สมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทยมุ่งให้ความรู้เกษตรกร จัดการหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดให้อยู่หมัด

สมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ร่วมกับ กรมวิชาการเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดอบรมเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดวางแผนรับมือหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ในฤดูกาลปลูกข้าวโพดรอบต่อไปโดยเน้นจัดการแบบองค์รวมใช้ชีวภัณฑ์ สารเคมี ถูกชนิด ถูกเวลา ถูกวิธีเพื่อแก้ปัญหาให้ได้ผลและควบคุมได้

ดร.วรณิกา นาควัชระ บีดิงเฮาส์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย กล่าวว่า “จากรายงานของกรมวิชาการเกษตรที่ประมาณการพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดในประเทศไทยไว้มากกว่า 6.87 ล้านไร่ คาดว่าจะมีผลผลิตกว่า 4.62 ล้านตันในปีนี้ หากไม่เร่งกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด อาจสูญเสียผลผลิตมากถึง 25 – 40% คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 4 – 8  พันล้านบาท ซึ่งประมาณการค่าใช้จ่ายในการกำจัดต่อไร่ อยู่ที่ 200 – 400 บาท ฉะนั้น ต้นทุนการผลิตโดยรวมของผลผลิตก็อาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 800 – 1,602 ล้านบาท ต่อปี ดังนั้น สมาคมจึงเร่งจัดการอบรม ติดอาวุธทางความรู้แบบยั่งยืนให้แก่เกษตรกร เพื่อป้องกันและลดการสูญเสียแก่เกษตรกรในการประกอบอาชีพ และแบ่งเบาภาระภาครัฐ ซึ่งเราตั้งเป้าเผยแพร่ความรู้แก่เกษตรกรโดยตรงและผ่านภาคีเครือข่ายการขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย กว่า 5,000 คน ภายในฤดูกาลนี้”

นับตั้งแต่ปลายปี 2561 ที่เกิดปัญหาการระบาดของหนอนกระทู้ลายจุดครั้งแรกในประเทศไทย ตลอดระยะเวลา 8 เดือน ที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายต่อผลผลิตข้าวโพดกว่า 80% ครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าวโพดกว่า 50 จังหวัด ในประเทศไทย ดังนั้น เพื่อป้องกัน และจัดการกับหนอนกระทู้ลายจุดอย่างยั่งยืน สมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย จึงต้องนำองค์ความรู้จากการศึกษาค้นคว้าและงานวิจัยต่างๆ มาเผยแพร่ และจัดการอบรม

หนอนกระทู้ลายจุด

“ทั้งนี้ พฤติกรรมเกษตรกรในบ้านเรา ส่วนใหญ่ใช้สารฆ่าแมลงชนิดไหนดีก็จะใช้ตลอด ใช้ซ้ำๆ อยู่ชนิดเดียว ด้วยความมั่นใจ ใช้แล้วได้ผลดี หรือขาดความรู้ เกี่ยวกับปัญหาการดื้อยาของแมลงศัตรูพืช ทำให้เกิดความล้มเหลวในการจัดปัญหาหนอนกระทู้ลายจุดโดยมีสาเหตุหลักคือ การจัดการที่ผิดวิธี ผิดที่ และผิดเวลา ทำให้หนอนดื้อยาเร็ว จึงต้องจัดการปัญหาหลายวิธีร่วมกัน สมาคมถูกจัดตั้งขึ้นด้วยปณิธานในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเกษตรก้าวหน้า มายกระดับเกษตรกรรมไทยให้ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งสร้างองค์ความรู้ที่ก้าวล้ำและถูกต้องให้เกษตรกรไทยและผู้เกี่ยวข้อง จึงถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ต้องร่วมผนึกกำลังกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อจัดการปัญหาศัตรูพืชอย่างหนอนกระทู้ข้าวโพดอย่างยั่งยืน เพื่อให้ประเทศไทยรักษาแชมป์ส่งออกข้าวโพดหวานอันดับหนึ่งของโลกได้ต่อไป และส่งเสริมให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศไทยในระยะยาว” ดร.วรณิกา สรุป

ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดได้ที่ สายด่วนเฝ้าระวังหนอนกระทู้ Fall Armyworm กรมวิชาการเกษตร โทร. 061 4152517 หรือ http://www.doa.go.th/fc/nakhonsawan/?p=1332

ด้าน นางทองสุก วงค์นารัตน์ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เนื้อที่ 100 ไร่ ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นระยะเวลานานกว่า 30 ปี นางทองสุกกล่าวว่า ช่วงฤดูแล้งปีนี้ ประสบปัญหาหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดระบาด ทำให้มีรายได้ลดลง โดยขายผลผลิตได้เพียง 4.8 – 5.50 บาท ต่อ กก. จากเดิมที่เคยขายได้ราคาดีกว่า เฉลี่ย 8 – 10 บาท ต่อ กก.

แปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของนางทองสุกเจอปัญหาแพร่ระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดในฤดูเพาะปลูกรอบแรกของปีนี้ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่เคยเจอมาก่อน ภายใน 2 – 3 วันแรกของการแพร่ระบาด หนอนทำลายข้าวโพดหมดทั้งแปลงเนื้อที่ 20 ไร่ เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพียงแค่ 5 ตัน เท่านั้น แปลงปลูกอีกแห่งเนื้อที่ 20 ไร่ ไม่ได้รับผลกระทบมาก เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 30 ตัน

นางทองสุก จัดการหนอนทำลายข้าวโพด โดยใช้สารเคมี อีมาแมคตันเมน และลูเฟนนูรอนผสมในสัดส่วนเท่ากัน ฉีดพ่นช่วงเช้ามืดและเย็น ในช่วงที่แมลงออกมาหากินบนยอดใบ ซึ่งเป็นจังหวะที่เหมาะสม เพราะช่วงเวลากลางวัน หนอนมักหลบอยู่ใต้ใบซึ่งไม่ควรฉีดพ่นยา มีค่าใช้จ่ายในการจัดการ แบ่งเป็นค่าสารเคมีประมาณ 187 บาท ต่อไร่ ค่าแรงพ่น 100 บาท ต่อไร่ ในหนึ่งฤดูปลูก ควรฉีดพ่นยา 3 ครั้ง ไม่ควรพ่นยามากเพราะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย พ่นยาไม่ถูกที่ ไม่ถูกเวลาก็ไม่ได้ผล เฉลี่ยต้นทุนค่ากำจัดแมลงเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 661 บาท ต่อไร่

ปัญหาที่พบคือ หากแปลงข้างเคียงไม่พ่นสารกำจัดแมลง ก็จะไม่ได้ผลเช่นกัน ดังนั้น จึงควรพ่นยาในแปลงใกล้เคียงอีก 3 – 4 ร่อง เพื่อกันไม่ให้แมลงเข้ามาแปลงเรา หากต้องการควบคุมหนอนข้าวโพดให้ได้ผล ควรเลือกใช้ตัวยาสารเคมีที่ถูกต้อง มีความสำคัญ 50% ฉีดยาในช่วงเวลาที่เหมาะสม 10% และมีระบบการจัดการทีี่ถูกต้องอีก 40% การจัดการหมายถึง คนฉีดพ่น ความตั้งใจในการพ่น ความชำนาญ พ่นถูกจุด เครื่องมือที่กระจายยาได้ดี เข้าถึงจุดที่ต้องการ และเกษตรกรควรศึกษาพฤติกรรมแมลง เพราะแมลงเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับตัวเข้ากับอากาศร้อน เมืองไทยร้อนมาก แมลงก็จะหลบอยู่ใต้ดิน กัดกินโคนต้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์