เครื่องสำอางจาก “มะไฟจีน” จ. น่าน และน้ำมันมะพร้าวบ้านแสงอรุณ จ. ประจวบฯ คว้ารางวัล Product Champion 2019 สุดยอดผลิตภัณฑ์เครือข่ายวิสาหกิจกิจชุมชน

ประกาศผลแล้ว สสว. จับมือ ศูนย์แห่งความเป็นเลิศ : Excellence Center ด้านเกษตรและด้านการพัฒนาชุมชน จัดงาน “สุดยอดผลิตภัณฑ์เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน & Product Champion 2019” เพื่อประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขายให้กับผลิตภัณฑ์จากเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน รวมกว่า 400 ราย จากทั่วประเทศ พร้อมกับนำร่อง อุ่นเครื่องด้วยการโชว์ 2 สุดยอดผลิตภัณฑ์ (Product Champion) ที่ได้รับการพัฒนาและผ่านการคัดสรรโดยผู้ทรงคุณวุฒิ เมื่อวันที่ 15-18 สิงหาคม 2562 เวลา 10.00-22.00 น. ลานเมืองสุขสยาม ไอคอนสยาม โดยสุดยอดสองผลิตภัณฑ์แรกที่เปิดตัวก่อน ได้แก่ “ขวัญธารา” ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากมะไฟจีน และ “Noble Sense” Coconut oil 

ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากมะไฟจีน

 จากวิสาหกิจชุมชนขวัญธารา จ.น่าน 

ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากมะไฟจีน แบรนด์ ขวัญธารา จากวิสาหกิจชุมชนขวัญธารา จ.น่าน เป็นต้นแบบของนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับท้องถิ่นบนพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้แก่ เครื่องสำอางผลไม้มะไฟจีน ถือเป็นพืชสมุนไพรอัตลักษณ์ของ จ.น่าน ที่มีวิตามินซี คอลลาเจน ช่วยลดอาการอักเสบ และใบยังมีน้ำมันหอมระเหยอีกด้วย พัฒนากว่า 3 ปี จากวิสาหกิจชุมชนขวัญธารา ต.น้ำเกี๋ยน อ.ภูเกียง จ.น่าน

ประธานกลุ่มคือ คุณธารารัตน์ ศรีจันทร์ดี เผยถึงแนวความคิดการทำเครื่องสำอางจากมะไฟจีน ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องสำอางหนึ่งเดียวที่พัฒนาผลไม้ท้องถิ่น คือ “มะไฟจีน” สมุนไพรที่ได้ชื่อว่า บ้านน้ำเกี๋ยน จ.น่านปลูกได้มากที่สุดในประเทศไทย จนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัด ตั้งแต่ดั้งเดิมคือทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น น้ำสมุนไพร แต่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนขวัญธาราที่เกิดจากการรวมตัวของชาวเกษตรกรรุ่นใหม่ ที่อยากกลับมาพัฒนาบ้านเกิด และชอบทำอะไรที่ไม่เหมือนใคร จึงคิด ค้นคว้า วิจัยและทดลองจนได้เครื่องสำอางที่ทำจากมะไฟจีนที่ดีต่อผิวพรรณ

“มะไฟจีน เป็นพืชอัตลักษณ์ของจังหวัดน่าน ดั้งเดิมคนนำไปทำน้ำบ๋วย น้ำมะไฟจีนบ้าง เรากลุ่มวิสาหกิจชุมชนขวัญธารา ซึ่งมีสมาชิกกลุ่ม 12 คน มีแนวคิดอยากเอาสมุนไพร จ.น่าน นำมาสร้างมูลค่า สร้างรายได้สู่ชุมชน โดยการคิดนอกกรอบ ทำอะไรที่คนอื่นไม่ทำกัน จึงคิดทำเครื่องสำอาง อาชีพหลักคือ ทำสวน เกษตรกร คนรุ่นใหม่ ที่อยากมาสร้างมูลค่า เราจะขายเรื่องราวเสน่ห์ของน่านโดยมีงานวิจัยรองรับ ทำทุกอย่างถูกวางตามหลักวิชาการทั้งหมด มีเลขจดแจ้ง ที่ อย.กำหนดทุกตัว มีมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนกำหนด”

ทางกลุ่มใช้เวลาพัฒนาผลิตภัณฑ์นาน 3 ปี ซึ่งปัญหาการทำอะไรใหม่ๆ มักไม่ได้การยอมรับจากลูกค้า เธอจึงต้องเอางานวิจัยมารองรับ นำผู้เชี่ยวชาญมาสร้างการรับรู้แบรนด์จนผู้บริโภคยอมรับ อีก 1 ปัญหา ที่ SME หน้าใหม่ประสบคือ สมุนไพรมะไฟจีนออกผลเพียง 2-3 เดือน ต่อปี เท่านั้น คือเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม คิดสเต๊ปต่อไปหากสินค้าติดตลาด แล้วไม่มีมะไฟจีนมารองรับ จึงต้องใช้องค์ความรู้วิชาการ ให้มหาวิทยาลัยอุทยานวิทยาศาสตร์ ม.พะเยา และมหาวิทยาลัยทางภาคเหนือต่างๆ ช่วยบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ และทำงานวิจัยค่อยๆ ทำสารสลัดจากมะไฟจีนได้จึงจะเพียงพอต่อการทำผลิตภัณฑ์รองรับกลุ่มลูกค้าปีต่อปี เพราะอยากให้ผู้บริโภคได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่สดใหม่ทุกปี

“การพัฒนาธุรกิจต้องคิดอย่างเป็นสเต๊ป เริ่มแรกเราผลิตแชมพู สบู่ ก่อนผลิตเราลงทุนใช้เงิน 1 ล้านบาทโดยไม่กู้ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ลงทุนซื้อเครื่องจักรเข้าโรงงาน จากนั้นทำการตลาดพยายามทำส่งในโรงแรมจังหวัดน่าน ออกบู๊ธตามส่วนราชการเพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ก่อน เสร็จแล้วแรกๆ บรรจุภัณฑ์ไม่สวย ก็ต้องค่อยๆ พัฒนาหีบห่อ จากนั้นพยายามทำตลาดออนไลน์ แล้วเรากลายเป็นผลิตภัณฑ์เด่นของจังหวัดน่าน ตอนนี้เราเน้นเซรั่มบำรุงผิวที่มีส่วนผสมของมะไฟจีน ซึ่งขายดีมาก นอกจากนี้ ยังมีครีมบำรุงผิว เรามีโฟมมูสล้างหน้า บอดี้โลชั่น แฮนด์ครีมบำรุงมือและเล็บ สบู่เหลว และแชมพู และยังคงทำเจลว่านหางจระเข้ขายดีมาก ซึ่งเราทำก่อนมะไฟจีนด้วยซ้ำ”

สำหรับการมองคู่แข่งในตลาด ซึ่งกลุ่มมีการเตรียมรับมืออย่างดีแล้ว “เราวางแผนธุรกิจมานานแล้ว ต่อให้เขาเลียนแบบเรา แต่หากเสิร์ชในอินเตอร์เน็ตผลิตภัณฑ์ด้านความงามจากมะไฟจีนจะขึ้นแต่ของเรา เพราะเราเป็นเจ้าเดียวที่ทำ ถ้าเราทำอะไรในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ แล้วเราทำก่อน เขาตามเราไม่ทัน เพราะเขายังไม่ได้รับการยอมรับ แต่เราได้รับการยอมรับแล้ว อีกทั้งเราอยู่กับแหล่งปลูกมะไฟจีนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เราจึงได้เปรียบด้านแหล่งวัตถุดิบ”

สุดท้าย สินค้าจะขายได้ดี ผู้ประกอบการหน้าใหม่ ควรทำดังนี้ 1. ต้องศึกษาให้รู้จริงในสิ่งนั้น 2. ต้องใฝ่เรียนรู้ให้มากที่สุด 3. การทำธุรกิจมีปัญหาอุปสรรคบ้าง แต่สิ่งสำคัญ เมื่อเกิดปัญหาต้องมีสติ วิเคราะห์หาทางออก 4. มีกำลังใจที่เข้มแข็ง ต่อให้มีอุปสรรค ต้องมีจุดยืนของเรา ทำให้ดีที่สุดในแต่ละวัน

ผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น

วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตน้ำมันมะพร้าวบ้านแสงอรุณ จ.ประจวบคีรีขันธ์

ผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น ภายใต้แบรนด์ Noble Sense Coconut oil ที่ผ่านกระบวนการเก็บกลิ่นแบบธรรมชาติ เป็นระบบสกัดเย็นที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส และมีกระบวนการแยกความชื้นได้ 100% จากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตน้ำมันมะพร้าวบ้านแสงอรุณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่าย

“จุดแข็งที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ชิ้นนี้ได้รับคัดเลือกก็คือ การตอบแทนกลับคืนสู่สังคมด้วยการให้กลุ่มคนพิการในหมู่บ้านแสงอรุณ ทำกระปุกครีมบำรุงผิวจากเปลือกมะพร้าว ที่ช่วยอนุรักษ์โลกไม่ให้เกิดขยะจากบรรจุภัณฑ์ที่ใช้หมดแล้ว อีกทั้งเศษกะลามะพร้าวที่แตกหักยังสร้างอาชีพให้เด็กๆ ในละแวกหมู่บ้านได้นำไปประดิษฐ์เป็นเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านอีกด้วย” คุณสำราญ สุจริตรักษ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตน้ำมันมะพร้าวบ้านแสงอรุณ อ.ทับสะแก จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทายาทชาวสวนมะพร้าวนับ 100 ไร่ ให้ข้อมูล

ปัจจุบัน นอกจากน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นแล้ว ทางกลุ่มฯ ยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปเป็นแชมพู โลชั่น ครีมอาบน้ำ น้ำมันนวด ยาหม่อง สบู่ ลิปสติกบาล์ม โคโคนัทอบกรอบ และรับจ้างผลิตน้ำมันมะพร้าวส่งให้ธุรกิจอื่นๆ ลูกค้าส่วนใหญ่นอกจากคนไทยแล้ว ยังมีชาวรัสเซีย ญี่ปุ่น จีน อิหร่าน คูเวต เป็นต้น มูลค่าการส่งออกราวๆ ปีละราว 10 ล้านบาท ตอนนี้พัฒนาสินค้าโดยใช้หัวไชเท้าผสมกับน้ำมันมะพร้าวทำเป็นเซรั่มบำรุงผิวหน้าภายใต้แบรนด์ “มิส โคโค่” อีกด้วย ถือเป็นการต่อยอดแบรนด์อีกสเต๊ปหนึ่ง

คุณสำราญ เล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นว่า ที่บ้านปลูกมะพร้าวพันธุ์พื้นเมืองของทับสะแกให้น้ำกะทิที่เข้มข้นนับ 100 ไร่ และปลูกแบบออร์แกนิกมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ที่ต้องการประหยัดต้นทุนไม่ใช้สารเคมี ทำปุ๋ยหมักจากมูลไก่ มูลวัว มูลควาย ไว้ใช้เอง เปลือกมะพร้าวก็นำมาสับบดให้ละเอียดใช้ทำปุ๋ยได้ ปัจจุบัน ต่อยอดชักชวนและรวบรวมสมาชิกในกลุ่มได้ราวๆ 30 คน 10 ครัวเรือน และให้ทุกครัวเรือนปลูกมะพร้าวปลอดสารทั้งหมด ซึ่งจะเป็นวิถีที่ยั่งยืนกว่า

“12 ปีแล้ว ที่เข้าไปช่วยพ่อแม่ต่อยอดการปลูกมะพร้าว เพราะการทำธุรกิจแบบเดิมรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงต้องพัฒนาสินค้าใหม่ขึ้นมารองรับตลาด ดิฉันจบคณะศึกษาศาสตร์ เอกวิทยาศาสตร์ จากรามคำแหง พอเรียนจบก็กลับมาช่วยพ่อแม่พัฒนา เพราะค่าเก็บ ค่าดูแลมะพร้าวถูกมาก แต่ไม่มีการประกันราคามะพร้าว รายได้รายจ่ายไม่สมดุลกัน เราจึงคิดแปรรูป พอดีมีเทรนด์รักสุขภาพเข้ามา แต่คนไม่รู้จักน้ำมันมะพร้าวเท่าไร ก็ต้องเริ่มปรึกษากับผู้รู้ ดร.ณรงค์ โฉมเฉลา ให้ความรู้เรื่องน้ำมันมะพร้าวและการแปรรูปจึงนำองค์ความรู้มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ในการสกัดเย็น สกัดเย็นคือ การแปรรูปมะพร้าวเป็นน้ำมันมะพร้าวแต่ยังคงคุณค่าของมะพร้าวที่ดี เช่น กรดบอลิก วิตามินอี ช่วยเรื่องภูมิคุ้มกัน เป็นหวัดบ่อย ๆ ช่วยได้ดี นอกจากกินยังพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงผม ทาผิวได้ด้วย ลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ”

นี่คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในยุคแรกๆ ได้รับเสียงรอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี โชคดีที่เธอรู้จักคนรัสเซียจึงเป็นช่องทางในการส่งสินค้าไปขายที่รัสเซียเป็นประเทศแรก คอนเน็กชั่นสิ่งเป็นสิ่งสำคัญ

ก้าวต่อๆ ไปของ Noble Sense Coconut oil คือ ตั้งใจขยายตลาดในประเทศไทยให้มากขึ้น โดยใช้วิธีออกงานแสดงสินค้ากับรัฐบาลทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นตลาดที่เชื่อถือได้และได้รับการยอมรับว่าผลิตภัณฑ์ดีจริงจึงได้จับมือกับหน่วยงานรัฐไทย ประหยัดค่าใช้จ่ายไม่ต้องเช่าพื้นที่ ถือเป็นอีกช่องทางการตลาดหนึ่งที่ดีมาก

“ลูกค้าในไทยรู้จักมากขึ้น เราได้พบปะกับลูกค้าจริงๆ เรามีตัวตนไม่ใช่แม่ค้าออนไลน์ แนวคิดต่างๆ ในการพัฒนาแบรนด์ได้จากการเข้าฝึกอบรมกับหน่วยงานรัฐบาล สัมมนาจะมีวิทยากรที่สอนเราเรื่อง เรียนรู้การทำมาตรฐานโรงงานให้ปลอดภัย การตลาด ทำบัญชี ทำออนไลน์ ทำหีบห่อสิ่งเหล่านี้ดีมากๆ ช่วยเราได้จริงๆ โดยเฉพาะ Excellence Center ช่วยเรามากจริงๆ”

สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ ที่อยากแจ้งเกิดในตลาด มีคำแนะนำมาฝาก “ข้อแรกต้องดูก่อนว่าตลาดต้องการสินค้าประเภทไหน หากสินค้าเราถูกกับตลาดช่วงนั้นก็จะทำการตลาดได้ง่ายขึ้น เช่น น้ำมันมะพร้าวเหมาะกับคนรักสุขภาพ ทั้งกินทั้งทาได้หมด ใช้ได้ทั้งหญิงและชาย หากสินค้าดีลูกค้าก็พร้อมจ่าย  2 .ต้องปรับปรุงหีบห่อให้สวยงามและมีมาตรฐาน พยายามขอมาตรฐานสินค้าให้ครบทุกตัว เช่น อย. ฮาลาล เข้าร่วมโครงการของกระทรวงพาณิชย์ หรือ สสว. ให้ได้ ให้เขายอมรับเรา 3. ออกงานแสดงสินค้าหาเวทีให้ตัวเอง 4. ต้องบุกตลาดออนไลน์ ขายสินค้าในเว็บไซต์ช็อปปิ้งเกือบทั้งหมด เช่น ช้อปปี้ ลาซาด้า ฯลฯ เพื่อให้ลูกค้าพบเห็นสินค้าเราได้บ่อยและง่ายขึ้น ปัญหาอุปสรรคเดิมๆ ที่กำลังแก้ไขอยู่คือ ปัญญาแรงงานต้องพึ่งกระทรวงแรงงานนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทดแทน”

ท้ายสุด คุณวนิดา จรูญเพ็ญ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า กิจกรรมทดสอบตลาดครั้งนี้ จัดทั้งสิ้น 4 ครั้ง โดยเป็นผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยต่างๆ หลังจากนี้จะจัดขึ้น วันที่ 5-8 กันยายน จัดโดย ม.เทคโนโลยีสุรนารี และ ม.แม่โจ้, 12-15 กันยายน จัดโดย ม.นเรศวร และ ม.วลัยลักษณ์ และ 19-22 กันยายน 2562 จัดโดย ม.ขอนแก่น และ ม.สงขลานครินทร์ ณ ลานเมืองสุขสยาม ห้างสรรพสินค้าไอคอนสยาม กรุงเทพมหานคร