ไปกาญจนบุรี ดู บุญช่วย ปั้นหยัด ปลูกมะม่วงให้ขายได้ทั้งปี สร้างตลาดอย่างยั่งยืน

ประเทศไทยส่งออกมะม่วงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศฟิลิปปินส์และเม็กซิโก ซึ่งมะม่วงที่ส่งออกนั้นมีหลากหลายสายพันธุ์ โดยสายพันธุ์ที่ปลูกแพร่หลายมากที่สุดจะเป็นพันธุ์เขียวเสวย แรด น้ำดอกไม้ อกร่อง ฟ้าลั่น และโชคอนันต์ แต่ละสายพันธุ์จะมีรสชาติและลักษณะที่แตกต่างกันออกไป

ทั้งนี้ คุณอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี 8 จังหวัดของภาคตะวันตก มีการเพาะปลูกพืชหลายชนิดหนึ่งในนั้นคือ มะม่วง ซึ่งเป็นผลไม้เศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศไทย

คุณอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร

สำหรับในพื้นที่ภาคตะวันตกนั้น ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีเกษตรกรปลูกมะม่วงจำนวนไม่น้อยบางสวนก็ประสบความสำเร็จดี บางสวนก็พอจะสร้างรายได้ในระดับปานกลาง แต่ยังมีอีกไม่น้อยที่ประสบปัญหาด้านการผลิตและการตลาด ซึ่งเกษตรกรแต่ละรายมีทางเลือกด้านการตลาดที่ไม่เหมือนกัน ส่วนเกษตรกรชาวสวนมะม่วงที่รวมกันเป็นกลุ่มจะมีพลังในการต่อรองทั้งด้านการตลาดและการซื้อปัจจัยการผลิตที่ดีกว่า

“อย่าง คุณบุญช่วย ปั้นหยัด เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงตำบลพังตรุ อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ใช้พื้นที่ 10 ไร่ จาก 16 ไร่ มาปลูกมะม่วงโดยใช้หลักการตลาดที่นำการผลิต เน้นคุณภาพและบังคับให้ผลผลิตออกสู่ตลาดตามช่วงเวลาและปริมาณตามที่ตลาดต้องการ สามารถส่งผลผลิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยมีตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดศรีเมือง เป็นตลาดหลัก ซึ่งจะมีคำสั่งซื้ออย่างแน่นอนในแต่ละปีและช่วงเวลา ส่วนหนึ่งผลิตส่งให้พ่อค้าที่นำผลผลิตไปจำหน่ายในตลาดนัดของชุมชนใกล้เคียงซึ่งถือเป็นตลาดจร จึงทำให้ผลผลิตในแต่ละปีไม่ต้องเจอกับภาวะล้นตลาด” คุณอาชว์ชัยชาญ กล่าว

คุณบุญช่วย ปั้นหยัด

ด้านคุณบุญช่วย กล่าวว่า ในกระบวนการผลิตก่อนอื่นจะพิจารณาว่าตลาดอยู่ที่ไหน มีความต้องการพันธุ์อะไร คุณภาพอย่างไรและเวลาใด จากนั้นมาพิจารณาดินในแปลงปลูกว่ามีความสมบูรณ์เพียงใดต้องบำรุงปรับปรุงด้วยวิธีใดบ้าง สภาพแวดล้อมจะทำให้เกิดโรคพืชชนิดใดอะไรบ้าง หากต้องใช้สารเคมีจะต้องใช้ยาให้ตรงกับโรคครั้งเดียวให้ได้ผลและอันตรายน้อยที่สุด ควบคู่กับการศึกษาสารชีวภาพว่าจะต้องใช้อะไรบ้างที่สามารถทดแทนสารเคมีได้โดยที่ผลผลิตไม่เสียหายมากนัก ส่วนปุ๋ยเคมีใช้อย่างไรให้ตรงกับความต้องการของพืช เช่น ให้สมบูรณ์ ให้ออกดอกดก และให้ผลผลิตสูง

ส่วนพื้นที่ปลูกใน 10 ไร่จะแบ่งเป็น 4 แปลง ปลูกแปลงละ 800 ต้น วางระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์ จำนวน 2 แปลง และมินิสปริงเกลอร์ จำนวน 2 แปลง หลุมปลูกใช้ปุ๋ยคอกร่วมกับปุ๋ยเคมีรองก้นหลุม และใช้ระบบน้ำมามีส่วนร่วมในการใช้ปุ๋ยในแปลงปลูก ใช้ระบบปุ๋ยสั่งตัดด้วยการผสมเองทำให้สามารถลดต้นทุนได้ตันละ 4,000-9,000 บาท จะมีการบำรุงดูแลรักษาต้นมะม่วงให้มีความสมบูรณ์อย่างสม่ำเสมอ

“จากกระบวนการบำรุงรักษาตามระบบจะเกี่ยวข้องกับแผนการผลิตมะม่วงเพื่อให้มีผลผลิตออกมาทั้งปีและตรงตามที่ตลาดสั่งมาคือ ช่วงเวลาเดือนมกราคม-เมษายน จะดูแลให้น้ำให้ปุ๋ยเพื่อความสมบูรณ์ช่วงเดือนเมษายนให้สารพาโคลบิวทราโซลบังคับเพื่อเตรียมการออกดอกช่วงเดือนมิถุนายนทำการฉีดยาดึงช่อหรือที่เรียกกันว่าเปิดตาดอก ช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน สำรวจแปลงปลูกป้องกันและดูแลรักษาทุกวัน ส่วนช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้จำนวน 1-3 รุ่น

โดยในพื้นที่ 10 ไร่ก็จะได้ผลผลิตประมาณ 20-24 ตัน ต่อปี ช่วงเก็บผลผลิตสำหรับทำมะม่วงยำ จะเก็บเมื่อมีอายุได้ 60-75 วัน เก็บเพื่อบ่มสุกจะเก็บช่วงอายุ 100-120 วัน โดยใส่ปุ๋ยหวานก่อนเก็บ 1 เดือน ใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 หรือ 8-24-24 ต้นละ 300-600 กรัม จะทำให้มะม่วงหวานและน้ำหนักดี” คุณบุญช่วย กล่าว

ซึ่งการบังคับให้มะม่วงมีผลผลิตในช่วงนี้จะได้ราคาดี และการวางแผนการผลิตให้มะม่วงในสวนทั้งหมดมีผลผลิตออกหลายรุ่นทำให้ลูกค้ามีโอกาสได้ซื้อผลผลิตที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง เป็นการสร้างลูกค้าขาประจำที่นิยมบริโภคมะม่วงคุณภาพ ซึ่งต่างจากสวนที่ผลิตมะม่วงเพื่อเก็บเกี่ยวในคราวเดียวกัน ทำให้ต้องจำหน่ายมะม่วงในลักษณะขายส่งได้อย่างเดียว ซึ่งจะมีผลถึงราคาผลผลิตที่ชาวสวนมะม่วงได้รับ

สำหรับการบำรุงรักษาต้นมะม่วงให้สามารถให้ผลผลิตอย่างสมบูรณ์เกิน 10 ปีนั้น คุณบุญช่วย เผยว่า ในการใส่ปุ๋ยให้เอาอายุต้นมะม่วงมาหาร 2 เช่น อายุ 3 ปี ก็จะใส่ปุ๋ยเคมีตลอดทั้งปี ที่ 1.5 กิโลกรัม แต่ถ้าต้นที่อายุ 10 ปีขึ้นไปให้ใช้ปุ๋ยไม่เกิน 5 กิโลกรัม ต่อปี ต่อต้น โดยเฉลี่ยใส่เดือนละครั้งจะดีที่สุด

“ส่วนการเก็บและบ่มมะม่วงให้เลือกเก็บลูกแก่ก่อน จากนั้นหักจุกแล้วคว่ำหัวจุกลงบนกระสอบป่านหรือหักจุกคว่ำใต้โคนต้นประมาณ 1 ชั่วโมง ต้องหลีกเลี่ยงการเปียกน้ำ น้ำค้าง ตอนบ่มถ้าลูกมะม่วงเปียกน้ำต้องทำให้แห้งก่อนและห้ามวางตากแดดก่อนบ่มเพราะจะทำให้ตายนึ่ง ขายไม่ได้ราคา” คุณบุญช่วย กล่าวในที่สุด