ศูนย์ A-MED สวทช. ติวเข้มเยาวชน พสวท. เรียนรู้เทคโนโลยีเกี่ยวกับฟัน เสริมความเป็นนวัตกรให้เยาวชน

-น้อง ๆ ร่วมทำกิจกรรมในฐานต่าง ๆ ที่สื่อถึงเทคโนโลยีในการออกแบบทางทันตกรรม

ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี (เมื่อเร็วๆ นี้) : เยาวชน พสวท. (โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) กว่า 80 คน ที่ร่วมเข้า “ค่ายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ นักเรียนที่ได้เหรียญรางวัลโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2561 วิชาวิทยาศาสตร์ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6” ที่จัดขึ้นโดยฝ่ายวิชาการ หลักสูตร และสื่อการเรียนรู้ (ACM) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อรับการติวเข้มจากพี่ๆ ทีมวิจัยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ หรือ A-MED ของ สวทช. ที่ได้ออกแบบกิจกรรมเกี่ยวกับบริการทางทันตกรรมด้วยการเชื่อมโยงกับสิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน เพื่อให้น้องๆ ได้เรียนรู้ระบบฟันผ่านกลไกงานวิจัยต่างๆ ของศูนย์ A-MED และเกิดความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ ปลุกความเป็นนวัตกร (Innovator) ให้แก่เยาวชน ซึ่งผลงานอาจจะสามารถต่อยอดจริง พัฒนาเป็นนวัตกรรม (Innovation) ในอนาคตได้

ดร. สิรสา ยอดมงคล นักวิจัยทีมวิจัยเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ฝังใน ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) สวทช. เปิดเผยว่า กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “ค่ายวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ นักเรียนที่ได้เหรียญรางวัลโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ ประจำปี พ.ศ. 2561 วิชาวิทยาศาสตร์ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6” โดยทีมวิจัยได้นำเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัลที่ใช้ในงานด้านทันตกรรมมาเสริมความรู้ให้น้องๆ โดยเริ่มต้นจากการบรรยายเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทางทันตกรรม เช่น การ    เอ็กซเรย์ อินทราออรัลสแกนเนอร์ และตัวอย่างการใช้งานต่างๆ จากนั้นทำการแบ่งกลุ่มเพื่อให้น้องๆ ร่วมทำกิจกรรมที่สื่อถึงการออกแบบทางทันตกรรมด้วยกัน 3 กิจกรรม ได้แก่ ฐานกิจกรรมที่ 1 “2D Design : ออกแบบอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกทางการแพทย์อัจฉริยะ” เพื่อให้น้องๆ นำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้กับออกแบบในรูปแบบต่างๆ และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ คล้ายเป็นกิจกรรม to be design ที่ให้ลองใช้ไอเดียออกแบบผลิตภัณฑ์สักชิ้นหนึ่งขึ้นมา เพื่อนำมาใช้เป็นเครื่องมือแพทย์หรืออุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุหรือคนพิการทั่วไปให้มีคุณภาพ การใช้ชีวิตที่ดีขึ้น จุดนี้ทีมวิจัยได้ให้น้องๆ ลองคิด ลองวาดภาพออกมา ดูว่าจะมีหน้าตาอย่างไร เป็นแบบไหน และมีชื่อเรียกว่าอะไร ใช้ประโยชน์อย่างไร เพื่อที่ว่าจะสร้างสรรค์ออกมาได้ว่าผลงานนี้จะช่วยอะไรได้บ้าง

ต่อด้วยฐานกิจกรรมที่ 2 “3D Scan ทางทันตกรรม : Intraoral Scan Workshop” เพื่อฝึกปฏิบัติการใช้งานเครื่องอินทราออรัลสแกนเนอร์ (Intraoral Scanner) หรือเครื่องสแกนเนอร์ในช่องปาก ในรูปแบบชิ้นงานจำลอง เพื่อให้ได้ไฟล์ภาพสามมิติในช่องปากที่สามารถนำมาใช้ประกอบกับภาพสามมิติที่ได้จากเครื่อง DentiiScan (หรือเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์แบบลำแสงทรวงกรวยสำหรับงานทันตกรรมและศัลยกรรมบริเวณช่องปากและใบหน้า) แล้วแสดงผลการรวมภาพออกมาเป็นไฟล์ภาพเพื่อให้ทันตแพทย์วางแผนการรักษาได้ ฐานนี้น้องๆ จะได้ฝึกและทำความรู้จักกับเรื่อง 3D Scan ด้วยอุปกรณ์ที่ต้องใช้เทคโนโลยีอินทราออรัลสแกนเนอร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ยังใหม่ในขณะนี้ ทดแทนการพิมพ์ปากแบบทั่วไปที่ต้องใช้วัสดุเข้าไปให้คนไข้กัด แต่เครื่องนี้จะเป็นเครื่องถ่ายภาพภายในช่องปาก เรียกว่าเป็นการพิมพ์ปากแบบดิจิทัลก็ได้ ทำให้เห็นข้อมูลฟันของคนไข้เป็นไฟล์ดิจิทัล ประโยชน์ที่ได้คือ ทันตแพทย์จะใช้ไฟล์ตัวนี้นำไปใช้ในการวางแผนการจัดฟัน การฝังรากฟันเทียม หรือประเมินลักษณะอื่นๆ ในช่องปากได้ทันที ทำให้คนไข้รับความสะดวกสบายยิ่งขึ้น

และฐานสุดท้ายคือ ฐานที่ 3 “เรียนรู้ดูการทำงานของเครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printing)” ที่โรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) หรือ FABLAB ของ สทวช. ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ฐานนี้น้องๆ จะได้เรียนรู้การทำงานเครื่องพิมพ์สามมิติ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่นำมาใช้ในเครื่องทันตกรรม ภาพสามมิติจะช่วยทำให้เห็นว่า ลึกเท่าไร เอียงมุมไหน และตัวสแกนจะช่วยดูได้ด้วยว่าเส้นประสาทฟันอยู่ตรงไหน เพราะฉะนั้นเทคโนโลยีตัวนี้จะทำให้ทันตแพทย์สามารถวางแผนได้ว่า ควรจะฝังลึกเท่าไรถึงจะไม่โดนเส้นประสาท  ทำให้การฝังรากฟันเทียมทำได้ง่ายขึ้นในกรณีของคนไข้ที่ไม่ได้ซับซ้อนอะไรมากนัก

“กิจกรรมค่ายฯ ในครั้งนี้ ทีมวิจัย A-MED สวทช. มุ่งหวังให้น้องๆ ได้รับประโยชน์ใน 2 ส่วนหลักๆ คือ การได้รู้จักกับอุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ ที่ใช้ในทางทันตกรรมว่ามีเทคโนโลยีใหม่ๆ อะไรบ้าง เพื่อเปิดโลกทัศน์ของน้องๆ และการได้ส่งเสริมพร้อมกระตุ้นให้น้องๆ ได้ใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ มาใช้ในการออกแบบที่เป็นประโยชน์ทางการแพทย์หรือเพื่อผู้สูงอายุ ซึ่งน้องๆ อาจเห็นจากปัญหาที่พบได้ในทางการแพทย์ เช่น การถอดฟันหรือจัดฟัน ทำให้เกิดเป็นที่มาของปัญหาที่ต้องออกแบบสิ่งที่จะมาช่วยแก้ปัญหา เรียกได้ว่าเสริมความเป็นนวัตกร (Innovator) ให้น้องๆ ได้ลองมองจากปัญหาสิ่งที่พบเจอในชีวิตประจำวัน แล้วทำการสร้างอุปกรณ์หรือสิ่งใดก็ตามที่สามารถมาช่วยแก้ปัญหานั้นๆ ซึ่งไม่แน่สิ่งที่น้องๆ คิดในวันนี้อาจจะเป็นจริงหรือเกิดเป็นนวัตกรรม (Innovation) ที่สามารถใช้งานได้จริงในอนาคตก็เป็นได้” ดร. สิรสา ยอดมงคล กล่าวสรุป