เผยแพร่ |
---|
ที่ลานแสดงนิทรรศการปลาแซบหลาย ปลอดภัยอีหลีเด้อ ภายในงานวันเกษตรแห่งชาติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.นพ. ณรงค์ ขันตีแก้ว หัวหน้าโครงการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ ศ.ดร. พวงรัตน์ ยงวณิชย์ เลขาธิการมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี เสวนา “นวัตกรรม อาหารปลอดภัย ปลาปลอดพยาธิ” เพื่อเน้นย้ำการบริโภคที่ปลอดภัยให้กับคนอีสาน ที่เสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี พร้อมกับเปิดตัวชุดทดสอบการตรวจหาพยาธิใบไม้ตับที่คิดค้นโดยทีมนักวิจัย ม.ขอนแก่น ครั้งแรกของโลกที่คิดค้นจากฝีมือของคนไทย
รศ.นพ. ณรงค์ กล่าวว่า แม้การรณรงค์ของโครงการดังกล่าวจะดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 3 ปี แต่ยังพบผู้ป่วยที่อยู่ในเกณฑ์ที่สูงขึ้นทุกปี โรคดังกล่าวต้องตรวจจึงจะค้นพบ และกลุ่มอายุที่พบว่าป่วยคือ 40 ปีขึ้นไป และพบมากในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ขณะที่การลงพื้นที่ตรวจคัดกรองหาผู้ป่วยในปีที่ผ่านมาพบว่า จังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดนครพนม มีอัตราของการพบผู้ป่วยสูงสุด สาเหตุมาจากการรับประทานปลาดิบ หรือปลาสุกๆ ดิบๆ
พฤติกรรมของคนอีสานยังคงนิยมบริโภคอาหารสุกๆ ดิบๆ เชื่อว่าบีบมะนาวลงไปปลาจะสุก แต่พยาธิใบไม้ตับนั้นไม่ตายไป โดยเฉพาะกลุ่มปลาเกล็ดขาว เช่น ปลาตะเพียน ปลาสร้อย ทำให้แผนการรณรงค์และการให้ข้อมูลที่ถูกต้องจะยังคงต้องเข้มข้น ขณะเดียวกันทีมนักวิจัยคิดค้นอุปกรณ์สำหรับการตรวจคัดกรองที่สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ด้วยชุดตรวจพกพา คล้ายกับชุดตรวจสอบการตั้งครรภ์ ขณะนี้ยื่นขอจดสิทธิบัตรแล้ว
ขณะนี้ชุดตรวจหาพยาธิใบไม้ตับด้วยปัสสาวะ อยู่ในขั้นตอนของการผลิตชุดแรก 100,000 ชิ้น คาดว่าจะนำมาใช้งานได้ในเดือนพฤษภาคมนี้ ชุดตรวจหาพยาธิใบไม้ตับด้วยปัสสาวะชุดแรกจะส่งมอบให้กับกระทรวงสาธารณสุข แจกจ่าย อสม. ตรวจคัดกรองผู้ป่วยในภาคอีสานเป็นอันดับแรก
ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด