เผยแพร่ |
---|
นายเดชา บรรลือเดช ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประมง สมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ และประธานกรรมการศูนย์เรียนรู้การเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติ กล่าวถึงการเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติที่คิดค้นและจดสิทธิบัตรเป็นนวัตกรรมการเลี้ยงกุ้ง ว่า “การเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติ” เป็นระบบน้ำหมุนเวียนแบบปิดจะป้องกันโรคที่เกี่ยวกับกุ้งได้แทบทุกชนิด ซึ่งเริ่มต้นจากช่วงวิกฤติโรค EMS (Early Mortality Syndrome) ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมกุ้งของไทยทั้งระบบ มากระทั่งเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศ กำหนดให้ โรค Hepatopancreatic microsporidioisis caused by Enterocytozoon hepatopenaei (EHP) และโรค Shrimp hemocyte iridescent virus (SHIV) ซึ่งเกิดในกุ้ง เป็นโรคภายใต้พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ฯ เช่นเดียวกับโรคอื่นๆ ในสัตว์น้ำที่เคยมีการประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้ จำนวน 38 โรค จากประสบการณ์การเลี้ยงกุ้งกว่า 30 ปี จนนำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมการเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติดังกล่าว มองว่าระบบนี้สามารถควบคุมได้และมีความเสถียรมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เสียดายว่าเกษตรกรไทยไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าที่ควร ส่วนใหญ่ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานที่ศูนย์เรียนรู้ฯ จะเป็นชาวต่างประเทศ
“อยากให้เกษตรกรไทยได้ทดลองใช้ระบบอิงธรรมชาติแล้วต่อยอด มองว่าอนาคตต้องใช้ระบบอิงธรรมชาตินี้ในการเลี้ยงสัตว์น้ำ ระบบนี้อาจไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุดแต่มองว่าเป็นระบบที่ได้ผลและประสบความสำเร็จค่อนข้างสูง ก้าวข้ามเรื่องโรคไปได้อย่างปลอดภัย ทุกอย่างไม่มี 100% แต่อย่างน้อยที่สุดเกษตรกรที่เอาระบบนี้ไปใช้ 80% หรือกว่านั้นจะประสบความสำเร็จ และด้วยบทบาทการผลักดันจากสภาเกษตรกรแห่งชาติที่พยายามทำระบบอิงธรรมชาติให้เป็นที่รู้จักของเกษตรกรทั่วประเทศ เราแก้ปัญหาให้เกษตรกรและเป็นระบบที่ทดลองทำและใช้เองจนมั่นใจมาก ถึงกล้าจัดตั้งศูนย์ถ่ายทอดให้กับเกษตรกรทั้งในและต่างประเทศได้ เกษตรกรส่วนใหญ่ที่มาดูงานที่ศูนย์แล้วนำไปต่อยอดไม่ค่อยมีปัญหา อาทิ บ่อเลี้ยงที่จังหวัดนครนายก จันทบุรี นครศรีธรรมราช หรือแม้แต่พื้นที่สีแดงที่แย่สุดๆ ไม่สามารถทำบ่อเลี้ยงได้เลย แต่พอปรับเป็นระบบอิงธรรมชาติก็สามารถเลี้ยงได้รอด ปลอดภัย ได้ผลผลิตหลายรอบ เช่นเดียวกับต่างประเทศที่เลี้ยงไม่ได้ พอเข้ามาดูระบบที่ศูนย์ก็นำกลับไปปรับต่อยอดจนเลี้ยงได้และเพิ่มผลผลิต อาทิ ประเทศเกาหลีใต้ที่ตอนนี้ผลิตได้ 7-10 ตันกว่า ด้วยช่วงระยะเวลาไม่เกิน 4 ปีแต่ของไทยยังช้าอยู่” นายเดชา กล่าว
อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติยังมีปัญหาคือ หากผู้ทดสอบกระบวนการตรวจสอบมีสุขภาพสายตาไม่ดีจะไม่สามารถทำการทดสอบสารอย่างแม่นยำได้, ปริมาณการหยดสารทดสอบไม่เท่ากัน, สมาธิระหว่างนับหยดสารทดสอบ เป็นต้น สภาเกษตรกรแห่งชาติซึ่งผลักดันเรื่องการเลี้ยงกุ้งแบบอิงธรรมชาติให้เกิดเป็นระบบที่ยั่งยืน นอกจากการจดสิทธิบัตรแล้ว ภายใต้ความร่วมมือกับดีป้าและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เตรียมพัฒนาใช้แอปพลิเคชั่นเข้ามาช่วยเพื่อให้การเลี้ยงด้วยระบบอิงธรรมชาติเกิดความเสถียร แม่นยำ สะดวก รวดเร็ว และทันสมัยมากขึ้น