5เสือจีนยึดตลาดส่งออกมันเส้นไทย ซื้อตรงเข้าโรงงาน-กันผู้ส่งออกไทยมองตาปริบๆ

จับตา 5 เสือบริษัทจีน แห่ลงทุนตั้งบริษัทส่งออกมันเส้นในประเทศไทย ทั้งตั้งราคารับซื้อเอง ราคาส่งออก ส่งเข้าโรงงานหรือเทกองขายเบ็ดเสร็จ

แหล่งข่าวจากวงการค้ามันสำปะหลังเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์การค้ามันภายในประเทศว่า ตลาดมันเส้นแทบจะตกอยู่ในกำมือผู้ซื้อชาวจีน โดยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ปรากฏบริษัทผู้ส่งออกมันสำปะหลังไทยที่มีผู้ถือหุ้นถือสัญชาติจีนเข้ามาตั้งบริษัทนิติบุคคลในประเทศไทยเพิ่มขึ้นโดยบริษัทเหล่านี้มีเป้าหมายเข้ารับซื้อมันเส้นเพื่อส่งออกไปยังจีนโดยเฉพาะ แทนที่จะซื้อผ่านบริษัทผู้ส่งออกไทยเหมือนอย่างในอดีต

ทั้งนี้ บริษัทไทยที่ถือหุ้นโดยจีนที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ได้แก่ บริษัท เอลัช (ประเทศไทย) จำกัด จัดเป็นบริษัทเอกชนจีนขนาดใหญ่ที่เข้ามาตั้งบริษัทส่งออก ถือหุ้นใหญ่โดยบริษัท อาร์ทลิช อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด สัญชาติหมู่เกาะเวอร์จิน (อังกฤษ) ถือหุ้นอยู่ถึง 99.9960% เข้ามาทำตลาดส่งออกมันเส้น และครองอันดับ 1 ของผู้ส่งออกไทยมานานนับ 10 ปี แต่ภายหลังบริษัทนี้และกรรมการบริษัทถูกสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดกรณีการขายมันเส้นระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) ในปี 2557 ส่งผลให้ปริมาณส่งออกมันลดลงและไม่ติดอันดับ

แต่ล่าสุดปรากฏรายชื่อ บริษัทผู้ส่งออกจีนขนาดใหญ่ที่อยู่ใน List Top 5 ของจีน เข้ามาตั้งบริษัทในประเทศไทย และขยับขึ้นเป็นผู้ส่งออกมันเส้นติด 5 อันดับแรก อาทิ บริษัท ไอ เอ็น ที รีซอร์สเซส (ไทยแลนด์) ซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทโฮลลี่ รัฐวิสาหกิจจีน มาตั้งบริษัทในไทยตั้งแต่ปี 2555 โดยมีบริษัท เจ้อเจียง ฮอลลี่ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด สัญชาติจีน ถือหุ้นอยู่สัดส่วนถึง 99.9998% ที่เหลืออีก 2 บริษัทก็สัญชาติจีน และมีกรรมการเป็นชาวต่างชาติ โดยบริษัทไอ เอ็น ที ปัจจุบันเป็นผู้ส่งออกมันเส้นอันดับ 3 ทางบริษัทแม่มีนโยบายที่จะตั้งโรงงานผลิตเอทานอล กำลังผลิตประมาณ 500,000 ตัน จึงตัดสินใจเปิดบริษัทส่งออกมันเส้นในไทยเพื่อซื้อวัตถุดิบป้อนโรงงาน

นอกจากนี้ ยังมีบริษัทจิ้งอี้หมง เข้ามาตั้งบริษัทส่งออกชื่อ โกลเด้นท์ซัน อินเตอร์เทรด จำกัด โดยมี นายจาง ซือ เหวิน ถือหุ้นสัดส่วน 49% ที่เหลือเป็นคนไทยอีก 2 ราย ถือหุ้นร่วมกันอีก 51% ปัจจุบันเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 16 ในปีที่ผ่านมา และบริษัทหงต้า เข้ามาตั้งโรงงานรับซื้อมันเส้นชื่อ โกดังสุวรรณเกลียวทอง และได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกสมาคมการค้ามันสำปะหลังแล้ว และกำลังจะเริ่มส่งออก

“ในจีนมีบริษัท 5 เสือ ประกอบด้วย บริษัทฮั่วทิง-บริษัทจิ้งอี้หมง-บริษัทฟู่ไหล่ชุน-บริษัทหงต้า ซึ่ง 3 ใน 4 บริษัทในกลุ่มนี้ได้เข้ามาตั้งโรงงานอยู่ในประเทศไทยแล้ว และหากนับบริษัทเอลัช เท่ากับจะมี 4 บริษัท”

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า ปริมาณความต้องการใช้และส่งออกมันเส้นของกลุ่มบริษัทจีนเหล่านี้มีมากกว่า 1 ล้านตัน/ปี ซึ่งถือเป็นสัดส่วนเกือบ 50% ของการส่งออกมันเส้นทั้งหมดของประเทศไทย โดยบริษัทจีนมีความได้เปรียบในเรื่องของความคล่องตัวและฐานะทางการเงิน ยกตัวอย่าง บริษัทจีนสามารถซื้อมันเส้นแล้วไปขายต่อถึงผู้ใช้รายย่อยในจีนได้เลย บริษัทจีนที่เป็นทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้ามันเส้นบริษัทเดียวกัน ทำให้สามารถตั้งราคาและไม่ต้องเปิด L/C ก็ได้ และบริษัทจีนที่เข้ามาในรูปแบบเทรดเดอร์สามารถซื้อมันเส้นไทยเข้าไปกองแล้วขายให้กับผู้ใช้รายย่อยที่ท่าเรือด้วยการใช้เครดิต

อย่างไรก็ตามบริษัทผู้ส่งออกมันเส้นไทยที่ยังติดอันดับ Top 5 และสามารถรักษาปริมาณการส่งออกมันเส้นไว้ได้ อาทิ บริษัทแสงฟ้า อะกริโปรดักซ์ หจก.สวัสดิ์ไพบูลย์ ส่วนบริษัททรัพย์สถาพร ปัจจุบันลดการส่งออกมันเส้นลงจากสาเหตุการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ทำให้สัดส่วนกำไรต่อหน่วยลดลงมากจาก 10-20 เหรียญ/ตัน เหลือเพียง 1-2 เหรียญ/ตัน มีผลทำให้ผู้ส่งออกรายเดิมอยู่ลำบากขึ้น

“ผลจากการเข้ามาถือครองสัดส่วนการส่งออกมันเส้นของบริษัทจีนที่เพิ่มขึ้นมีผลทำให้ผู้ส่งออกจีนสามารถกำหนดราคารับซื้อมันเส้นในประเทศได้ ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปจนถึงราคาหัวมันสดทุกวันนี้ผู้ส่งออกไทยต้องคอยฟังว่า จีนเปิดราคารับที่เท่าไหร่”

ดังนั้นใน 3-4 ปีนี้ รัฐบาลควรจะต้องเข้ามาดูแลการตั้งราคารับซื้อมันเส้นของผู้ส่งออกจีนไม่ให้ส่งผลกระทบกับเกษตรกรชาวไร่มัน เพราะอำนาจการครองตลาดตกไปอยู่ในมือผู้ส่งออกจีนหมดแล้ว