พ่อค้ากดราคาน้ำยางสด สารพัดข้ออ้าง “จีน-มาเลย์” หยุดรับซื้อ

สถานการณ์ราคายางโลกที่ปรับขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน 2559 จนถึงขณะนี้ แม้จะส่งผลดีทำให้ยางไทยที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำมานานขยับขึ้นตามด้วย แต่เผอิญอยู่ในช่วงที่ชาวสวนยางทั่วประเทศกำลังทยอยปิดกรีดยางตามฤดูกาล ทำให้ชาวสวนยางส่วนใหญ่ที่ไม่มียางเก็บไว้ในมือไม่ได้อานิสงส์ ประกอบกับพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่เจอภัยน้ำท่วม ราคายางที่ปรับขึ้นจึงไม่ได้ช่วยให้ชาวสวนยางรายย่อยมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่าใดนัก

ขณะเดียวกัน กำลังประสบปัญหาพ่อค้ากดราคารับซื้อน้ำยางสด กับราคายางปรับลดลงจากที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) อาศัยช่วงจังหวะปริมาณซัพพลายยางในตลาดลดน้อยทยอยระบายยางในสต๊อกของรัฐ ทำให้ตัวแทนชาวสวนยางออกมาเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐเร่งหาทางแก้ พร้อมให้ทบทวนนโยบายเทขายยางในสต๊อกออก

ทั้งนี้ ล่าสุดวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ราคาประมูลยางที่ตลาดกลางสงขลา ยางแผ่นดิบ 88.88 บาท/กก. ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ 90.29 บาท/กก. น้ำยางสด ณ โรงงาน 83.00 บาท/กก. เศษยาง 100% ณ โรงงาน 76.00 บาท/กก. จากก่อนหน้านี้ราคายางขยับขึ้นสูงสุดเมื่อ 31 มกราคม 2560 ยางแผ่นดิบ 92.27 บาท/กก. ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ 97.89 บาท/กก. และราคา FOB 104.10 บาท/กก.

น้ำยางสดตกฮวบฮาบ

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยยท.) กล่าวว่า การประมูลยางค้างสต๊อก 3.1 แสนตันในรูปแบบอีออกชั่นที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อราคายางพาราไทยในช่วงปลายเดือนมกราคมร่วงลงมากว่า 20 บาท/กก. โดยเฉพาะน้ำยางสด ซึ่งผู้รับซื้อน้ำยางอ้างว่ายางเต็มสต๊อกไม่สามารถรับซื้อน้ำยางสดได้ อีกทั้งมีการส่งมอบยางได้ตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และตอนนี้ยังรอประมูลลอตที่ 3 ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ จึงไม่จำเป็นต้องแข่งกันซื้อยางอีกต่อไป

ขณะที่ปัญหาน้ำท่วมทั่วภาคใต้ทำให้ปริมาณยางหายไปจากตลาดกว่า16,000ตัน/วันแต่ราคาน้ำยางสดกลับตกต่ำมาก จากเคยปรับขึ้นสูงสุด 93 บาท/กก. และเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2560 ราคาหล่นมาอยู่ที่ 71 บาท/กก. (ภายในวันเดียวลดลงถึง 10 บาท) ซึ่งสถานการณ์น่าเป็นห่วงเพราะในช่วงระยะเวลา 6 วัน ราคาวูบลงมาถึง 20-21 บาท/กก. เกษตรกรชาวสวนยางสูญเสียเงินไปวันละนับร้อยล้านบาท จึงขอให้รัฐบาล กยท. และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนการผลิตน้ำยางสดให้เป็นยางก้อนถ้วย เพราะสามารถเก็บไว้ขายและได้ราคาที่ดีกว่าน้ำยางสด โดยนำยางก้อนถ้วยเข้าโครงการจำนำไว้ก่อน

โรงงานอ้างมาเลย์/จีนปิดรับซื้อ

ด้านนายประทบสุขสนานประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ราคายางพาราที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในขณะนี้ โดยเฉพาะราคาน้ำยางสดที่เพิ่มสูงขึ้นไปแตะที่ กก.ละ 90 บาท ระยะเวลาเพียงวันเดียวแล้วราคาก็ตกลงมา ณ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 เหลือ กก.ละ 63-65 บาทนั้น ทางผู้ประกอบการโรงงานผลิตน้ำยางข้นให้เหตุผลว่านำยางสดไปผลิตเป็นน้ำยางข้นไม่ทัน ประกอบกับตลาดมาเลเซีย และจีนปิดรับซื้อ จึงไม่สามารถระบายน้ำยางข้นไปยังทั้ง 2 ประเทศได้ โดยเฉพาะมาเลเซีย ซึ่งเป็นตลาดส่งออกน้ำยางข้นรายใหญ่ของไทย

นอกจากนี้ เกษตรกรประสบปัญหาฝนตกน้ำท่วมตั้งแต่ปลายปี 2559 จนถึงเกือบสิ้นเดือนมกราคม 2560 ไม่สามารถกรีดยางได้เกือบทั้งจังหวัด เมื่อน้ำท่วมเริ่มคลี่คลายและฝนหยุดตก เกษตรกรจึงเปิดกรีดยางเป็นจำนวนมาก เนื่องจากต้องการใช้เงินอย่างเร่งด่วน ทำให้น้ำยางสดออกสู่ตลาดในปริมาณที่มาก และนิยมขายน้ำยางสดมากกว่าทำยางแผ่น เพราะส่วนต่างราคายางแผ่นกับน้ำยางสดไม่มากนัก แต่ตนคิดว่าน่าจะมาจากสาเหตุอื่น

นายดำรง ธรรมเพชร
ผู้อำนวยการสำนักงาน กยท.จังหวัดตรังระบุว่า ก่อนหน้านี้ภาคใต้เกิดปัญหาน้ำท่วมทำให้น้ำยางสดออกสู่ตลาดน้อย หรือหายไปจากตลาดหลายแสนตัน หรือสัดส่วนประมาณ 10% ราคาจึงปรับตัวขึ้น แต่เมื่อฝนหยุดตกเกษตรกรกรีดน้ำยางออกสู่ตลาดในปริมาณที่มาก และตลาดที่รับซื้อหลักทั้งจีนและมาเลเซียปิดการรับซื้อ จึงทำให้ราคาตกลงมาอย่างฮวบฮาบ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 เดือนจากนี้ไปราคายางน่าจะดีขึ้นอาจถึง กก.ละ 100 บาท เนื่องจากเข้าสู่ฤดูแล้ง ผลผลิตยางออกสู่ตลาดน้อย และตลาดต่างประเทศก็เปิดรับซื้อ

ผู้ว่าฯตรังลั่นหนุนแปรรูป

ขณะที่ นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังกล่าวว่า ปัญหาราคายางที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากการระบายสต๊อกออกสู่ตลาดในช่วงที่ผ่านมา เมื่อระบายยางออกมากก็หันมาซื้อน้ำยางสดเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาน้ำยางสดปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อตลาดอิ่มตัวประกอบกับน้ำยางสดออกมามากเกินความต้องการ จึงทำให้ราคาลดลง ซึ่งก็เป็นไปตามกลไกตลาด

ทั้งนี้ ทางจังหวัดก็วางแผนที่จะแก้ปัญหาราคายางอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยหันมาแปรรูปผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จากยางพารา เช่น หมอน ที่นอน สนามกีฬา และนำไปผสมกับถนนทุกสายที่อยู่ในอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของจังหวัดให้มากขึ้น ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่าให้กับยางพาราได้เป็นอย่างดี

พ่อค้ายางระบุรายใหญ่ฮั้วกัน

แหล่งข่าวจากผู้รับซื้อน้ำยางสดรายย่อยจ.ตรังเปิดเผยว่าปีนี้ราคายางพาราขึ้น-ลงเร็วมาก เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาขึ้นไปสูงสุดที่ กก.ละ 90 บาท จากนั้นก็ลดลงรายวันเหลือ 87 บาท 80 บาท 70 บาท และล่าสุดวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2560 กก.ละ 62-65 บาทเท่านั้น ขณะที่ราคายางแผ่นดิบและขี้ยางยังทรงตัว โดยราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ 84-97 บาท/กก. ขี้ยาง 42-47 บาท/กก.

“สาเหตุที่ราคายางขึ้น-ลงรวดเร็วเช่นนี้ เนื่องจากโรงงานหรือพ่อค้ารายใหญ่มีการฮั้วกัน ซึ่งราคาจะยืนอยู่ในระดับนี้ไปสักระยะหนึ่ง และจากนี้ไป 2 เดือนจะเข้าสู่ช่วงการหยุดกรีดยาง น้ำยางจะออกสู่ตลาดน้อย ราคาก็จะกลับมาสูงขึ้นอีก ซึ่งก็จะมีเกษตรกรส่วนหนึ่งกรีดยางผ่าแล้ง เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว แม้ว่าจะเสี่ยงต่อยางหน้าตาย หรืออายุการใช้งานสั้นลงก็ตาม”

ผู้ว่าการ กยท.หารือชาวสวน-เอกชน

ขณะที่ นายสมพงศ์ ราชสุวรรณ ประธานกรรมการกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง สกย. อ.นาทวี จ.สงขลา เปิดเผยว่า ทางกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง สกย. อ.นาทวี จ.สงขลา ได้เดินทางเข้าพบสมาคมน้ำยางข้นไทย ได้รับการชี้แจงจากตัวแทนผู้ประกอบการเอกชนว่า กรณีน้ำยางสดราคาได้ตกมาจากปัจจัยสำคัญบริษัทอุตสาหกรรมแปรรูปยางพาราในต่างประเทศ เช่น มาเลเซีย เป็นต้น บางแห่ง ได้หยุดทำการผลิตเพราะเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน จึงไม่มีเงินซื้อน้ำยางสด บวกกับบริษัทอุตสาหกรรมแปรรูปยางบางแห่ง แม้ไม่ถึงกับหยุดทำการผลิต แต่ผลิตในปริมาณจำกัด เช่น ต้องการซื้อวันละ 100 ตัน แต่มีน้ำยางสดไปขายถึงวันละ 300 ตัน เป็นต้น

“เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ มีการพูดคุยกันระหว่างชาวสวนยาง ผู้ผลิตน้ำยางสดจากหลายพื้นที่ กับสมาคมน้ำยางข้นไทย โดยนายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ กยท. เข้าร่วมหารือด้วย เพื่อหาข้อสรุปแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น หาทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีหน้า” นายสมพงศ์กล่าว

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์