“โอรังปันตัย” ราชาแห่งปลาเค็ม อร่อยมาก ผลิตภัณฑ์น่าซื้อ ของดีเมืองปัตตานี

เชื่อว่า หลายคนชอบกินปลากุเลาเค็ม โดยเฉพาะเมนูข้าวผัดปลากุเลาเค็ม ทอดมันปลากุเลาเค็ม สปาเกตตี้ปลากุเลาเค็ม หลนปลากุเลาเค็ม คะน้าปลากุเลาเค็ม ผัดผักบุ้งปลากุเลาเค็ม กุ้งสับผัดปลากุเลาเค็ม ยำปลากุเลาเค็มทอด หากมีเมนูอาหารเหล่านี้วางตรงหน้า มั่นใจว่าหลายคนคงขอเติมข้าวสวยอีกหลายๆ รอบ เพื่อลิ้มลองรสชาติความอร่อยของปลากุเลาให้สะใจกันสักมื้อ

วิถีชีวิตปลากุเลา

“กุเลา” เป็นปลาที่ชอบอยู่เป็นฝูง มักหากินหน้าดินโคลน ตั้งแต่ริมชายฝั่งทะเลไปจนถึงบริเวณห่างจากฝั่งประมาณ 5 กิโลเมตร พบมากบริเวณปากอ่าวปัตตานี ปากคลองต่างๆ กุเลาเป็นสัตว์น้ำที่ชอบล่าเหยื่อ โดยเฉพาะสัตว์น้ำตัวเล็กๆ เช่น ปลาหลังเขียว ปลากะตัก กุ้งเคย ฯลฯ  นับเป็นความโชคดีที่ได้พบเห็นปลากุเลาในทะเลปัตตานี เพราะเป็นดัชนีชี้วัดว่า ท้องทะเลปัตตานียังคงมีความอุดมสมบูรณ์ ระบบห่วงโซ่อาหารในทะเลยังเป็นไปอย่างครบวงจร มีสัตว์น้ำขนาดเล็กที่เป็นแหล่งอาหารของปลากุเลาและปลาใหญ่ชนิดอื่นๆ

ชาวประมงพื้นบ้านปัตตานียังคงใช้เครื่องมืออวนปลากุเลาในการจับปลากุเลา ซึ่งเป็นอวนที่ต้องพึ่งพาการไหลของกระแสน้ำเป็นหลัก ช่วงเวลาที่ชาวประมงพื้นบ้านมักจับปลากุเลาได้ คือช่วงหลังฤดูมรสุม ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม เป็นหลัก และใช้เบ็ดราวในการจับปลากุเลาตั้งแต่ช่วงหลังมรสุมจนถึงก่อนฤดูมรสุมในรอบปีถัดไป (เดือนเมษายน-ตุลาคม) โดยสามารถจับปลากุเลาได้ขนาดตั้งแต่ตัวละ 2 กิโลกรัมขึ้นไป

ปลากุเลาเค็ม ตากในมุ้งกันแมลง

ปัจจุบันปลากุเลาที่ชาวประมงพื้นบ้านปัตตานีจับได้ ถูกนำมาแปรรูปเป็นปลากุเลาเค็ม จำหน่ายในชื่อการค้า “โอรังปันตัย” กลายเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่ขายดี ช่วยกระจายรายได้ก้อนโตสู่ชุมชนชาวประมง ช่วยชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี หลุดพ้นจากปัญหาความยากจน มีอาชีพ มีรายได้ที่มั่นคง และยั่งยืนมากขึ้น

ชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี

จังหวัดปัตตานีมีราษฎรที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านจำนวน 86,722 คน มีเรือประมงกว่า 2,900 ลำ ชาวประมงส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีพื้นที่อยู่อาศัยตามแนวชายฝั่งทะเลจังหวัดปัตตานีจำนวน 52 หมู่บ้าน ใน 6 อำเภอ คือ อำเภอหนองจิก อำเภอเมือง อำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอสายบุรี และอำเภอไม้แก่น

ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา ชาวประมงพื้นบ้านได้ถูกรุกรานจากเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพในการทำลายสูง ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล จนเกิดความเสื่อมโทรมเป็นอย่างมาก ทำให้มีรายได้น้อยลง ชาวปัตตานีที่ประกอบอาชีพประมง ได้ชื่อว่ายากจนที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากพึ่งพารายได้จากการทำประมงแต่เพียงอย่างเดียว ในช่วงฤดูมรสุม ชาวประมงไม่สามารถออกเรือหาปลาได้ ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก

ต่อมาชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี ได้รวมตัวกันเป็นเครือข่าย โดยใช้ชื่อว่า “ชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี” ในปี 2548 ทางชมรมได้จดทะเบียนเป็นองค์กรนิติบุคคลในนาม “สมาคมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี” ดำเนินกิจกรรมด้านอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่ง เช่น การจัดทำซั้งปะการังเทียมแบบพื้นบ้าน การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำและป้องปรามการทำประมงที่ผิดกฎหมาย เพื่อเป็นการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ขึ้นอีกครั้ง

วิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย
นำส่งอาหารทะเลปลอดภัยสู่ผู้บริโภค

หลังจากกลุ่มประมงพื้นบ้านได้รวมตัวกันอนุรักษ์ฟื้นฟูทะเล ทำให้ทรัพยากรทางทะเลฟื้นตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านสามารถจับสัตว์น้ำได้ในปริมาณมากขึ้น แต่ชาวประมงพื้นบ้านไม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งคุณภาพชีวิตก็ไม่ได้ดีขึ้นมากนัก เนื่องจากชาวประมงพื้นบ้านไม่สามารถส่งสินค้าสู่ผู้บริโภคโดยตรงได้ และราคาสินค้าสัตว์น้ำถูกควบคุมด้วยกลไกตลาด

จากสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานีได้มีการประชุมพูดคุยเพื่อหาแนวทางที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานีให้ดีขึ้น จึงได้ร่วมมือจัดตั้งเป็น “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย” เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2560

แปรรูปปลากุเลาเค็ม สร้างอาชีพและรายได้ให้แก่ชุมชน
กลุ่มแม่บ้านกำลังเร่งผลิตปลากุเลาเค็ม

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย ดำเนินงานภายใต้พันธกิจหลัก 4 ประการ คือ 1. เป็นศูนย์กลางในการรับซื้ออาหารทะเลสดประเภทต่างๆ ที่จับโดยใช้เครื่องมือประมงพื้นบ้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาตัดแต่งและแปรรูปให้เป็นสินค้าสัตว์น้ำที่มีคุณภาพ ปลอดสารเคมี สู่ผู้บริโภค 2. เน้นการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับสมาชิกในชุมชนประมงพื้นบ้านปัตตานี 3. มุ่งเน้นการยกระดับราคาสินค้าสัตว์น้ำของชุมชนประมงพื้นบ้านให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น 4. นำเสนอเรื่องราวชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี ในแง่มุมที่แตกต่างหลากหลายสู่ผู้บริโภค

“ชื่อวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย แปลว่า คนชายทะเล มีเป้าหมายสูงสุดคือ เป็นต้นแบบในการผลิตอาหารทะเลแปรรูปที่เป็นสินค้าจากประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี ในวันนี้กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานี พยายามที่จะยืนหยัดด้วยตนเองทั้งทางเศรษฐกิจ อัตลักษณ์ชุมชน และการดำรงอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงชายแดนใต้ ซึ่งปลากุเลาเค็มและปลาอินทรีย์เค็ม คือสัญลักษณ์ที่ชาวประมงพื้นบ้านพยายามสื่อสารกับสาธารณะ” คุณมูหามะสุกรี มะสะนิง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย กล่าว

คุณมูหามะสุกรี มะสะนิง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย

จังหวัดปัตตานี มีทะเลที่สะอาดปราศจากมลพิษ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัยได้นำภูมิปัญหาท้องถิ่นด้านการแปรรูปอาหารทะเล และทำงานวิจัยร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในการพัฒนาต่อยอดอาหารทะเลแปรรูปให้มีคุณภาพดีตอบโจทย์ความต้องการของตลาด

ปัจจุบัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย ประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ เห็นได้จากความพยายามในการดูแลปกป้องทะเลและชุมชนบ้านเกิด กิจการของพวกเขาก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับสมาชิก ลดการอพยพไปขายแรงงานอย่างผิดกฎหมายในประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกัน ช่วยให้ชาวประมงพื้นบ้านขายสินค้าสัตว์น้ำได้ในราคาที่เป็นธรรมมากขึ้น สมาชิกมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ผู้บริหารมติชน เยี่ยมชมกิจการวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย

ภายหลังจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัยส่งเสริมสมาชิกปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องมือประมงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยสร้างแรงจูงใจปรับราคารับซื้อสินค้าสัตว์น้ำที่จับด้วยเครื่องประมงไม่ผิดกฎหมาย จากสมาชิกในราคาที่สูงขึ้นกว่าเดิม 40%

ขณะเดียวกัน ทางกลุ่มพัฒนาบทบาทของกลุ่มผู้หญิงในชุมชนประมงพื้นบ้าน ปลุกสำนึกการทำงานเพื่อชุมชน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งโดยนำรายได้จากผลผลิตไปทำกิจกรรมด้านอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร กิจกรรมดังกล่าวส่งผลให้คุณมูหามะสุกรี ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มได้รับการคัดเลือกให้ได้รับ รางวัลแห่งความภาคภูมิใจ “อนุสรณ์สงขลานครินทร์ ปี 2559” ช่วยยืนยันได้ว่า ผลงานความสำเร็จของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย เป็นที่ชื่นชมและได้รับการยอมรับจากสังคม

อาหารทะเลแปรรูป

อาหารทะเลแปรรูปของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย ผลิตที่บ้านตันหยงเปาว์ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ด้วยกรรมวิธีตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิต โดยคำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภคเป็นสำคัญ นำปลาสดมาตากแห้งด้วยวิธีการกางมุ้ง ไม่ใส่ผงชูรส ไม่ใช้วัตถุกันเสีย เพื่อรักษาสภาพปลา ไม่เจือสีและสารเคมี ใช้เกลือหวานปัตตานีเป็นส่วนผสมหลักในการทำเค็ม เอกลักษณ์ของปลากุเลาโอรังปันตัยที่แตกต่างจากสินค้าทั่วไปคือ มีรสชาติเค็มน้อย ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค

กุเลาเค็ม โอรังปันตัย บ้านตันหยงเปาว์
บรรจุภัณฑ์ใหม่ ที่มีสีสันสะดุดตา

ปัจจุบันสินค้าเด่นที่ขายดีของกลุ่มโอรังปันตัย ได้แก่ ปลากุเลาเค็ม ปลาอินทรีย์เค็ม และกะปิของกลุ่มโอรังปันตัย ผ่านการรับรองมาตรฐานฮาลาลจากคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคอาหารฮาลาล

“ชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานีสามารถจับปลากุเลาได้เยอะมาก ราคารับซื้อปลากุเลาในท้องถิ่นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 170 บาท หลังจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย ส่งเสริมการแปรรูปปลากุเลาเค็ม ชาวประมงขายปลาได้ราคาสูงขึ้น เฉลี่ยกิโลกรัมละ 230-250 บาท เมื่อนำมาแปรรูปเป็นปลากุเลาเค็มในระยะเวลา 45 วัน สามารถขายได้ในราคากิโลกรัมละ 1,300 บาท สินค้าขายดีจนผลิตแทบไม่ทันกับความต้องการของตลาด” คุณมูหามะสุกรี กล่าว

โอรังปันตัย สินค้าทำเงินของประมงพื้นบ้านปัตตานี

ปลากุเลาเค็มที่ซื้อขายในท้องตลาดทั่วไป อาจมีราคาที่ค่อนข้างสูงกิโลกรัมละ 1,500-2,000 บาท ประกอบกับคนไทยจำนวนมากที่พักอาศัยในหอพักหรือคอนโดมิเนียมอาจมีข้อจำกัดในการทอดปลาเค็ม ดังนั้น ปลายปี 2562 นี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัยวางแผนเปิดตัว  “ปลากุเลาเค็มทอดพร้อมรับประทาน” เป็นสินค้าทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภค โดยทางกลุ่มได้นำปลากุเลาเค็มมาตัดแบ่งเป็นชิ้นๆ ทอดจนสุก ใส่ในบรรจุภัณฑ์สุญญากาศจำหน่ายให้แก่ผู้สนใจนำไปรับประทานได้ทันที สินค้าจำหน่ายในราคาย่อมเยา เฉลี่ยชิ้นละร้อยกว่าบาทเท่านั้น ใครสนใจสั่งซื้อได้เลย

สินค้าใหม่ “ปลากุเลาทอดพร้อมรับประทาน”

ขอเชิญชวนผู้อ่านช่วยกันสนับสนุนชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดปัตตานีได้มีธุรกิจฐานรากที่ยั่งยืน ยืนบนขาตัวเองได้ ไม่ต้องซื้อเพราะความสงสาร หากใครอยากได้ปลาเค็มคุณภาพดี ขอให้นึกถึง ปลากุเลาเค็มอุรังปันตัย (https://www.facebook.com/orangpantai) บ้านตันหยงเปาว์ จังหวัดปัตตานี รับรองว่าไม่ผิดหวัง ปลาจากปลายด้ามขวานพร้อมจัดส่งทั่วไทย หากสนใจสั่งซื้อได้โดยตรงที่ เพจกุเลาเค็ม อินทรีย์เค็ม “โอรังปันตัย” รับรองไม่ผิดหวังแน่นอน