ปลาหมอไทย เป็นปลาที่ตลาดต้องการ

เรียน คุณหมอเกษตร ทองกวาว ที่นับถือ

ผมสนใจการเพาะเลี้ยงปลาหมอไทย เพราะเห็นว่าตลาดมีความต้องการ จึงขอเรียนถามว่า ปลาชนิดนี้มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร และมีนิสัยเป็นอย่างไร ถ้าจะเปรียบเทียบปลาสลิดแล้ว ปลาชนิดไหนเลี้ยงง่ายกว่ากัน สำหรับแหล่งจำหน่ายพันธุ์จะติดต่อที่ไหน ผมขอความกรุณาคุณหมอเกษตรแนะนำด้วยครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

วินัย สุขนันทพัฒน์

ตอบ คุณวินัย สุขนันทพัฒน์

ปลาหมอ หรือ ปลาหมอไทย (Climbing Perch : Anabas testudineus) ปลาสายพันธุ์นี้พบอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำจืดทั่วไป ที่จีนตอนใต้ ไทย พม่า อินเดีย เวียดนาม ลาว ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย ปลาหมอดังกล่าว เจริญเติบโตได้ดีทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย นอกจากนี้แล้วยังมีความสามารถพิเศษในการหมกตัวอยู่ในโคลนตมได้เป็นเวลานานกว่าปลาสายพันธุ์อื่นๆ ปลาหมอเป็นปลากินเนื้อ ชอบกินสัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น ตัวอ่อนของแมลงที่อาศัยอยู่ในน้ำ กุ้งฝอย หรือลูกปลาขนาดเล็ก แม้แต่เมล็ดข้าว และเมล็ดธัญพืชอื่นๆ ก็เป็นอาหารโปรดอีกด้วย

รูปร่างปลาหมอ มีลำตัวป้อม ด้านข้างแบน ลำตัวยาวเป็นสามเท่าของความลึก ที่วัดจากสันหลังลงมาที่หน้าท้อง ลำตัวมีสีน้ำตาลเหลืองปนดำ ส่วนท้องมีสีอ่อนกว่า เกล็ดแข็ง ครีบหลังมีก้านครีบแข็ง จำนวน 17-18 ก้าน ส่วนครีบท้องมีก้านแข็งเพียง 2 ก้าน ครีบอกกับครีบท้องอยู่ในแนวเดียวกัน มีเส้นข้างลำตัวเป็นเส้นแบ่งด้านบนและล่างอย่างชัดเจน เกล็ดเหนือเส้นข้างลำตัวมี 14-18 เกล็ด ส่วนใต้เส้นข้างลำตัวมีเกล็ด 10-14 เกล็ด ที่ปลายกระพุ้งแก้มมีลักษณะเป็นหนามหยัก แหลม และคม ใช้สำหรับปีนป่ายได้อย่างคล่องแคล่ง มีอวัยวะช่วยหายใจอยู่ในช่วงเหงือกใต้ดวงตา ทำให้สามารถมีชีวิตอยู่บนบกได้นานกว่าปลาสายพันธุ์อื่นๆ อายุตั้งแต่เริ่มอนุบาลถึงระยะจับมาบริโภค หรือจำหน่าย อยู่ระหว่าง 90-120 วัน มีน้ำหนักเฉลี่ยตัวละ 90-160 กรัม ปัจจุบัน มีเลี้ยงกันมากที่อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช หากเปรียบเทียบกับปลาสลิดแล้ว ปลาหมอเลี้ยงง่ายกว่า และมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าอีกด้วย อีกทั้งปลาหมอมีความอดทนมากกว่า

สำหรับแหล่งพันธุ์ ติดต่อสอบถามได้ที่กรมประมง ภายในบริเวณเดียวกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน ในวัน และเวลาราชการ หรือติดต่อที่สำนักงานประมงจังหวัดใกล้บ้านก็ได้

…………………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ.2564