ปลูกเยอะ – เชื่อปีนี้ราคาข้าวร่วงอีก ก.เกษตรกุมขมับ-ถกพาณิชย์หาตลาดรองรับ

กระทรวงเกษตรฯ คาดปีนี้ข้าวราคาใกล้เคียงกับปีที่แล้วเพราะผลิตใกล้เคียงหรืออาจมากกว่าปีที่แล้ว เฉพาะนาปรังเกินเป้าถึง 1 ล้านไร่ ชี้ซ้ำรอยปีที่แล้วอาจราคาตกจนชาวนาต้องขายข้าวเอง พร้อมประสานพาณิชย์เร่งหาตลาดรองรับ

พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เตรียมหารือกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อเดินหน้าวางแผนการทำตลาดข้าว โดยให้กระทรวงพาณิชย์มุ่งหาตลาดส่งออกข้าวเพิ่ม เพื่อรับมือผลผลิตข้าวล้นตลาดส่งผลให้ราคาตกต่ำอีกปี หลังจากสำรวจพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังทั่วประเทศ ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 พบพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังลุ่มเจ้าพระยาและลุ่มแม่กลอง จำนวน 6.57 ล้านไร่ สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 2.57 ล้านไร่ แต่พื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศมีประมาณ 8 ล้านไร่ จากเป้าหมายที่วางไว้ 6.93 ล้านไร่ หรือสูงกว่าเป้า 1 ล้านไร่

“พื้นที่เพาะปลูกที่เพิ่มขึ้นทั่วประเทศในฤดูนาปรัง น่าจะเป็นสัญญาณให้เห็นว่า ข้าวผลผลิตปี 2560/61 ที่จะถึงน่าจะมีผลผลิตใกล้เคียงปีก่อน ที่ผลผลิตออกมามากจนทำให้ชาวนาต้องออกมาขายข้าวเองเพราะราคาตกต่ำ แต่กระทรวงเกษตรฯ จะพยายามรักษาเป้าหมายให้ใกล้เคียงปีก่อน ซึ่งการปลูกข้าวของชาวนาที่คาดว่าจะเกินเป้าหมายที่วางไว้ ต้องยอมรับไม่มีมาตรการรับมือหรือบังคับไม่ให้ชาวนาปลูก” พล.อ. ฉัตรชัย กล่าว

ด้าน นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า เรื่องผลผลิตข้าวหอมมะลิ ปกติทั่วประเทศปลูกได้ประมาณ 8 ล้านตัน แต่ปี 2559 ปลูกได้ประมาณ 10 ล้านตัน ทำให้ราคาปรับตัวลดลงอย่างมากจนเป็นปัญหา

“อย่างไรก็ตาม จะให้กระทรวงเกษตรฯ ควบคุมปริมาณคงยาก เพราะหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ต้องเร่งยกระดับผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุน ให้ชาวนาได้ผลผลิตดีขึ้น ราคาถึงจะมีรายได้ดี ส่วนกระทรวงพาณิชย์ควรไปเร่งเปิดตลาดใหม่ๆ เพื่อให้ข้าวของชาวนามีที่ขายมากขึ้น จะบังคับให้ปลูกข้าวหอมมะลิ แค่ 4 ล้านตันคงเป็นไปไม่ได้ ส่วนผลผลิตข้าวทั่วประเทศแม้จะกำหนดไว้ที่ 26-27 ล้านตันเท่าปีก่อน แต่ต้องทำใจว่าอาจทะลุไปถึง 29-30 ล้านตัน” นายอนันต์ กล่าว

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานกังวลเรื่องพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังในพื้นที่ภาคกลาง จึงจัดรอบเวรปล่อยน้ำเพื่อการชลประทานป้องกันการใช้น้ำมากเกินไป แต่ยอมรับว่าในพื้นที่ภาคกลางเริ่มลักลอบสูบน้ำไปใช้เพื่อปลูกข้าวจำนวนมาก

“แจ้งไปที่ผู้ว่าฯ และทหาร โดยเฉพาะในจังหวัดสระบุรี และอยุธยา ให้ช่วยตรวจตราการลักลอบสูบน้ำเพื่อไปใช้ในเวลาที่กรมชลประทานจัดรอบเวรปล่อยน้ำ เพื่อบริหารจัดการน้ำเพื่อการเพาะปลูก เพื่อไม่ให้ผลผลิตล้นตลาดจนทำให้ราคาข้าวตกต่ำ” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว

 

ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด