“ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์” สะสมความรู้ พลิกผืนนา 7 ไร่ สร้างรายได้หลักพันต่อวัน

อาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่หลายคนมองว่าลำบากทำไปก็เหนื่อยเปล่า แต่ก็ยังมีอีกหลายคนมองอาชีพเกษตรเป็นทางรอด ต่างคนต่างทัศนคติ แต่สำหรับคนที่มีทางเลือกน้อย วุฒิการศึกษาไปแข่งกับคนอื่นไม่ได้ จึงมองว่าหากไม่ย่อท้อ มีมันสมองและสองมือ อาชีพเกษตรอาจจะเป็นทางรอดที่ยั่งยืนให้เขาในอนาคตก็เป็นได้

คุณศุภชัย เณรมณี หรือ คุณกอล์ฟ อยู่บ้านเลขที่ 65 หมู่ที่ 5 ตำบลมงคลธรรมนิมิตร อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง เกษตรกรผู้สู้ชีวิตไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา เล่าว่า อดีตตนเองทำงานเป็นจับกังได้ค่าแรงวันละร้อยกว่าบาท แต่ก็ต้องยอมเพราะมีทางเลือกไม่มาก เรียนจบแค่ ป.3 ไปสมัครงานบริษัทเขาก็ไม่รับเพราะไม่มีคุณสมบัติที่เขาต้องการจึงต้องยอมลำบากทำงานรับจ้างได้ค่าแรงหลักสิบหลักร้อย แต่ต้องเลี้ยงคนที่บ้านอีก 7 ชีวิต พ่อแม่ก็ต้องช่วยกันเก็บผักจับปลามาเป็นอาหาร มีนาข้าวก็ทำได้ปีละครั้ง

สมัยนั้นข้าวมีราคาเกวียนละแค่ 3,500 บาท ใช้จ่ายได้สามสี่เดือนก็หมดต้องไปเชื่อร้านค้ากินเป็นอาทิตย์ชนอาทิตย์ ภรรยาก็เพิ่งคลอดลูกจะมาอยู่แบบเดิมไม่ได้แล้ว มีลูกเพิ่มมาอีกชีวิตต้องหาทางทำอะไรสักอย่าง เลยหันมาสังเกตวิถีชีวิตที่ตัวเองอยู่ มีผักให้เก็บกิน แล้วถ้ากินจนอิ่มแล้วเปลี่ยนเป็นเงินจะดีไหม อาชีพเกษตรไม่ต้องใช้วุฒิน่าจะตอบโจทย์เราได้ดีที่สุด

พลิกชีวิตจากจับกังเป็นเกษตรกรมืออาชีพ ด้วยการสะสมองค์ความรู้จาก กศน. และโครงการยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์

เจ้าตัวเล่าว่า ตอนนั้นมีพื้นที่พอที่จะทำเกษตรอย่างอื่นได้ แต่ด้วยความที่ยังยึดติดวิถีชีวิตแบบเดิมๆ คือทำนา รอฝนรอฟ้า แต่เมื่อลองเปลี่ยนแนวคิดหันมามองพืชผักที่ขึ้นอยู่รอบบ้าน ทั้งมะเขือ พริก ใบกะเพรา เราเก็บมากินทำให้เราอิ่มท้องแล้วถ้าเหลือจากกินแล้วเอาไปขายจะได้ไหม มะเขือ 1 ต้น เราเก็บได้ 4-5 ขีด จึงลองเก็บสะสมใส่ตู้เย็นหลายๆ วันรวมกันได้ 5-10 กิโลกรัม นำไปขายที่ตลาดได้ถุงละ 100 บาท จึงคิดว่าเก็บมะเขือแค่ไม่กี่นาทีมีเงินร้อยเข้ากระเป๋าเท่ากับเราทำงานทั้งวัน แล้วถ้าเราจะปลูกมะเขือมากกว่า 5 ต้น ปลูกเป็น 50-100 ต้น จะดีแค่ไหน จึงเริ่มคิดว่าจะหันมาทำอาชีพเกษตร แต่ก็ต้องเจอกับอุปสรรคคือสมัยก่อนเทคโนโลยียังเข้าไม่ถึง จะหาข้อมูลอะไรสักอย่างต้องเดินทางไปหาหนังสือ

บ้านเราก็อยู่ไกลจากตัวเมือง ค่อนข้างลำบาก แต่ก็ไม่ยอมแพ้ไปหาอ่านจนได้ ตอนนั้นมีเรื่องอะไรเกี่ยวกับเกษตรเราหาอ่านทุกเรื่อง ยุคตนเองเป็นยุคของปราชญ์ มีเรื่องราวของปราชญ์ชาวบ้านที่ประสบความสำเร็จเต็มไปหมด แต่เสนอเพียงสกู๊ปสั้นๆ ซึ่งในความเป็นจริงไม่เหมือนในหนังสือ ชีวิตจริงมีอุปสรรคมากมาย ทำให้เรารู้ว่าความรู้แค่ในหนังสือไม่พอ

เขาจึงเริ่มเปลี่ยนวิธีจากอ่านหนังสือเป็นการเข้าหาคน เข้าหาเกษตรจังหวัด เข้าหาหน่วยงานให้เขาช่วยแนะนำ จนมีโอกาสได้ศึกษาต่อที่ กศน. ช่วงเรียนก็หาความรู้ไปเรื่อยๆ จากหนังสือ จากเจ้าหน้าที่ เริ่มมีความรู้มากขึ้น เริ่มคิดวางแผนได้มากขึ้น ซึ่งช่วงที่เรียน กศน. ก็ยังทำเกษตรอยู่ ดีบ้างไม่ดีบ้างจนผ่านช่วงที่สะสมประสบการณ์มาระยะ 2-3 ปี มาประกอบกับความรู้ใหม่ที่เพิ่มเติมขึ้นมา เริ่มมีความมั่นใจที่จะหันมาทำอาชีพเกษตรอย่างเต็มตัว เปลี่ยนผืนนา 7 ไร่ เป็นเกษตรผสมผสาน กศน.สอนให้รู้จักว่าเกษตรทฤษฎีใหม่คืออะไร ช่วงแรกทำตามแบบแผน คือ 30-30-30-10 แบ่งเป็นโซนไว้เลี้ยงปลา ปลูกผัก ปลูกข้าว

เมื่อสวนเริ่มมีระบบมากขึ้น จากที่เคยขายผักได้วันละ 100 บาท ก็กลายเป็นวันละ 200-300 บาท จนกระทั่งมีรายได้วันละ 1,000 บาท ในช่วงระยะเวลาแค่ 2 ปี มีรายได้วันละ 1,000 บาท 1 เดือนเท่ากับ 30,000 บาท สำหรับตนเองพอใจมากเพราะได้ทำงานที่บ้านอยู่กับครอบครัว เริ่มมีสถาบันชีวิตครอบครัวที่ดีขึ้น เริ่มมีเงินหมุนเงินใช้ ทำแบบนี้มาเรื่อยๆ จนถึง พ.ศ. 2557 ปีนั้นเป็นปีที่ทางกรมส่งเสริมการเกษตรมีโครงการยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ช่วงอายุเราอยู่ในเกณฑ์จึงมีโอกาสได้รับคัดเลือกเข้าอบรมเป็นยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ คราวนี้จากเดิมที่มีความรู้จากการอ่านหนังสือ จากที่เรียนมาสอนให้เราทำเกษตรอย่างเป็นระบบ เครือข่ายยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์จากทั่วประเทศสอนให้เราพัฒนาการเกษตรให้เป็นเชิงธุรกิจมากขึ้น

 

วางแผนทำสวนผสมตามศาสตร์พระราชา 30-30-30-10
มีรายได้เข้าบ้านทุกวัน

จากเดิมคุณกอล์ฟมีพื้นที่ทำสวนเพียง 7 ไร่ ปัจจุบันขยายแปลงปลูกเกษตรผสมผสานปลูกผักเลี้ยงสัตว์บนเนื้อที่กว่า 40 ไร่ โดยแบ่งสัดส่วนตามศาสตร์พระราชา 30-30-30-10 แบ่งตามสัดส่วนที่ว่ามานี้ทำให้เราจัดการแปลงได้เป็นระบบและง่ายต่อการจัดการ

30 ที่หนึ่ง…ทำเป็นแหล่งน้ำ ที่สวนนี้เน้นน้ำเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจุดที่อยู่ค่อนข้างอยู่ไกลจากคลองชลประธาน เพราะฉะนั้น ต้องเจาะน้ำบาดาลและขุดบ่อไว้รอน้ำฝน ที่นี่มีบ่อเก็บน้ำขนาด 30×70 เมตร อยู่ 2 บ่อ สามารถจัดการน้ำรดผักได้ตลอดปี เพราะจะมีการวางแผนการให้น้ำต่อพืชแต่ละชนิด แบ่งตามความเหมาะสมว่าพืชชนิดนี้เหมาะกับระบบน้ำแบบไหนและช่วยประหยัดน้ำได้มากที่สุด

1. ระบบน้ำหยด เหมาะกับพืชตระกูลแตง พืชตระกูลแตงไม่ชอบให้น้ำโดนใบอยู่แล้ว ถ้าโดนมากเชื้อราจะเกิด เพราะฉะนั้น ให้ระบบน้ำหยดก็พอเพื่อลดการสิ้นเปลือง ให้เฉพาะจุดและให้เป็นเวลา

2. ระบบน้ำพุ่ง เหมาะกับพืชที่ชอบความชุ่มชื้น เราสามารถสั่งที่ร้านได้ว่าต้องการระยะกี่เซนติเมตร

3. ระบบมินิสปริงเกลอร์ เหมาะกับพืชที่ไม่ชอบน้ำรุนแรง เช่น กะหล่ำปลีที่ไม่อยากได้แรงปะทะจากน้ำตรงๆ แต่ถ้าเป็นพืชที่ต้องการน้ำชุ่ม เช่น กวางตุ้ง ผักบุ้ง คะน้า ก็ให้ในรูปแบบสปริงเกลอร์ น้ำจะแรงขึ้นมาหน่อย เราพยายามเลือกระบบน้ำให้เหมาะสมกับพืช เพื่อการประหยัดน้ำและรักษาความสมบูรณ์ของผลผลิตให้ได้มากที่สุด

30 ที่สอง…พื้นที่สำหรับทำการเกษตร ปลูกข้าวไว้แค่พอมีกินพอเลี้ยงคนงานได้ ส่วนที่เหลือใช้ปลูกผักสารพัดอย่าง ปลูกผักที่คนกินทุกวัน ผักลูก มะเขือแทบทุกชนิด บวบ มะระ ผักใบ กวางตุ้ง คะน้า ผักบุ้งจีน ต้นหอม ผักชี ไม้ยืนต้น มะม่วง มะพร้าวน้ำหอม และผักชนิดอื่นๆ อีกมากมายตามฤดูกาลที่เหมาะสม

30 ที่สาม…พื้นที่สำหรับเลี้ยงสัตว์ เราเลี้ยงเป็ดไข่กว่า 100 ตัว ไก่ไข่ 50 ตัว เลี้ยงไว้กินและขาย ไข่เป็ดที่ได้เรานำไปขายในกลุ่มคนทำขนม ทำไข่เค็ม ส่วนไก่ไข่เราขายให้ตามร้านค้าในหมู่บ้านร้านละ 1-2 แผง ถ้าเขาขายหมดเราก็ไปเปลี่ยนถาดใหม่ให้ หรือขายขาดฟองละ 2.50 บาท ร้านค้าจะไปขายต่อเท่าไรก็แล้วแต่เขา ส่วนฟองเล็กก็เก็บไว้กินเอง จะเห็นได้ว่าเราสามารถสร้างประโยชน์จากสิ่งที่เรามีได้รอบทิศ เรื่องอาหารก็ใช้ผักผลไม้ในสวนให้กิน หรือข้าวเราก็ปลูกเองสีเองเป็นอาหารให้เป็ดไก่กิน ต้นทุนถือว่าแทบเป็นศูนย์

10 สุดท้าย…เป็นที่อยู่อาศัย และโรงงานเล็กๆ ไว้แพ็กผักส่งขายห้างสรรพสินค้า

 

ทั้งปลูกผักและเลี้ยงสัตว์หลายชนิด
ดูแลอย่างไรให้ทั่วถึง

ทั้งปลูกผักและเลี้ยงสัตว์หลากหลายชนิดหลายคนสงสัยว่า ต้องดูแลอย่างไรให้ทั่วถึง ซึ่งจริงๆ แล้วการทำเกษตรผสมผสานทำไม่ยาก หากเกษตรกรมีการวางแผนระบบสวนให้พร้อมตั้งแต่กระบวนการแรก ถ้าทำกระบวนการแรกแข็งแรงแล้ว กระบวนการถัดมาจะกลายเป็นเรื่องง่าย

การเตรียมแปลง
พืชแต่ละชนิดต่างกัน เราต้องรู้จักนิสัยพืชก่อน ว่าพืชที่ปลูกเป็นพืชผักชนิดไหน มีอายุเก็บเกี่ยวกี่วัน หลังเก็บเกี่ยวจะลงปลูกอะไรต่อ เมื่อมีข้อมูลเราก็ต้องมาจัดโซนปลูก เช่น แปลงนี้ปลูกมะเขือ มะเขือถ้าดูแลแปลงดีสามารถอยู่ได้นานเป็นปี เพราะฉะนั้น แปลงต่อไปต้องเป็นพืชล้มลุก ต้องแบ่งการปลูกพืชตามอายุของพืชด้วย เพื่อง่ายต่อการจัดสรรรายได้เข้าบ้าน มีทั้งพืชเก็บขายรายวัน เก็บขายรายสัปดาห์ และเก็บขายรายเดือน ทำอย่างไรก็ได้ให้มีรายได้เข้ามาจุนเจือในระบบทุกวัน

การดูแล
ที่สวนนี้ทำเกษตรตามมาตรฐานจีเอพี เพราะยังต้องใช้สารเคมีเข้ามาช่วยอยู่บ้างเนื่องจากยังมีโรคแมลงบางชนิดที่สารชีวภัณฑ์กำจัดไม่ได้ เราพยายามหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีหรือใช้ให้น้อยที่สุด จะใช้วิธีสังเกตจากธรรมชาติ พยายามปลูกพืชไม่ซ้ำกันในแปลงเดิมเพื่อหลอกแมลง อย่างครั้งนี้เคยกินคะน้า ครั้งหน้ามากินไม่ได้แล้ว เราอาจจะเปลี่ยนคะน้าเป็นผักชีเพราะกลิ่นฉุนแมลงไม่ชอบ ถือเป็นการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นได้เป็นอย่างดี

ต้นทุนการผลิตไม่จำเป็นต้องทำให้ถูกที่สุด
แน่นอนว่าใครก็อยากลดต้นทุนในการผลิต แต่อย่าลืมคำนึงถึงความสมเหตุสมผล ไม่ควรหักโหมลดจนเกินความจำเป็น หากลดโดยที่ไม่มีเหตุผลอาจจะส่งผลเสียให้เราได้ในอนาคต เช่น อยากจะปลูกพืชตระกูลแตง จำเป็นจะต้องปักค้างก็ให้เลือกค้างที่มีความแข็งแรง เลือกไม้ที่มีความหนาทนทานต่อสภาพอากาศ อย่าเห็นแก่ของถูก ค้างไม่แข็งแรง ถ้าถึงช่วงที่ต้องเก็บผลผลิตแล้วเกิดฝนตกลมแรงค้างหักอันนี้ถือว่าได้ไม่คุ้มเสีย

หรือในเรื่องของระบบน้ำใช้อย่างไรให้ประหยัด เกษตรกรบางคนใช้เรือในการรดน้ำผักไม่ต้องเสียเงินทำระบบน้ำแต่ต้องใช้เวลานานถึง 5 ชั่วโมงถึงจะรดน้ำเสร็จ สิ้นเปลืองทั้งน้ำมันและแรงงาน หากลงทุนเพิ่มอีกสักหน่อยใช้ระบบปั๊มน้ำเข้าสวน แบบไหนจะประหยัดกว่ากัน ระบบปั๊มน้ำลงทุนครั้งแรกจะมากหน่อยแต่คุ้มในระยะยาว จากเคยรดน้ำ 5 ชั่วโมง อาจเหลือแค่ 1 ชั่วโมง เกษตรกรอาจต้องคำนึงตรงส่วนนี้ให้มากขึ้น

 

วางแผนการตลาดจากการใช้ชีวิตประจำวัน

คุณกอล์ฟ บอกว่า การหาตลาดอันดับแรกต้องคิดไปถึงหลักความเป็นจริง ในทุกวันครอบครัวเรากินผักอะไร ในชุมชนกินอะไร และภาพรวมของประเทศกินอะไร อยากเจาะตลาดคนกลุ่มไหน ตลาดชุมชน ตลาดในอำเภอ หรือตลาดในเมืองที่มีกำลังซื้อเยอะๆ

ถ้าเลือกกลุ่มเป้าหมายได้แล้ว กำลังการผลิตพร้อมก็ลงมือทำ ซึ่งถ้าอยากโตเร็วเราต้องไปหาแหล่งที่เขาปลูกไม่ได้ นั่นคือสังคมเมืองใหญ่ที่เขาต้องการผักเรา เราก็พยายามป้อนผลผลิตเข้าไปในกลุ่มที่เขาต้องการ พูดง่ายเราป้อนเข้าเมืองเพื่อขยายการตลาดให้สินค้าเรามีโอกาสขายได้มากขึ้น ปัจจุบันที่สวนมีผักส่งขายทั้งปี 365 วัน ส่งทั้งตลาดไท สี่มุมเมือง ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต มีรายได้เข้าสวนทุกวัน

 

ฝากถึงเกษตรกรรู้จักจดบันทึกรายรับ-จ่าย
เพื่อรู้จุดบกพร่อง

“ขอฝากเกษตรกรทั้งมือใหม่และมือเก่าเลยว่า การทำเกษตรถ้าอยากเห็นทุนเห็นกำไรจะต้องมีการจดบันทึกรายรับรายจ่าย อย่างที่ฟาร์มเรามีการทำบัญชีรายรับรายจ่ายมาตั้งแต่เริ่มแรก ทำเพื่อให้รู้ว่าในการทำเกษตรแต่ละครั้งเราใช้เงินลงทุนไปเท่าไร มีรายรับเท่าไร ได้กำไรหรือขาดทุน เมื่อถึงเวลาถ้าขาดทุนเราจะมีข้อมูลละว่ารอบนี้ขาดทุนจากอะไร ใส่ปุ๋ยมากไป หรือจ้างแรงงานมากไปไหม ถ้าจดเราจะรู้หมด เพื่อการลงทุนในครั้งหน้าจะได้วางแผนตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออก เกษตรกรจะเห็นกำไรมากขึ้น” คุณกอล์ฟ บอก

สำหรับท่านที่สนใจเรียนรู้การทำเกษตรผสมผสานกับคุณกอล์ฟ สามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. (094) 491-8133

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562