ชาวบ้านที่ไทรน้อย นนทบุรี ปลูกผักขาย มีรายได้ดีตลอดปี

ข้อดีของการปลูกผักสวนครัวแบบผสม คือไม่จำเป็นต้องใช้พื้นที่มาก จะเลือกปลูกที่ไหนก็ได้ขอเพียงแต่มีดินและน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ขณะที่ผักแต่ละชนิดมีอายุเก็บเกี่ยวสั้น ผู้ปลูกจึงต้องอาศัยทักษะบริหารจัดการวิธีปลูกแบบหมุนเวียนเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ก็สามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี

คุณสำรวย แตงขาว

คุณสำรวย แตงขาว บ้านเลขที่ 30 หมู่ที่ 3 ตำบลทวีวัฒนา อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ความจริงแล้วชายผู้นี้เป็นคนทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แหล่งปลูกมะพร้าวแห่งใหญ่ แต่กลับมายึดอาชีพปลูกผักขาย ด้วยการตระเวนไปตามจังหวัดต่างๆ ที่มีแหล่งดินและน้ำอุดมสมบูรณ์ มีถนนสะดวกต่อการสัญจร มีแหล่งความเจริญที่มีผู้คนจับจ่ายใช้สอยกันมากเพื่อหาทำเลปักหลักปลูกผักขาย

กระทั่งล่าสุดตอนนี้กลับมาปักหลักยังพื้นที่อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ที่มีเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ ซึ่งเคยปลูกผักขายมาแล้วเป็นเวลานานกว่า 7 ปีได้เงินทุนเป็นล้าน ส่งลูกเรียนจนจบปริญญาตรี

ปรับพื้นที่ยกแปลงปลูกเป็นร่อง

ผักที่ปลูก ได้แก่ คะน้า ขึ้นฉ่าย ผักชี พริก มะระจีน ซึ่งผักเหล่านี้ล้วนได้รับความสนใจจากตลาดผู้บริโภค ลักษณะการปลูกแบบยกร่องสวน โดยจะปรับพื้นที่ดินจากเดิมให้เป็นร่องสวนที่มีขนาดแต่ละแปลงกว้าง 3-3.5 เมตร ยาว 80 เมตร

ค้างมะระที่ปลูกไว้จำนวนมาก สามารถเก็บได้คราวละหลายรอบ

สวนผักแบบผสมของคุณสำรวยดูแลปรับปรุงดินด้วยการใส่ปุ๋ยแบบผสมเช่นกัน โดยมีทั้งปุ๋ยสูตรและอินทรีย์ เริ่มด้วยการใส่ปุ๋ยคอกชนิดเม็ด ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยมูลวัว มูลหมู มูลไก่ แล้วแต่ว่าจะหาซื้อชนิดใดได้ก็ใช้แบบนั้น นำไปใส่ไร่ละ 40-100 กิโลกรัมร่วมกับปุ๋ยหมัก ลงในแปลงปลูก ผสมให้เข้ากันด้วยการไถพรวน จากนั้นหว่านปูนขาวแปลงละ 5 กระสอบ ขนาดกระสอบละ 20 กิโลกรัมเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคแล้วใช้ฟางคลุม ก่อนที่จะหว่านเมล็ดพันธุ์

เมล็ดพันธุ์จะหาซื้อตามร้านเกษตรที่เป็นที่เชื่อถือของชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นนั้น โดยใช้เกณฑ์การเลือกซื้อจากยี่ห้อที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นเจียไต๋หรือศรแดง เป็นต้น คุณสำรวยใช้วิธีเลือกเมล็ดพันธุ์ด้วยการศึกษาข้อมูลคุณสมบัติจากผู้ผลิตก่อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขนาด ความแข็งแรง ความทนทานต่อโรค/แมลง จำนวนผลผลิต พร้อมกับไปดูของจริงจากแปลงปลูกของชาวบ้านในพื้นที่เพื่อประกอบการตัดสินใจ อย่างผักชีต้องเลือกแบบที่มีต้นเขียว แข็งแรง ขนาดต้นใหญ่ ทนต่อโรคและสภาพอากาศ อีกทั้งยังต้องปลอดภัยไม่เน่าเสียระหว่างขนส่ง

แปลงปลูกผักมีจำนวนทั้งหมด 8 แปลง แบ่งประเภทผักที่จะปลูกไปตามแปลงต่างๆ ด้วยการคำนึงถึงความต้องการของตลาดเป็นหลักก่อน เพราะมีส่วนสำคัญต่อการกำหนดราคาขาย อย่างในช่วงนั้นถ้าตลาดต้องการผักคะน้าก็จะปลูกสัก 2-3 ร่อง ที่เหลือปลูกผักที่มีความต้องการรองลงมา อย่างกวางตุ้ง ขึ้นฉ่าย เป็นต้น

กวางตุ้งรุ่นนี้เก็บหมดแล้วขายหน้าสวนราคากิโลกรัมละ 10 บาท จำนวน 500 กิโลกรัม

สำหรับปุ๋ยเม็ดที่คุณสำรวยใช้เป็นปุ๋ยสูตรจำนวน 2 ชนิดเป็นหลัก คือสูตร 15-0-0 เพื่อเพิ่มแคลเซียมทางราก และสร้างความแข็งแรงให้กับต้น กับสูตร 25-7-7 เพื่อเสริมสร้างการเจริญเติบโต การสร้างยอด เพิ่มขนาดและน้ำหนัก

การปลูก

ถ้าเป็นผักใบจะใช้วิธีหว่านเมล็ดพันธุ์ในแปลงที่เตรียมพื้นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างกวางตุ้งหว่านเมล็ดพันธุ์จนเก็บผลผลิตเวลา 30 วัน หลังจาก 7 วัน ให้หว่านปุ๋ยสูตร 15-0-0 จำนวน 4-5 กิโลกรัม ต่อไร่ แล้วรดน้ำ จากนั้นอีก 7 วันให้หว่านปุ๋ยสูตร 25-7-7 จำนวน 10-15 กิโลกรัม ต่อไร่ แล้วรดน้ำ ในกรณีที่ผักไม่สวยถูกใจอาจจะหว่านปุ๋ยสูตร 15-0-0 อีกเล็กน้อย ในช่วงก่อนเก็บผลผลิต 7 วัน แล้วเมื่อครบ 30 วันจึงตัดผลผลิตเก็บขาย

ผักใบอาจมีร่องรอยจากศัตรูพืชบ้างเพราะหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี

ในกรณีที่ไม่ใช่ผักใบแล้วเป็นผักแบบเถาไม้เลื้อย อย่างมะระจีนหรือถั่วฝักยาว การปลูกต้องใช้วิธีเพาะเมล็ดต้นพันธุ์ในถาดหลุมก่อน แล้วใช้เวลาประมาณ 7-10 วัน จึงย้ายไปปลูกในแปลงที่สร้างค้างเตรียมไว้ ทั้งนี้ จะต้องปรับปรุงดินพร้อมกับใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุมแล้วโรยปูนขาวเสียก่อนนำต้นพันธุ์ลงปลูก ทั้งนี้ ไม้และอุปกรณ์บางอย่างที่นำมาทำเป็นค้างเมื่อเสร็จจากการเก็บผลผลิตแต่ละรุ่นแล้วอาจนำกลับมาใช้ได้อีกโดยไม่จำเป็นต้องลงทุนเพิ่ม

คุณสำรวย บอกว่า ผักแต่ละชนิดจะปลูกซ้ำแปลงเดิมต่อเนื่องกันไม่ได้ เพราะอาจจะมีการสะสมโรคในดิน ดังนั้น จึงต้องปลูกหมุนเวียน อีกทั้งแปลงที่เก็บผลผลิตไปแล้วจะกำจัดวัชพืชใบไม้ออก ก่อนตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 15-20 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรค แล้วจึงกลับมาเริ่มปรับปรุงดินเพื่อปลูกผักรอบต่อไป ขณะเดียวกัน จะต้องพิจารณาความเหมาะสมของผักแต่ละชนิดในเรื่องปัจจัยแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ อากาศ รวมถึงความต้องการของตลาดเพื่อต้องการให้ผักมีราคาขายที่สูง

ต้นอ่อนมะระเตรียมขึ้นค้าง

ผลผลิตที่เก็บได้แต่ละครั้ง อย่างคะน้าได้ประมาณ 1,000-1,200 กิโลกรัม ส่วนมะระจีนได้ผลผลิตสูงเป็นที่พอใจ แล้วต้นทุนไม่มาก เพียงมีต้นทุนค่าค้างและอุปกรณ์ซึ่งสามารถเก็บไว้ใช้งานได้อีก ทั้งนี้ ผลผลิตมะระจีนจะเก็บได้คราวละ 30-40 ครั้ง ต่อรอบ จะได้ผลผลิตกว่าพันกิโลกรัม

คุณสำรวย ชี้ว่า ต้นทุนการปลูกผักส่วนมากจะหนักไปในเรื่องการป้องกันโรค/แมลงมากกว่าอย่างอื่น เพราะผักอ่อนไหวต่อสภาพดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนไปจนทำให้เกิดโรค/แมลงเข้ามาทำลาย

ถั่วฝักยาว
ถั่วฝักยาวมัดเตรียมลูกค้ามารับ

สำหรับการกำหนดราคาขายผักแต่ละชนิดจากสวน คุณสำรวย ชี้ว่า เมื่อคำนวณต้นทุนบวกกำไรแล้วถ้าพ่อค้ารับซื้อพอใจก็ตกลงซื้อ-ขายกัน เนื่องจากเห็นว่าทางผู้ผลิตไม่มีต้นทุนค่าขนส่ง โดยเฉลี่ยราคาขายทั่วไป อย่างถั่วฝักยาวกิโลกรัมละ 30 บาท คะน้ากิโลกรัมละ 20 บาท มะระจีนกิโลกรัมละ 20 บาท จะขายส่งให้กับพ่อค้าที่มารับในสวนเพื่อนำไปขายต่อที่ตลาดไทและสี่มุมเมือง

บางแปลงที่เก็บผลผลิตไปแล้วต้องพักแล้วตากทิ้งไว้ประมาณ 20 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรค

“ผักที่ปลูกแต่ละอย่างต้องดูจากความต้องการของตลาดก่อน เพื่อให้มีราคาสูง จะต้องตรวจสอบจากตลาดผักหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นที่กาญจนบุรี ตาก หรือสุพรรณบุรี หรือแม้แต่จะต้องดูจากศูนย์เมล็ดพันธุ์ก่อนว่ามีผักชนิดใดที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ออกมาขายมาก ซึ่งอาจมีการปลูกกันมาก หากเป็นเช่นนั้นก็ไม่ควรปลูกเพราะจะทำให้ล้นตลาด ราคาตก” คุณสำรวย กล่าว

ผลมะระมีขนาดใหญ่ เขียว สมบูรณ์
แพ็กมะระเตรียมส่งให้พ่อค้าที่มารับซื้อ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณสำรวย โทรศัพท์ (091) 409-4337