คำแนะนำสูตรปุ๋ยนาข้าวภาคกลาง กับภาคอีสาน แตกต่างกัน

สภาพธรรมชาติ ดินในภาคกลางของประเทศไทยเป็นดินเหนียว ธาตุโพแทสเซียม (K) พอเพียงกับความต้องการของต้นข้าว ดังนั้น กรมการข้าวจึงแนะนำให้ใช้ปุ๋ย สูตร 16-20-0 (N-P-K) ถ้าใส่ธาตุโพแทสเซียม (K) ลงไปด้วยจะเป็นการสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ ส่วนดินในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทรายถึงดินทราย ดินประเภทนี้จะขาดธาตุโพแทสเซียม (K) ดังนั้น คำแนะนำของกรมการข้าวให้ใส่ปุ๋ย สูตร 16-16-8 จึงจะได้ผลผลิตดี อย่างไรก็ตาม ในแต่ละปีควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ให้บ้าง เช่น ฟางข้าว เศษไม้ใบหญ้า หรือปุ๋ยมูลสัตว์ เพื่อช่วยให้ดินร่วนซุย และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดินในนาอีกทางหนึ่ง

มารู้จักกับปุ๋ยกันอีกสักนิด ปุ๋ยเคมีที่มีขายทั่วไป เช่น สูตร 15-15-15 เกษตรกรนิยมเรียกว่า ปุ๋ยสิ้นคิดความจริงแล้ว ปุ๋ยเคมีเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ทั้งนี้ ปุ๋ยที่มีธาตุอาหารฟอสฟอรัส (P) และโพแทสเซียม (K) นำขึ้นมาจากใต้พิภพ ส่วนปุ๋ยยูเรีย (N) มีโครงสร้างเหมือนกับน้ำปัสสาวะของมนุษย์ทุกประการ ปุ๋ยยูเรียได้จากผลพลอยได้ของขบวนการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม

ทั้งนี้ ธาตุไนโตรเจน (N) ทำให้ใบเขียว ต้นเติบโตขึ้น ธาตุฟอสฟอรัส (P) บำรุงรากและเร่งการออกดอก ส่วน ธาตุโพแทสเซียม (K) เร่งขบวนการเคลื่อนย้ายแป้งและน้ำตาลไปยัง ผล ต้น หรือ หัว ขึ้นอยู่กับชนิดของพืช เพิ่มเติมปุ๋ย สูตร 15-15-15 หมายถึง ปุ๋ยน้ำหนัก 100 กิโลกรัม ต้นไม้นำธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ไปใช้ประโยชน์ได้ (15+15+15) 45 กิโลกรัม ส่วนเกินอีก (100-45) 55 กิโลกรัม เรียกว่า สารตัวเติม