกัด ตำบลทุ่งรวงทอง อำเภอจุน จังหวัดพะเยา หมายเลขโทรศัพท์ (085) 665-5200, (088) 407-4688