สกสว. ชู 13 ผลงานเด่น มุ่งสู่ “งานวิจัยเพื่ออนาคต”

สกสว. จัดงานมอบรางวัลผลงานวิจัยเด่น สกว. ประจำปี 2561 เชิดชูเกียรตินักวิจัยที่ผลิตผลงานสามารถนำไปใช้ประโยชน์และเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมเดินหน้าสู่ความท้าทายในการต่อยอด “งานวิจัยเพื่ออนาคต”

26 มิถุนายน 2562 – สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เดิมคือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดงานมอบโล่เกียรติยศผลงานวิจัยเด่น สกว. ประจำปี 2561 ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ราชประสงค์ เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติแก่นักวิจัย และผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ สร้างผลประโยชน์และก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและการพัฒนาสิ่งแวดล้อม โดยมี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการ ส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีและมอบรางวัล พร้อมด้วย ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกสว. คณะผู้บริหาร ผู้ทรงคุณวุฒิ และสื่อมวลชนร่วมเป็นเกียรติในครั้งนี้

ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวระหว่างปาฐกถาพิเศษว่า “คนไทยต้องหลุดพ้นจากวังวนกับดักรายได้ปานกลางให้ได้ เพราะเรากำลังก้าวสู่สังคมสูงวัย แก่ก่อนรวย ความรู้ความสามารถไม่สูง มีปัญหาโครงสร้างเชิงระบบและความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพของรัฐ เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล เรียนฟรีไม่มีคุณภาพ แต่หากเรียนอย่างมีคุณภาพก็จะไม่ฟรี คนไทยยังขาดวิสัยทัศน์ที่จะแข่งขันในเวทีโลก สภาพแวดล้อม รายได้ที่ขาดหายไปจากสงครามทางการค้าทำให้เงินหายไปจากระบบ 5 แสนล้านบาท งบจากภาครัฐมีขีดจำกัดในการเติบโต เราต้องช่วยกันหางบวิจัยผลักดันตัวเลขนี้ออกมา ไม่ใช่พึ่งพาแต่งบ สกสว.ประจำปีอย่างเดียว ปัญหาสำคัญคือ โครงสร้างประชากร ปี 2600 ประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 9 พันล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากจีน อินเดีย แอฟริกา ส่งผลต่อการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ขณะที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะผันแปรแบบสุดขั้ว นำไปสู่ปัญหาอีกมากมาย ไม่ใช่แค่โลกร้อน น้ำแข็งละลาย แต่มีเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ปัญหาแหล่งน้ำและการใช้น้ำ การเพาะปลูก กิจกรรมทางเศรษฐกิจบนฐานทรัพยากร ส่งแรงกดดันมหาศาล ทุกคนได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน

เครื่องล้างสารเคมีอันตรายในดิน

“หวังว่าการต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำจะไม่ใช่คำตอบทางการเงินอย่างเดียว แต่เป็นไปด้วยความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทำให้สุขภาพดีมีชีวิตที่ยาวนานขึ้น เพราะการพัฒนาไม่ขึ้นอยู่กับการศึกษาอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับสุขภาพด้วย การพัฒนาประเทศไทยต้องรู้ว่าเราต้องการอะไร และต้องเลือกคนเข้ามาทำให้ประเทศพัฒนาได้ รัฐต้องเปลี่ยนบทบาทจากคนใช้ทรัพยากรมาเป็นคนที่ Make it Happen ต้องส่งเสริมคนไทยให้เป็นผู้ประกอบการที่ดี ไม่ทะเลาะกันเอง พัฒนาจนเป็น Trading Nation ลดการทะเลาะกับคน แต่หันมาเจรจาการค้าเพื่อผลประโยชน์ของชาติ อยากฝากนักวิชาการไว้ว่าเราได้รับการศึกษาจากโลกตะวันตก แต่ไม่ชอบศึกษาโลกตะวันออกเพราะมักมีข้ออ้างว่าเป็นจีน เกาหลี สิงคโปร์ สนใจแต่ภาพลักษณ์ภายนอก เราต้องรู้จักประเทศตะวันออกมากขึ้น ศึกษาประเทศเหล่านี้ให้ดีแล้วจะได้เปรียบ”

ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า “สกว. มีบทบาทในการสนับสนุนทุนวิจัยให้ครอบคลุมทุกศาสตร์ มีการบริหารจัดการงานวิจัยอย่างเป็นระบบ มุ่งเน้นการผลักดันผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในทุกมิติ รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยให้มีคุณภาพในระดับสากล ทุกภารกิจที่ สกว. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นการสร้างรากฐานที่สำคัญให้แก่ระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทย ซึ่งแต่ละปี สกว. มีผลงานวิจัยจำนวนมากที่ล้วนมีคุณค่า และแม้ว่าขณะนี้ สกว. ได้เปลี่ยนบทบาทเป็น สกสว. ที่มีภารกิจหลัก ในการจัดทำและกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ตลอดจนจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) แต่การจัดพิธี มอบรางวัลผลงานวิจัยเด่น สกว. ประจำปี 2561 ยังคงดำเนินอยู่ เพื่อให้ประชาคมวิจัยและสาธารณะ เห็นต้นแบบการทำงานวิจัยที่สามารถส่งมอบประโยชน์แก่สังคม รวมทั้งเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรตินักวิจัย สกว. ที่ผลิตผลงานได้อย่างมีคุณภาพและเป็นส่วนช่วยขับเคลื่อนสังคมไทยตลอดมา”

สำหรับเกณฑ์ในการคัดเลือกผลงานวิจัยเด่นปีนี้คือ ต้องเป็นผลงานวิจัยที่ประสบผลสําเร็จ มีผู้ใช้ประโยชน์ และปรากฏผลเป็นที่ประจักษ์ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในวงการที่เกี่ยวข้อง หรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคม นําไปสู่การพัฒนาในวงกว้าง อีกทั้งต้องมีวิธีการวิจัยเป็นที่ยอมรับตามหลักวิชาการ โดยแบ่งกลุ่มพิจารณาตามลักษณะการนําผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ 5 ด้าน รวมทั้งสิ้น 13 ผลงาน ประกอบด้วย

ผลิตภัณฑ์ยาและการเกษตรจากใบกระทุ

ด้านนโยบาย จํานวน 1 ผลงาน ได้แก่ “อนาคตสิมิลัน บนความสมดุลของการท่องเที่ยว” โดย ผศ.ดร.ดรรชนี เอมพันธุ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้านสาธารณะ จํานวน 1 รางวัล ได้แก่ “การบูรณะ โบราณสถานเพื่อรากฐานการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน” ซึ่งมี รศ.ดร.นคร ภู่วโรดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าชุดโครงการ ด้านพาณิชย์ จํานวน 4 ผลงาน ได้แก่ “หุ่นยนต์สำหรับการขูดหน้ายางรถยนต์อัตโนมัติในกระบวนการผลิตยางหล่อดอก” โดย ผศ.ดร.ชนะ รักษ์ศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ “การผลิตเนื้อไก่ กรดยูริกต่ำจากไก่ลูกผสมพื้นเมืองเพื่อส่งเสริมศักยภาพการแข่งขันในตลาดอาหารสุขภาพในระดับอุตสาหกรรม” โดย ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา มหาวิทยาลัยขอนแก่น “การพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาสำหรับการเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นสารเคมีมูลค่าเพิ่ม” โดย รศ.ดร.ธงไทย วิฑูรย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ “เสื้อดมกลิ่นกายอัจฉริยะ” โดย ดร.ธารา สีสะอาด และ ผศ.ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล ด้านชุมชนและพื้นที่ จํานวน 4 ผลงาน ได้แก่ “การฟื้นฟูดินปนเปื้อนสารอันตรายด้วยอนุภาคนาโน เพื่อการผลิตพืชอาหารปลอดภัย โดยชุมชนเพื่อชุมชน : กรณีนำร่องนาข้าวปนเปื้อนแคดเมียม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก” โดย ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ มหาวิทยาลัยนเรศวร “บางชะนีโมเดล กระบวนการปรับตัวของ ชาวนาในพื้นที่ทุ่งรับน้ำ” โดย นางเรณู กสิกุล นักวิจัยเพื่อท้องถิ่น “งานวิจัยไร้พรมแดน 45 ปี แห่งการพลัดพรากสู่การฟื้นความสัมพันธ์ชุมชนท้องถิ่นชายแดนไทย-กัมพูชา” โดย นายรุ่งวิชิต คำงาม นักวิจัยเพื่อท้องถิ่น และ “นวัตกรรมการป้องกันกำจัดโรคเหี่ยวในกล้วยในประเทศไทย” โดย ดร.ปฏิมาพร ปลอดภัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ด้านวิชาการ จํานวน 3 ผลงาน ได้แก่ “นโยบายต่างประเทศไทยต่อประเทศเพื่อนบ้านในยุคสงครามเย็น : สี่กรณีศึกษาเปรียบเทียบ” โดย นายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูต “งานวิจัยมุ่งเป้าในการศึกษาสมุนไพรไทยและใช้เทคโนโลยีต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป เพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์” โดย ศ.ดร.ศุภยางค์ วรวุฒิคุณชัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ “นวัตกรรมอุปกรณ์กักเก็บพลังงานไฟฟ้าเคมี จากวัสดุผสมของกราฟีนแอโรเจล” โดย ผศ.ดร.มนตรี สว่างพฤกษ์ สถาบันวิทยสิริเมธี

จะเห็นได้ว่าความสำเร็จของทั้ง 13 ผลงาน ล้วนมาจากพลังปัญญาและความทุ่มเทของคณะผู้วิจัย รวมทั้งการได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ จนทำให้ผลงานวิจัยตอบโจทย์ความต้องการของสังคมและสร้างผลกระทบเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไปในทิศทางที่ดี ดังที่ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ และในโอกาสที่ สกว. ดำเนินงานมาเกือบ 3 ทศวรรษ กำลังเปลี่ยนผ่านสู่บทบาทใหม่เป็น สกสว. ซึ่งภารกิจต่อจากนี้ไปนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ทั้งเรื่องการทำแผนยุทธศาสตร์ ววน. ที่สอดรับกับระบบงบประมาณการสนับสนุนส่งเสริมระบบนิเวศที่จำเป็นเพื่อการขับเคลื่อนระบบ ววน.ของประเทศ รวมถึงการส่งเสริมการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) เพื่อให้เกิดศักยภาพในการสร้างผลลัพธ์ที่สามารถนำพาประเทศให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนไปบนฐานความรู้และนวัตกรรม ให้เป็นไปตามพันธกิจภายใต้วิสัยทัศน์ “เปลี่ยนแปลงสู่ความท้าทาย”