หญ้าหวาน ดอยผาส้ม

วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่สาบ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ การเดินทางจากอำเภอสะเมิงโดยเส้นทางเดินรถ สะเมิง-ยั้งเมิน (ถนนห้วยทรายขาว) ผ่านหมู่บ้านแม่สาบ-แม่ขาน-หาดส้มป่อย-อมลอง ประมาณ 30 กิโลเมตรจึงถึงวัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม ซึ่งเป็นดอยสูงตั้งอยู่ที่รอยต่อตำบลแม่สาบและตำบลยั้งเมิน มีองค์พระธาตุที่สร้างเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุมาแต่ช้านาน ครั้นเมื่อครูบาศรีวิชัยท่านได้จาริกมายังอำเภอสะเมิง จึงได้ร่วมมือกับครูบาอุปาระ บูรณะพระธาตุโดยการสร้างพระสถูปใหม่ครอบในที่เดิม เมื่อราว 80 กว่าปีที่ผ่านมา

วัดดอยผาส้ม

ต่อมาในปี 2548 มีพระนักพัฒนา 2 รูป นำโดย พระครูสุพรหมธรรมภิวัฒน์ (พระสรยุทธ ชยปัญโญ) เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม และ พระอาจารย์สังคม ธนปัญฺโญ รองเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม นอกจากที่ได้นำชาวบ้านบูรณะองค์พระธาตุดอยผาส้ม เพื่อเป็นศูนย์รวมศรัทธาในใจของคนในชุมชน แล้วยังได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ (บวร.) วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม เพื่อพัฒนาชุมชนตามแนวหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) มาใช้ในชุมชน

พระครูสุพรหมธรรมาภิวัฒน์

อาทิ ทำแนวกันไฟ สร้างฝาย การปลูกป่า ปลูกแฝก เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนป่า จากที่เคยแห้งแล้งให้มีความอุดมสมบูรณ์ สร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนหันมารักษาป่า อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดการใช้สารเคมี เมื่อป่าอุดมสมบูรณ์ ก็มีน้ำทำการเกษตร เพราะหัวใจสำคัญของเกษตรกรคือน้ำ โดยเฉพาะที่นี่เป็นป่าต้นน้ำจึงมีความสำคัญในการอนุรักษ์และรักษาป่าให้มาก อีกปัญหาหนึ่งของคนในชุมชนคือหนี้สินจากการทำเกษตรเคมีเชิงเดี่ยวมายาวนาน

เตรียมแปลงปลูก

ปัจจุบัน แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง เน้นการพึ่งพาตนเอง ที่พระครูสุพรหมธรรมภิวัฒน์ ได้พาชาวบ้านปฏิบัติมาเป็นระยะเวลา 14 ปี มีเรื่องหลักๆ ดังนี้

ปลูกต้นกล้า
  1. การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ การปลูกป่า ทำฝาย ปลูกแฝก เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของป่า ใช้เป็นแนวป้องกันไฟเปียก มีการรวมกลุ่มกันในชื่อขบวนบุญ โดยนำสินค้าในชุมชนไปแปรรูปและขาย มีส่วนต่างจากทุน จึงนำมาตั้งกองทุนหมอกควันไฟป่า นำมาดูแลป่าต้นน้ำ สร้างฝาย ปลูกต้นไม้ นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรม วิ่งการกุศลเพื่อหารายได้เข้ากองทุนหมอกควันไฟป่า หรือ “ผาส้มเทรล” ซึ่งมีการจัดกันมาทุกปี เข้าปีที่ 5
  2. การจัดการศึกษาทางเลือกแบบองค์รวม Home school และศูนย์การเรียนรู้ โดยเน้นภาคปฏิบัติ มีการเรียนรู้ผ่านการฝึกทักษะชีวิตและประสบการณ์จริงผ่านโครงการต่างๆ (Project based learning & Problem based learning) เพื่อให้ผู้เรียนได้ค้นหาความถนัดความสนใจของตนเอง ได้ฝึกการคิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง ทั้งยังนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงและไอซีที มาประยุกต์ใช้อย่างเหมาะสม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการศึกษาอย่างแท้จริง
  3. การพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สร้างป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เน้นการทำเกษตรอินทรีย์ โดยมีระบบการรับรองแบบมีส่วนร่วม (PGS) และระบบอินทรีย์วิถีไทย (Earth Safe) เข้ามารับรองมาตรฐานของกลุ่ม มีการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำ ฮอร์โมนพืชต่างๆ และสมุนไพรขับไล่แมลงไว้ใช้เอง
เริ่มปลูกได้เต็มแปลง

พระครูสุพรหมธรรมภิวัฒน์ (พระสรยุทธ ชยปัญโญ) เจ้าอาวาสวัดดอยผาส้ม ได้สนับสนุนให้เกิด วิสาหกิจชุมชนดอยผาส้ม มีการรวมกลุ่มของผู้ปลูกกระเทียม กลุ่มผู้ปลูกเชียงดา กลุ่มผู้ปลูกหญ้าหวาน แต่ก่อนเคยมีบริษัทหลายแห่งมาส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกพืชหลายชนิดแต่ไม่ตอบโจทย์ ทั้งยังถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง จึงได้มีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนดอยผาส้มขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการรวมกลุ่มช่วยเหลือเกษตรกรและเพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งคืนมาดูแลป่า ป้องกันหมอกควันและไฟป่า สร้างฝาย อนุรักษ์ป่าต้นน้ำ

กำจัดวัชพืช

หญ้าหวานจึงเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ทางพระครูได้ส่งเสริม เนื่องจากเป็นสมุนไพรที่กำลังได้รับความนิยมจากทั่วโลก เป็นพืชเศรษฐกิจที่เกษตรกรชุมชนดอยผาส้มบางครัวเรือนได้ปลูกมาอย่างยาวนาน เนื่องจากใบหญ้าหวานประกอบด้วยสารให้ความหวานที่สามารถทดแทนน้ำตาลได้เป็นอย่างดี เพราะมีความหวานมากกว่าน้ำตาล 250-300 เท่า ในขณะเดียวกัน ก็เป็นสารที่ให้พลังงานต่ำ จึงเหมาะสำหรับผู้ต้องการควบคุมน้ำหนักหรือลดความอ้วน ดังนั้น ปัจจุบันจึงมีการใช้สารสกัดจากใบหญ้าหวานมากขึ้น โดยเฉพาะในระดับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภค

นำเข้าอบในโรงเรือน

วิธีการปลูกหญ้าหวาน

หญ้าหวาน เป็นพืชที่ชอบอากาศค่อนข้างเย็น อุณหภูมิในช่วง 20-26 องศาเซลเซียส เป็นพืชที่เติบโตได้ดีบนพื้นที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 400 เมตรขึ้นไป เป็นพืชที่ชอบดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย ดินระบายน้ำดี ไม่มีน้ำท่วมขัง พื้นที่ปลูกจะต้องพรวนดินและยกร่อง โดยนำต้นกล้าหรือกิ่งปักชำปลูกลงแปลง ใส่ปุ๋ยหมักรองก้นหลุมเล็กน้อย คลุมฟางให้ความชุ่มชื้นแก่ดิน การปลูกหญ้าหวานของกลุ่มจะใช้ระบบเกษตรอินทรีย์ซึ่งไม่ได้ใช้สารเคมีใดเลย ปุ๋ยที่ใช้จึงเป็นปุ๋ยมูลสัตว์ มูลไก่ มูลวัว มูลหมู หมักกับใบไม้ และใช้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง จุลินทรีย์หน่อกล้วย น้ำส้มควันไม้ น้ำหมักเปลือกมังคุด

อบจนแห้งได้ที่

หญ้าหวานขยายพันธุ์ได้ 2 วิธี คือ

  1. การเพาะกล้าจากเมล็ด มีข้อดีคือ ทำได้รวดเร็ว ลำต้นแตกกิ่งมาก ให้ผลผลิตสูง และนานหลายฤดู รวมถึงทนต่อโรคและแมลงได้ดี แต่มีข้อเสียคือ มีค่าเมล็ดพันธุ์สูง และเสี่ยงต่อการกลายพันธุ์สูง อาจมีผลทำให้ปริมาณสารให้ความหวานลดลงหรือให้ผลผลิตใบต่ำลง
  2. การปักชำกิ่ง มีข้อดีคือ ประหยัดค่าเมล็ดพันธุ์ ไม่เสี่ยงต่อการกลายพันธุ์ แต่มีข้อเสียคือ ใช้เวลานาน มีต้นทุนการปักชำ ลำต้นแตกกิ่งน้อย มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ผลผลิตให้ต่ำกว่ากล้าจากเมล็ด รวมถึงลำต้นอ่อนแอ ไม่ทนต่อโรคและแมลง
โรงเรือนอบแห้ง

 การเก็บเกี่ยวใบ

การเก็บใบหญ้าหวานจะเริ่มเก็บครั้งแรกเมื่ออายุได้ 25-30 วัน หลังปลูก การเก็บเกี่ยวจะทำในช่วงเช้า หากต้นสมบูรณ์พอ จะเก็บได้ต่อเนื่องเดือนละ 1 ครั้ง ตลอดทั้งปี จะเก็บได้ประมาณ 10-12 ครั้ง แต่ละครั้งเก็บใบสดได้ประมาณ 800-1,000 กิโลกรัม ต่อไร่ ซึ่งให้ผลผลิตใบสูงสุดในฤดูฝน และให้ผลผลิตต่ำในช่วงฤดูหนาวและฤดูแล้ง ทั้งนี้ หญ้าหวานจะมีอายุเก็บเกี่ยวได้นานถึง 3 ปี และต้องเปลี่ยนที่ปลูกเพื่อไม่ให้เกิดโรค

ด้วยความอนุเคราห์ของม.เชียงหใม่

วิธีการเด็ดและตากแห้ง

เมื่อได้ใบที่ต้องการก็จะมาทำความสะอาดแล้วนำไปอบในเตาพาลาโบล่า (เตาอบพลังงานแสงอาทิตย์) ใช้เวลาประมาณ 1 วัน จึงทำให้ใบสวยไม่ช้ำ ไม่ดำ แล้วนำมาใส่ถุงพลาสติกใส ถุงละ 2 กิโลกรัม เกษตรกรต้องใช้ความประณีตในการเก็บเกี่ยวอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เริ่มตั้งแต่เช้าเพื่อเก็บเกี่ยวตัดต้นหญ้าหวานที่โตพร้อมตัด เมื่อตัดแล้วนำมาล้างทำความสะอาด สะเด็ดน้ำ นำมาเด็ดใบให้เรียบร้อย พร้อมตากแห้งในวันถัดไป โดยหญ้าหวานสดจำนวน 11 กิโลกรัมจะได้หญ้าหวานแห้ง 1 กิโลกรัม ปัจจุบันมีกำลังการผลิตหญ้าหวานแห้ง 2,500-3,000 กิโลกรัม ต่อปี

หญ้าหวานแห้งบรรจุในถุงพร้อมส่ง

สรรพคุณหญ้าหวาน

หญ้าหวานมีสรรพคุณในการใช้ทดแทนน้ำตาล ใบหรือน้ำต้มจากใบจะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด

ครูยงยุทธ

ใบนำมาเคี้ยวหรือต้มน้ำดื่ม ใช้เป็นยาต้านเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคฟันผุ นอกจากนี้ หญ้าหวานให้พลังงาน และมีไขมันน้อย ทำให้ช่วยลดไขมันในเส้นเลือด และช่วยลดความอ้วนได้ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคในระบบหัวใจและหลอดเลือด ช่วยสมานแผล ช่วยลดน้ำหนองไหลจากแผล ทำให้แผลแห้งและหายเร็ว

กิจกรรมป้องกันไฟป่า

ครูยงยุทธ แสนหาญชัย ได้ฝากทิ้งท้ายว่า “ทางกลุ่มมีผลิตภัณฑ์อินทรีย์หลายอย่างเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภค เช่น หญ้าหวานอบแห้ง ผักเชียงดาอบแห้ง เก๊กฮวยอบแห้ง ชาเชียงดาหญ้าหวาน กล้วยวางไม่ลง กาแฟคั่วสดดอยผาส้ม ผลิตภัณฑ์ภายใต้ชื่อแบรนด์ “ผาส้มผาสุข” ของวิสาหกิจชุมชนดอยผาส้มที่พร้อมให้ทุกท่านมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำและดูแลป่าร่วมไปกับเรา พวกเรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งว่าผลิตภัณฑ์ที่พวกเราทำด้วยใจ ห่วงใยต่อผู้บริโภค ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อแทนคุณแผ่นดิน จะได้รับการสนับสนุนจากทุกท่านครับ หากมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่เบอร์ (063) 838-8990 อีเมล [email protected] นายยงยุทธ แสนหาญชัย”