เงาะทองผาภูมิ ความภูมิใจของกาญจนบุรี

หากพูดถึง เงาะ ที่นิยมบริโภคในปัจจุบัน จะมีอยู่ด้วยกัน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ เงาะโรงเรียน เงาะสีชมพู เงาะสีทอง ฯลฯ แต่หากพูดถึงเงาะที่คนเมืองกาญจน์นิยมบริโภค ณ เวลานี้ คงหนีไม่พ้น “เงาะทองผาภูมิ”

สำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรี รายงานว่า “เงาะทองผาภูมิ” (Thong Pha Phum Rambutan) หมายถึง เงาะพันธุ์โรงเรียน เป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดกาญจนบุรี สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ มีลักษณะโดดเด่นคือ ผลค่อนข้างกลมเล็ก ขนสวย เปลือกบาง เมล็ดเล็ก เนื้อหนา หวาน ล่อน กรอบ ไม่ฉ่ำน้ำ พบพื้นที่ปลูกในอำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยค อำเภอสังขละบุรี และอำเภอศรีสวัสดิ์ พื้นที่ปลูกเงาะทองผาภูมิ จะมีลักษณะเป็นพื้นที่ดอน ดินทั่วไปเป็นดินร่วนปนดินเหนียว และเป็นป่ามีฝนตกบ่อยครั้ง ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศดังกล่าว เงาะที่ปลูกในพื้นที่ดังกล่าวจึงมีรสชาติ และมีความเป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากพื้นที่อื่น

เงาะทองผาภูมิ หวาน กรอบ ล่อน จากสวน

ในส่วนของอำเภอทองผาภูมิ มีพื้นที่ปลูกเงาะ จำนวน 1,054 ไร่ ให้ผลผลิต จำนวน 519 ไร่ โดยมีผลผลิตเฉลี่ย 620 กิโลกรัม ต่อไร่ ปัจจุบัน สำนักงานเกษตรจังหวัดกาญจนบุรีอยู่ในขั้นตอนดำเนินการจดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI)

คุณสำเริง บำรุงสุข เกษตรกรผู้เชี่ยวชาญเรื่องเงาะทองผาภูมิ

เกษตรตำบลหน้ามนคนเดิม จะพาไปพบกับ เจ้าของสวนเงาะทองผาภูมิ ที่มีรสชาติ และเอกลักษณ์ ถูกต้อง ตรงตามสายพันธุ์ที่ระบุไว้ เมื่อกล่าวเช่นนี้แล้ว คงหนีไม่พ้นสวนเงาะของ คุณนารี คนขยัน และ คุณสำเริง บำรุงสุข สองสามีภรรยา คู่ทุกข์คู่ยากที่ฟันฝ่าอุปสรรคด้านการทำสวนไม้ผลมาอย่างโชกโชน

พี่นารี เล่าให้ฟังว่า ตนเองและสามี เริ่มบุกเบิกการทำสวนไม้ผลบนพื้นที่ 9 ไร่ หมู่ที่ 7 ตำบลลิ่นถิ่น อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี แรกเริ่มเดิมทีนั้น ที่บริเวณนี้เป็นสวนยางพารา แต่ด้วยสามีของตนเองนั้นแพ้กลิ่นของสารเคมีที่ใช้สำหรับใส่ในน้ำยางพารา จึงตัดสินใจโค่นต้นยางพาราทิ้งทั้งหมด ช่วงนั้นก็ครุ่นคิดจะเอาต้นไม้ใดมาปลูกให้ได้ผลผลิตสำหรับไว้จำหน่าย ไม่นานก็เกิดแนวคิด ความที่พี่สำเริงเคยทำสวนผลไม้ที่อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี จึงมีความเชี่ยวชาญในด้านไม้ผล ทั้งสองนั่งปรึกษากันครู่ใหญ่ ก็ตัดสินใจเลือกที่จะปลูก “เงาะ”

คุณนารี คนขยัน นำผลผลิตมาจำหน่ายโดยตรงสู่ผู้บริโภค

หากพูดถึงการดูแลรักษา จนถึงการเก็บเกี่ยวเงาะทองผาภูมินั้น จะเป็นหน้าที่ของพี่สำเริง

พี่สำเริง ให้ข้อมูลว่า ตนเองนั้นจะมีหน้าที่ด้านการผลิต เปรียบเสมือนพ่อครัวในการปรุงอาหารให้ลูกค้า วัตถุดิบที่ใช้ปรุงต้องมีความสด สะอาด ปลอดภัย รสชาติอาหารถึงจะมีความอร่อย ดังนั้น ตนจึงให้ความสำคัญกับการดูแลบำรุงรักษาต้นเงาะของตนเอง โดยเลือกที่จะปฏิเสธการใช้สารเคมี “ใช้สารเคมีไม่ไหว คนกินตาย ลองไปดูสิคนแน่นโรงพยาบาล คนเดี๋ยวนี้กินอะไรก็ต้องของสวยๆ ผลไม้ก็ต้องไม่มีหนอน เป็นงูพิษทั้งนั้น” นี่คือ คำพูดของชายคนหนึ่ง ที่แม้เนื้อตัวจะมอมแมมจากการทำสวน แต่จิตใจข้างในกลับขาวสะอาด นึกถึงผู้บริโภคเป็นสำคัญ

พี่สำเริง กล่าวว่า แม้ตนเองจะมีความเชี่ยวชาญด้านการทำไม้ผล แต่ด้วยสภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศของจังหวัดกาญจนบุรีมีความแตกต่างจากจังหวัดจันทบุรี ตนเองจึงลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง จนได้วิธีการปลูกและดูแลรักษาต้นเงาะให้ออกผลผลิตและมีรสชาติหวาน กรอบ ล่อน อร่อย แตกต่างจากสวนอื่น สวนเงาะของตนนั้นจะใช้ระยะปลูก 12×12 เมตร ขุดหลุมขนาด 50×50 เซนติเมตร ก่อนการปลูกจะใช้ปุ๋ยคอกรองก้นหลุม หลุมละ 1 กิโลกรัม

สวยๆ น่ากิน

การดูแลรักษา

– ปีแรก ให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เดือนละ 1 ครั้ง โดยหว่านรอบขนาดของทรงพุ่ม

– ใช้น้ำหมักฮอร์โมนไข่+น้ำหมักสารชีวภาพ ฉีดพ่นให้ทั่วต้น เพื่อเป็นการบำรุงต้น และป้องกันแมลง โดยให้ดูแลรักษาแบบนี้อย่างต่อเนื่อง จนต้นเงาะมีอายุ 3 ปี

เมื่อต้นเงาะมีอายุ 3 ปี ต้นจะมีความสมบูรณ์พร้อมที่จะให้ผลผลิต เทคนิคสำคัญที่พี่สำเริงใช้ ในการทำให้เงาะติดผลผลิต ลักษณะผลสวย และมีรสชาติหวานไม่เหมือนกับสวนอื่นนั้น คือ

  1. การสังเกตใบ หากใบมีลักษณะใบไหม้ ปลายใบแหลมเป็นหัวปลาหลด จะไม่มีการให้น้ำ ถ้าหากมีการให้น้ำในระยะนี้ จะทำให้เงาะที่ติดผลนั้นมีรสชาติเปรี้ยว
  2. เมื่อใบมีลักษณะปลาบใบทู่ สีเขียวเข้ม เป็นมันวาว ให้เริ่มให้น้ำในปริมาณน้อย หากสังเกตเห็นช่อดอกยาว 10 เซนติเมตร ให้เพิ่มปริมาณการให้น้ำ

พี่สำเริง กระซิบบอกว่า เทคนิคการให้น้ำเป็นเรื่องที่สำคัญและละเอียดอ่อนมาก “ถ้าหากให้น้ำมากเกินไป จะทำให้เกิดใบอ่อน ไม่ติดดอก หากให้น้ำน้อยเกินไปจะทำให้ดอกร่วง” ดังนั้น จึงเป็นความสามารถเฉพาะตัว

คุณนารี คนขยัน กับ ผู้เขียน

เมื่อกล่าวถึงการให้น้ำ ดังที่กล่าวมาแล้ว พี่สำเริงจึงกล่าวเสริมขึ้นว่า ปกติสวนเงาะทางจังหวัดจันทบุรี จะให้น้ำแบบสปริงเกลอร์ เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด แต่สำหรับสวนเงาะของอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรีนั้น จะใช้วิธีการให้น้ำแบบรดด้วยสายยาง โดยจะรดให้น้ำไหลซึมออกห่างจากโคนต้น ประมาณ 1 เมตร หลังจากรดน้ำแล้วให้ฉีดน้ำล้างต้น และทรงพุ่ม กระทำเช่นนี้ทุกครั้ง เป็นเวลา 2 เดือน พี่สำเริงเน้นย้ำว่า การให้น้ำนั้น ต้องตรงต่อเวลา หากกำหนดรดน้ำทุกวันจันทร์ ก็ต้องรดน้ำทุกวันจันทร์ จะเกินหรือขาดไม่ได้แม้แต่วันเดียว จะมีผลต่อการติดดอกของเงาะ

  1. เมื่อเงาะติดดอกแล้ว ให้ใช้สารจิบเบอเรลลิน ผสมกับ ฮอร์โมนขั้วเหนียว อัตราที่ใช้ ดังนี้

3.1 จิบเบอเรลลิน อัตรา 1 เม็ด ต่อน้ำ 200 ลิตร

3.2 ฮอร์โมนขั้วเหนียว อัตรา 1.5 ลิตร ต่อน้ำ 400 ลิตร

  1. ตัดแต่งกิ่งอ่อนออก เพื่อไม่ให้ไปเลี้ยงลูกและปลายใบ
  2. หากพบการระบาดของเพลี้ยไฟ ไรแดง ให้นำกำมะถัน อัตรา 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 600 ลิตร ฉีดรอบทรงพุ่ม
  3. เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้ตัดแต่งกิ่งข้าง และกิ่งกระโดง หลังจากนั้นให้ใส่ปุ๋ยคอกรอบๆ โคนต้น ทำแบบนี้ทุกครั้ง เมื่อหมดฝนจึงเริ่มกลับมาทำลูกใหม่อีกครั้ง

พี่สำเริง กล่าวทิ้งท้ายว่า สวนเงาะของตนนั้นจะให้ผลผลิตประมาณ 1.5 ตัน ต่อปี ราคาจำหน่ายหน้าสวน กิโลกรัมละ 50-60 บาท “ไม่อยากขายแพง อยากให้คนอื่นได้กินในราคาถูก” เคยมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อที่สวนของตนแล้วนำไปขายราคาแพงมาก เห็นแล้วเขาเอาเปรียบผู้บริโภคมากเกินไป ตนจึงให้ภรรยานำไปวางขายเองที่บริเวณตำบลหินดาด ไม่ไกลจากสวนมากนัก

ทุเรียน ถูกจองแล้ว

พี่นารี กล่าวเสริมขึ้นมาว่า อนาคตจะเปิดสวนผลไม้ให้นักท่องเที่ยวเข้ามากินแบบบุฟเฟ่ต์ โดยคิดค่าเข้าสวนเป็นรายคน กินให้อิ่มแล้วค่อยกลับ เพราะสวนของตนนั้น นอกจากมีเงาะทองผาภูมิที่เป็นผลไม้เด่นแล้ว ยังมีทุเรียนหมอนทอง และลองกอง ที่มีรสชาติหวานหอม ไม่แพ้ทางภาคใต้ หรือทางตะวันออก ให้นักท่องเที่ยวลองเข้ามาลองลิ้มชิมรสอีกด้วย

ลองกอง ที่กำลังติดผลรอนักท่องเที่ยวมาลิ้มลอง
ทุเรียนหมอนทอง จองหมดแล้วนะครับ

ทั้งนี้ หากนักท่องเที่ยวท่านใดอยากกินผลไม้ชั้นดี รสชาติอร่อย ที่ขึ้นชื่อของอำเภอทองผาภูมิ อาทิ เงาะทองผาภูมิ ทุเรียน ส้มโอ มังคุด ลองกอง มะไฟ สะตอ สับปะรด ฯลฯ ซึ่งปลูกได้ผลผลิตดีในพื้นที่อำเภอทองผาภูมิ การจำหน่ายพืชผักปลอดสารพิษ พันธุ์ไม้ท้องถิ่น สินค้าโอท็อปชื่อดัง คาราวานสินค้าราคาถูก ชมการสาธิต และการแสดงศิลปวัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆ อาทิ มอญ กะเหรี่ยง ลาว ม้ง เย้า ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอทองผาภูมิ

พบกันได้ที่งานวันผลไม้ของดีอำเภอทองผาภูมิ และสืบสานประเพณี ลานบ้าน ลานวัฒนธรรม ปี 2562 ในระหว่าง วันที่ 28 มิถุนายน – 2 กรกฎาคม 2562 ณ บริเวณสนามลานจอดเฮลิคอปเตอร์ เขื่อนวชิราลงกรณ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี เบอร์โทรศัพท์ 034-599-482 ต้องการซื้อผลผลิต สอบถามที่ คุณนารี คนขยัน เบอร์โรศัพท์ 065-968-4996