พญาสัตบรรณ จาก “เท้าเป็ด” เป็นถึง “พระยา” จะเขียนตำรา ก็ต้องเรียกหา…ดินสอ

พญาสัตบรรณ
ชื่อวิทยาศาสตร์ Alstonia scholaris R. Br.
ชื่อวงศ์ APOCYNACEAE
ชื่อสามัญ Dita, Shaitan wood, Devil tree.

ผมภูมิใจกับตัวเองมากที่ได้เป็นต้นไม้มงคลพระราชทาน ประจำจังหวัดสมุทรสาคร และมีคำนำหน้าว่า “พญา” ฟังดูแล้วเป็นเหมือนผู้ดีเก่า ที่คลุกคลีกับชาวบ้านทั่วไปไม่ถือเนื้อถือตัว จนกระทั่งลดตัวลงมาเป็นสามัญชน คนรุ่นหลังๆ เรียกกันง่ายๆ ว่า “ตีนเป็ด” จริงๆ น่าจะให้ผมเป็น “ท่านท้าว” ดูจะดีกว่า แต่ไม่เป็นไร

เพราะผมยังภูมิใจในความเป็น “พญา” อยู่ดี กับรูปทรงพุ่ม ทรงต้น ที่มีความสูงสง่า เพรียวลม ลำต้นตรง แข็งแรง เพียงแต่เนื้อในลำต้นเท่านั้น ที่เขาจัดไว้ในประเภท “ไม้เนื้ออ่อน” แต่สิ่งนี้แหละคือสิ่งที่ผมภูมิใจมากกว่าใดๆ เนื่องจากผมเชื่อว่า ผมเคยอยู่ในมือของทุกคนที่เข้าโรงเรียน เรียนหนังสือ ตั้งแต่ ก.ไก่ ข.ไข่ ชั้นอนุบาลจนเป็น ดอกเตอร์ หรือเป็น ศาสตราจารย์ ซึ่งสมัยก่อนอาจจะเป็นถึง “เจ้าพระยา”

ผมเชื่อว่า ถ้าใครไม่เคยมีผมอยู่ในมือ เพื่อหัดเขียน ก.ไก่ ก.กา แล้ว ไม่มีวันที่จะได้เป็น “บัณฑิต” หรอก ในที่นี้หมายถึง ผมก็เป็นหนุ่มทันสมัยคือหลังรุ่น “ดินสอหินกระดานชนวน” นะครับ พูดตรงๆ ก็แล้วกันว่า ทุกคนที่รู้หนังสือ ก็ต้องหัดเรียนรู้ด้วย “ดินสอ” และกระดาษ ซึ่งผมนี่แหละที่เขาใช้แปรรูป ทำเป็นทั้งสองสิ่งนี้ คุณอาจจะมองข้ามผมไป ไม่รู้ว่า “ดินสอ” ที่ทำให้คุณรู้หนังสือทำมาจาก “ไม้ตีนเป็ด” หมายถึงส่วนที่เป็นแท่งไม้นะครับ สำหรับไส้ดินสอที่เขียน ก็ใช้วัสดุผสมอื่นๆ เช่น กราไฟต์ ผงสี ดินเหนียว ขี้ผึ้ง กาว ตามชนิดใช้งาน

ผมขอคุยเรื่อง “ดินสอ” หน่อยนะครับ เพราะผมคือวัตถุดิบหลักที่ต้องใช้หากจะกล่าวถึงประเทศที่มีชื่อเสียงก็คือ อินโดนีเซีย ที่เกาะสุมาตรา ซึ่งเขาใช้ไม้ “เยลูตุง (Jelutong)” ที่มีอายุเกิน 9 ปี สำหรับในเมืองไทยก็ใช้ ไม้งิ้ว ไม้ตีนเป็ดแดง ไม้ตีนเป็ด

ซึ่งผมก็อยู่ในตระกูลกลุ่มไม้ทำแท่งดินสอด้วย วิธีการก็คือ เขาแปรรูปไม้เป็นแผ่นบางๆ มาเซาะร่องเพื่อใส่ไส้ดินสอ ประกบอัดกาว เป็นแท่งที่เราเห็น นำไปอบให้ติดกัน แล้วตัดเป็นท่อนๆ ตามที่เราเขียนอยู่ทุกวันนี้ โดยเลือกใช้ไส้ดินสอตามระดับความเข้ม ระดับ H หรือ B คุณสมบัติของไม้ตีนเป็ดที่เหมาะทำแท่งดินสอเพราะมีเสี้ยนตรง เนื้อละเอียด เบา เหลาง่าย

นอกเหนือจากจุดเด่นที่ทำแท่งดินสอแล้ว ผมยังเป็นไม้สมุนไพรไทยพื้นบ้านด้วย แต่ก็อยู่ในกลุ่มไม้หวงห้าม พ.ศ. 2530 เป็นไม้โตเร็ว ลำต้นสูงได้มากกว่า 30 เมตร โคนต้นมีพูพอน เปลือกต้นหนา ดอก ขนาดเล็กสีขาวอมเขียว กลีบดอกมีขนปุกปุย ผล เป็นฝักยาวห้อย เมื่อแก่จะแตกปลิวกระจาย เนื้อไม้ไม่มีแก่น ไสกบ ตกแต่งง่าย เหมาะสำหรับปลูกในระบบนิเวศร่วมปัจจัยสิ่งแวดล้อม ขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด คุณภาพเนื้อไม้ไม่เหมาะจะก่อสร้างสิ่งถาวร แต่ใช้ได้ดีสำหรับทำเครื่องใช้ในร่ม เช่น โต๊ะ เก้าอี้ หีบใส่ของ ฝักมีด ของเด็กเล่น ทำลูกทุ่นอวนประมง ไม้จิ้มฟัน ตะเกียบ ในประเทศศรีลังกา นิยมทำ “โลงศพ” ประเทศอินเดีย รู้จักไม้นี้ดีเรียก “Devil tree” รวมทั้งแท่งดินสอในมือคุณนั่นแหละ

ด้านสมุนไพร เปลือกแก้ไข้ ขับระดู ขับพยาธิ น้ำเหลืองเสีย ใบอ่อนต้มดื่มรักษาโรคลักปิดลักเปิด ไข้หวัด ลำต้นมียาง “Latex” อุดฟันแก้ปวด แก้แผลอักเสบ หยอดหูแก้ปวดได้ดี

ใช้คอมพิวเตอร์ สั่ง พริ้นเตอร์ เพื่อการเรียน…แต่ถ้าสอนเพื่อ “หัดเขียน” ก็ต้องเวียนกลับมาเรียกหา “ดินสอ” นะ ออเจ้า./