อ.ส.ค. หนุนเกษตรกร แนะเลี้ยงโคนมอย่างไร ให้ได้น้ำนมคุณภาพดี ในงาน “Chiang Mai Field Day”

องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ขยายโรงงานนมพาสเจอไรซ์ ณ โรงงานนมสำนักงาน อ.ส.ค. ภาคเหนือตอนบน จ.เชียงใหม่ เพิ่มกำลังการผลิต 30 ตัน/วัน เพื่อรองรับปริมาณน้ำนมดิบจากเกษตรกรและสหกรณ์โคนมภาคเหนือตอนบนที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังจัดอบรมด้านการเลี้ยงโคนมแก่เกษตรกรและสหกรณ์โคนมทั่วทุกภูมิภาค ในงาน “Chiang Mai Field Day” ณ ลานกิจกรรม ศูนย์ราชการ สำนักงานปศุสัตว์ เขต 5 เชียงใหม่

ดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) กล่าวว่า นอกจากการขยายโรงงานผลิตนมพาสเจอไรซ์ สำนักงาน อ.ส.ค. ภาคเหนือตอนบน จ.เชียงใหม่แล้ว สำนักงาน อ.ส.ค. ภาคเหนือตอนบนยังได้จัดงาน “Chiang Mai Field Day” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเลี้ยงโคนมให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั่วทุกภูมิภาคเข้าร่วมงาน โดยการจัดบู๊ธการเรียนรู้ และจัดนิทรรศการของ อ.ส.ค. กรมปศุสัตว์ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังมีเสวนาเรื่อง“เกษตรกรภาคเหนือ เลี้ยงโคนมอย่างไร ให้ได้นมคุณภาพ” โดยผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐ นักวิชาการ และภาคเกษตรกร เพื่อเป็นแนวทางสำหรับเกษตรกรในการยกระดับคุณภาพน้ำนมดิบให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่เกษตรกรจะสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ด้านการเลี้ยงโคนมอย่างเหมาะสม และนำความรู้ที่ได้รับไปปรับใช้ในการพัฒนาระบบการจัดการฟาร์มของตนเองได้จริง

นอกจากนี้ ภายในงาน “Chiang Mai Field Day” จัดนิทรรศการให้ความรู้แก่เกษตรภาคเหนือตอนบน และสหกรณ์โคนมทั่วทุกภูมิภาคที่เข้าร่วมงาน อาทิ นิทรรศการโคนมอาชีพพระราชทาน, พ่อพันธุ์โคนม อ.ส.ค. ปี 62, สมุนไพรกับการส่งเสริมภูมิคุ้มกันและต้านการอักเสบในโคนม, การเปรียบเทียบข้อมูลแบบแผนทางชีวะโมเลกุลของน้ำนมดิบ, การส่งเสริมโภชนาการช่วงแรกของชีวิต พื้นฐานของสุขภาวะที่ดีในโคนม, ผลของฟางข้าวที่ปรับปรุงด้วยแคลเซียม, การใช้พลังงานทดแทน, การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีรังสียูวี, หลังคาเขียว เป็นต้น องค์ความรู้ต่างๆ ที่ อ.ส.ค. จัดอบรมแก่เกษตรกร มีเป้าหมายเพื่อยกระดับอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม พัฒนาคุณภาพน้ำนมดิบจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือเป็นแผนแม่บทส่งเสริมการเลี้ยงโคนม มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (2560-2564) ที่ อ.ส.ค. ยังขับเคลื่อนภารกิจอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 60 โดยมีเป้าหมายในการก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมของประเทศภายในปี 64 และสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาโคนมและผลิตภัณฑ์นม ปี 2560-2569 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ด้วย” ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าว