“ปากีฯ” ถก “เมียนมา” รักษาตลาด “ส่งออกข้าวโลก”

ถึงแม้ว่า “ปากีสถาน” จะเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกข้าวเช่นเดียวกับหลาย ๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ภัยธรรมชาติที่ผ่านมาทั้ง “อุทกภัย” และ “ภัยแล้ง” ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างอยู่ไม่น้อย ไม่เพียงแต่สร้างความเดือดร้อนต่อรายได้จากการส่งออกที่ลดลงแล้ว ยังลุกลามไปถึงผู้บริโภคในประเทศด้วย

เดอะ นิวส์
สำนักข่าวท้องถิ่นของปากีสถานรายงานว่า ก่อนหน้านี้ รัฐบาลปากีสถานตั้งเป้าส่งออกข้าวประจำปี 2016-2017 เพิ่มเป็น 4.5 ล้านตัน ซึ่งคาดหวังว่าจะทำรายได้ให้กับประเทศได้ถึง 2,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อจากประเทศซาอุดีอาระเบียและอาเซอร์ไบจาน โดยปีที่ผ่านมารัฐบาลซาอุฯ ได้นำเข้าข้าวจากปากีสถานที่ 1.6 ล้านตัน

ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมข้าวของปากีสถาน คาดการณ์ว่าปีนี้ยอดการสั่งข้าวจากประเทศอิหร่าน ไนจีเรีย และบังกลาเทศ อาจลดลงเพราะผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตามตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกา ยังถือว่าเป็นตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญต่อปากีสถาน รวมทั้งผู้ส่งออกอื่น ๆ อย่างประเทศไทย เวียดนาม และอินเดีย


สำนักงานสถิติแห่งชาติปากีสถาน (PBS) เผยว่าช่วงเดือน ก.ค. 2015 ถึง พ.ค. 2016 ยอดการส่งออกข้าวของปากีสถานอยู่ที่ 3.9 ล้านตัน โดยรัฐบาลมีเป้าหมายต้องการส่งออกข้าวเฉลี่ยปีละ 7 ล้านตัน เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร แต่ภัยธรรมชาติทำให้ผลผลิตในประเทศลดลง ดังนั้นล่าสุด รัฐบาลปากีสถานจึงมีแผนเจรจาซื้อข้าวจากเมียนมา เพื่อที่จะทำให้ปากีสถานสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกข้าวแข่งขันกับผู้ส่งออกประเทศอื่น ๆ ได้

เมียนมา บิสซิเนส ทูเดย์
รายงานว่า “ปากีสถาน” ต้องการซื้อข้าวจาก “เมียนมา” ภายใต้โครงการที่รัฐบาลเมียนมาเปิดโอกาสให้หลายประเทศคู่ค้าเข้ามาเจรจาซื้อขายข้าวในรูปแบบ “รัฐต่อรัฐ” หรือที่เรียกว่า “G-to-G”

ขณะที่รัฐบาลเมียนมา แสวงหาตลาดข้าวหน้าใหม่ เพื่อลดการพึ่งพาตลาดข้าวจากประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของประเทศที่มีสัดส่วนสูงถึง 80% ซึ่งสถานการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่ ได้สร้างความเสียหายอย่างหนักต่อรัฐบาล ทั้งยังสร้างความเดือดร้อนให้กับประเทศเพื่อนบ้านร่วมชายแดนอย่างจีน อันมีความจำเป็นต้องปิดชายแดนชั่วคราวเพื่อความปลอดภัย

นอกจากนี้ที่ผ่านมาเมียนมายังได้บรรลุข้อตกลงการขายข้าวให้กับ“อินโดนีเซีย”จำนวน 300,000 ตัน มากกว่าครึ่งหนึ่งของข้าวที่เมียนมาเตรียมไว้เพื่อการส่งออกที่กำหนดไว้ 500,000 ตันในปี 2017 โดยปีที่ผ่านมา เมียนมาส่งออกข้าวไปยังสิงคโปร์, ประเทศในยุโรป, แอฟริกา, รัสเซีย และบราซิล รวมทั้งสิ้น 767,753 ตัน

ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างเมียนมาและปากีสถาน ถือเป็นเกื้อกูลซึ่งกันและกัน อันมีผลประโยชน์ร่วมอย่างแท้จริง เพราะมีตลาดส่งออกที่แตกต่างกัน ทำให้ทั้ง 2 ประเทศบรรลุข้อตกลงกันง่ายขึ้น โดยทางการเมียนมาพยายามเพิ่มปริมาณการส่งออกข้าว และแสวงหาโอกาสในการเจาะตลาดฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และประเทศในแถบแอฟริกา ขณะที่ปากีสถาน มุ่งเจาะตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกาชิงส่วนแบ่งจากผู้ส่งออกข้าวเบอร์ต้นของโลก

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์