สมธิดา ภักดีภักดิ์ กับแนวคิดการเลี้ยงกุ้ง แบบโมเดิร์นฟาร์ม ที่ชุมพร

“การดูแลกุ้งให้ประสบความสำเร็จ สุขภาพกุ้งต้องแข็งแรง การจัดการฟาร์มต้องดี เปรียบเทียบกุ้งก็เหมือนกับชีวิตคนเรา ถ้าหากกุ้งกินดี ออกกำลังกายอยู่เป็นประจำก็ย่อมที่จะแข็งแรงเหมือนคนเช่นเดียวกัน”

คุณสมธิดา ภักดีภักดิ์ (คุณจั่น) สาวน้อยมาดเข้มที่มุ่งทำตามฝันผ่านการนำความรู้ที่บ่มเพาะมาแต่ครั้งเยาว์วัยด้วยครอบครัวประกอบธุรกิจฟาร์มเลี้ยงกุ้ง (อ่าวค้อฟาร์ม) ตั้งอยู่ ณ บ้านเลขที่ 44 ตำบลด่านสวี อำเภอสวี จังหวัดชุมพร เมื่อจบการศึกษาจากรั้วเกษตรศาสตร์ได้กลับมาสานต่อในฐานะผู้จัดการฟาร์มกุ้ง ภายใต้แนวคิด “เลี้ยงกุ้งแบบโมเดิร์นฟาร์ม” ลดรายจ่ายค่าอาหารพร้อมย่นระยะเวลาในการเลี้ยงและปลอดภัยจากโรคจนสามารถสร้างรายได้ในรูปแบบเกษตรกรเลี้ยงกุ้งได้อย่างมั่นคง

คุณจั่น เล่าว่า อ่าวค้อฟาร์ม เป็นธุรกิจที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยบิดานับเวลารวมแล้วผ่านมากว่า 31 ปี โดยที่ตนเองเริ่มซึมซับกับการเลี้ยงกุ้งผ่านการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กทั้งจากคุณแม่ที่เป็นผู้ฝึกให้ดูลูกกุ้งและคุณพ่อที่จะพาไปดูบ่อเลี้ยงกุ้งส่งผลให้เกิดความคุ้นชินกับบรรยากาศคนเลี้ยงกุ้งอยู่ตลอด ครั้นเมื่อจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนสวีวิทยา จึงเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาที่คณะประมง ภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คุณสมธิดา ภักดีภักดิ์ (จั่น)

หลังสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2559 แล้วนั้น ด้วยความที่ตนเองเป็นลูกสาวเพียงคนเดียวของครอบครัวผนวกกับทั้งบิดา-มารดามีความชราภาพมากแล้ว กอปรกับที่ได้เล็งเห็นว่าอาชีพเกษตรกรเลี้ยงกุ้งนั้นเป็นอาชีพที่มีความมั่นคงสามารถสร้างผลกำไรได้มากกว่าการทำงานเป็นพนักงานเงินเดือนและได้อยู่กับครอบครัว จึงเลือกที่จะนำความรู้กลับมาพัฒนาธุรกิจฟาร์มเลี้ยงกุ้งที่บ้านเกิดในจังหวัดชุมพรภายในทันที

ช่วงแรกที่กลับมานั้นฟาร์มกุ้งยังคงใช้รูปแบบการเลี้ยงอยู่ในระบบกึ่งหนาแน่น (Semi Intensive) ซึ่งถือเป็นระบบเก่ายังคงไม่ได้รับการพัฒนาไปมากนัก ตนเองจึงเข้ามาค่อยๆ ปรับเปลี่ยนระบบการเลี้ยงเสียใหม่ เนื่องจากระบบดังกล่าวการเลี้ยง หรือการจัดการฟาร์มกุ้งยังคงอิงกับธรรมชาติมากจนเกินไป ส่งผลให้ผู้เลี้ยงไม่สามารถควบคุมอัตราการเจริญเติบโตของกุ้งและความสะอาดของน้ำที่จะใช้ในการเลี้ยงกุ้งได้ดีเท่าไรนัก

นักวิชาการตรวจสอบความเรียบร้อยภายในบ่อ

ทั้งนี้ ได้แก้ไขผ่านการบูรณาการความรู้ทั้งจากที่ปรึกษาซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (ซีพีเอฟ) เข้ามาช่วยในการวางแผนจัดการระบบการเลี้ยงกุ้งผสานกับการใช้ประสบการณ์ของพ่อและแนวคิดใหม่ๆ จากตนเองมาปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยงให้เป็นระบบที่มีการพัฒนามากยิ่งขึ้น ซึ่งในฟาร์มแห่งนี้มีเนื้อที่ทั้งหมด 250 ไร่ มีบ่อเลี้ยงกุ้งอยู่ 20 บ่อ แต่ปัจจุบันเลือกเลี้ยงจำนวน 9 บ่อ โดยใช้กุ้งขาวแวนนาไมทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงกุ้งแบบโมเดิร์นฟาร์มนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเลี้ยงในคราวเดียวทั้ง 9 บ่อ แต่อาศัยการทดลองเลี้ยงภายในบ่อเดียว ซึ่งเดิมทีใน 1 บ่อจะใช้เครื่องตีน้ำเพียง 8 ตัวเท่านั้น แต่กลับกันปัจจุบันจะใช้เครื่องตีน้ำอยู่ที่ 24 ตัว ต่อ 1 บ่อ อาศัยการนำเครื่องตีน้ำเก่าที่หลงเหลืออยู่มาทดลองใช้ ภายใต้การตั้งสมติฐานขึ้นว่า “ในกรณีที่เลี้ยงกุ้งทุกบ่ออาจได้บ้างเสียบ้าง กลับกันหากทดลองเลี้ยงเพียงบ่อเดียวแต่เพิ่มความหนาแน่นมากยิ่งขึ้นแล้วลองจัดการดูแลอย่างดี แล้วจึงนำมาเปรียบเทียบกันว่าแบบใดดีกว่ากัน” อีกทั้งการเลือกทดลองเลี้ยงเพียง 1 บ่อยังช่วยให้สามารถควบคุมและดูแลปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ภายในบ่อได้อย่างครอบคลุมอีกด้วย

เตรียมบ่อให้เหมาะกับการเลี้ยงกุ้ง

ก่อนนำลูกกุ้งลงบ่อเลี้ยงจะต้องมีการเตรียมบ่อให้อยู่ในสภาพที่เหมาะต่อการเลี้ยงกุ้งอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ซึ่งในขั้นตอนนี้อาจมีการใช้รถแบ๊กโฮเข้ามาปรับสภาพบ่อให้เข้ารูป โดยเฉพาะปรับสโลปดินคันบ่อเพราะเมื่อมีการใช้บ่ออยู่ตลอดย่อมต้องทำการดูดเลนดินก็จะหลุดไปด้วย ส่วนในกรณีที่พบหลุมในบ่อก็จะต้องกลบพร้อมปรับพื้นบ่อให้มีความลาดเอียงเพื่อให้ง่ายต่อการจับกุ้งผ่านการใช้รถแทรกเตอร์ D2 เข้ามาทำงานควบคู่กัน

ภายหลังจากเสร็จสิ้นการปรับสภาพบ่อแล้วย่อมต้องมีการปรับสภาพดินตามไปด้วย อาจมีการใช้ปูนมาร์ล หรือปูนขาว (แคลเซียมคาร์บอเนต) นำมาโรยพื้นบ่อ ส่วนสาเหตุที่ต้องใช้นั้นก็เพราะพื้นบ่อมีการสะสมของเสียจึงต้องทำการแก้ไขให้พื้นบ่อกลับกลับมาอยู่ในสภาพที่ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งใช้โรโดซูโดโมแนส (จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง) เข้ามาช่วยในการย่อยสลายดินเลนที่คงค้างอยู่ หรือแก๊สไข่เน่าให้หมดไป อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงกุ้งไม่มีสูตรที่ตายตัว ผู้เลี้ยงจะต้องสังเกตดูก่อนว่าพื้นบ่อมีสภาพเป็นอย่างไรแล้วจึงลงมือทำการแก้ไขไปตามนั้น

สิ่งที่ดีที่สุดในการเลี้ยงกุ้งนั้นก็คือการให้ธรรมชาติได้บำบัดด้วยตัวเอง ผู้เลี้ยงจะต้องมีช่วงเวลาพักให้บ่อได้สัมผัสกับอากาศและแสงแดด ใน 1 กรอบการเลี้ยงจะกินระยะเวลาประมาณ 110 วัน ซึ่งใน 1 ปี จะเลี้ยงอยู่ 2 กรอบ ที่เหลือจึงเว้นไว้ตากบ่อเพื่อให้ธรรมชาติได้บำบัดไม่ควรเร่งเลี้ยงจนเกินไปเพราะอาจจะส่งผลเสียให้มีเชื้อโรคเข้าไปสะสมได้

ส่วนการคลุมพีอี (พลาสติกสำหรับคลุมบ่อ) นั้นก็เพื่อป้องกันหญ้า ป้องกันดินสไลด์ อีกประการหนึ่งถ้าในบ่อเลี้ยงเปิดเครื่องตีน้ำตะกอนจะไม่ค้างตรงขอบบ่อเพราะลื่นและทำให้สารอินทรีย์หรือสารแขวงลอยกระเด้งออกไปได้ดี เมื่อทำการตากบ่อจนแห้งสนิทดีแล้วจึงเตรียมน้ำเข้าบ่อเป็นขั้นตอนต่อไป

เครื่องสูบน้ำหัวพญานาค

ให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำ

การเลี้ยงกุ้งตั้งแต่ครั้งอดีตตราบจนถึงปัจจุบัน น้ำถือปัจจัยหลักในการเลี้ยง คุณจั่นเลือกที่จะใช้น้ำที่สูบขึ้นมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติด้วยเครื่องสูบน้ำหัวพญานาค ก่อนจะนำมาเข้าสู่กระบวนการฆ่าเชื้อเพื่อเตรียมน้ำให้มีความสะอาดมากที่สุด ฟาร์มกุ้งจะถูกจัดสรรพื้นที่ 30 เปอร์เซ็นต์เพื่อเลี้ยงกุ้ง ส่วนอีก 70 เปอร์เซ็นต์ คือพื้นที่ในการจัดการน้ำ ภายใต้แนวคิด “การเลี้ยงกุ้งคือการเลี้ยงน้ำ” โดยรวมแล้วจะเรียกแนวทางการเลี้ยงในรูปแบบดังกล่าวนี้ว่าระบบ Intensive หรือการเลี้ยงกุ้งแบบพัฒนาแล้ว

คุณจั่น กล่าวว่า การจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพนั้นต้องสูบน้ำขึ้นมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติเข้ามาพักไว้ในบ่อที่ 1 (บ่อตกตะกอน) เพื่อให้น้ำมีการตกตะกอนเศษดิน ทราย หรือสารแขวนลอยต่างๆ เมื่อสังเกตว่าน้ำตกตะกอนใสดีแล้วจึงสูบเข้ามายังบ่อพักลูกที่ 2 เพื่อทำการฆ่าเชื้อด้วยด่างทับทิมซึ่งจะมีการหยอดลงไปในหัวท่อดูดน้ำเข้าบ่อ เมื่อดักตะกอนพร้อมกับฆ่าเชื้อเสร็จสิ้นจึงสูบน้ำเข้ามาต่อในบ่อที่ 3 เพื่อทำการฆ่าเชื้อแบคทีเรียด้วยสารคลอรีนอีกทีหนึ่ง หลังจากนั้น จึงสูบน้ำเข้ามาสู่บ่อที่ 4 เพื่อนำมาเป็นน้ำพร้อมใช้ (บ่อเลี้ยง) เตรียมเอาไว้ก่อนที่จะนำลูกกุ้งลงเลี้ยงประมาณ 7 วัน

ฆ่าเชื้อโรคภายในน้ำด้วยด่างทับทิม

การจัดการน้ำนี้จะใช้พื้นที่ทั้งหมดจำนวน 3 บ่อ เพื่อมาเลี้ยง 1 บ่อ ในอดีตอาจเลือกเลี้ยงในทั้ง 4 บ่อ แต่ปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนมาเลี้ยงเพียง 1 บ่อ เพื่อควบคุมได้อย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ส่วนอีก 3 บ่อที่เหลือก็เอาไว้สำหรับจัดการน้ำเพื่อมารองรับบ่อเลี้ยงแต่เพียงเท่านั้น

นำลูกกุ้งลงสู่บ่อเลี้ยง

เนื่องจากปัญหาด้านราคาจำหน่ายกุ้งที่ขึ้น-ลงไม่เท่ากัน อ่าวค้อฟาร์มจึงเลือกใช้วิธีเฉลี่ยลงลูกกุ้งเดือนละ 1 บ่อ ซึ่งจะช่วยให้หมุนเวียนเงินได้ง่าย อีกทั้งยังส่งผลให้ในแต่ละเดือนจะมีกุ้งให้จับอยู่แทบทุกเดือน ส่วนพันธุ์ลูกกุ้งเลือกที่จะติดต่อสั่งซื้อลูกกุ้งขาวแวนนาไมที่ศูนย์ปรับปรุงพันธุกรรมกุ้งปะทิว จังหวัดชุมพร

สำหรับพื้นที่ของบ่อเลี้ยงกุ้งที่ใช้สำหรับทดลองเลี้ยงมีขนาด 3 ไร่ อัตราความหนาแน่นเฉลี่ยอยู่ที่ 100,000 ตัว ต่อไร่ ในการปล่อยลูกกุ้งแต่ละครั้งจะต้องมีการคำนวณอัตราความหนาแน่นของกุ้งให้สอดคล้องกับขนาดพื้นที่บ่อ เนื่องจากการเลี้ยงกุ้งในปริมาณที่มากเกินความจุของบ่อย่อมส่งผลให้มีของเสียเกินขีดจำกัดที่บ่อจะรับได้ เมื่อปริมาณออกซิเจนน้อยกุ้งก็ย่อมมีความเสี่ยงที่จะตายได้ง่าย

หลังจากนำลูกกุ้งลงสู่บ่อก็จะต้องสังเกตอาการตามเกณฑ์มาตรฐานซึ่งทางผู้จำหน่ายลูกพันธุ์กุ้งจะมีรายการแจ้งให้ทราบแล้วจึงดำเนินการตามนั้น ส่วนการให้อาหารในช่วงเดือนแรกค่อนข้างจะปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐาน

บรรยากาศภายในบ่อเลี้ยงกุ้ง

อ่าวค้อฟาร์มได้มีการเน้นหนักไปที่การตรวจสอบคุณภาพน้ำอย่างพิถีพิถันอยู่ทุกวัน เนื่องจากในบางครั้งมีปริมาณของเสียในน้ำมากย่อมส่งผลให้แพลงตอนและแบคทีเรียเกิดขึ้นมากตามไปด้วย ซึ่งสามารถสังเกตได้จากสีน้ำที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ส่งผลให้กุ้งได้รับออกซิเจนน้อยค่า pH ของน้ำก็มีการแกว่งตัวตามไปด้วย ทั้งนี้ การตรวจค่าน้ำทุกวันจะสามารถช่วยให้ทราบได้ว่ากุ้งต้องการอะไรเพิ่ม เมื่อรู้ว่าขาดอะไรจะต้องเสริมเข้าไป อาทิ แมกนีเซียม แคลเซียม อัลคาไลน์ เป็นต้น

กรณีกุ้งทำการลอกคราบย่อมต้องการธาตุอาหารเสริมเพื่อสร้างเปลือก แต่กลับกันหากแร่ธาตุไม่เพียงพอเพราะไม่ได้ตรวจเช็คน้ำแล้วเสริมส่วนที่ขาดลงไปเมื่อกุ้งลอกคราบเสร็จก็จะเกิดการตายนิ่ม จุดนี้จึงถือเป็นประเด็นสำคัญของผู้ที่เลี้ยงกุ้งในจำนวนที่มากแล้วมีแร่ธาตุไม่เพียงพอ นอกจากนี้แล้ว ในทุกๆ วันยังต้องทำการตรวจวัดค่าอุณหภูมิของน้ำในบ่อเลี้ยงควบคู่กันไปด้วย

เช็คยอตรวจสอบปริมาณการกินอาหาร

นอกจากการตรวจสอบคุณภาพน้ำแล้วการยกยอเพื่อตรวจสอบกุ้งโดยตรงก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน เนื่องจากจะทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสามารถที่จะทราบถึงขนาดไซซ์โดยประมาณของกุ้งรวมถึงอัตราการบริโภคอาหารในแต่ละวันได้

ยอตรวจสอบปริมาณการกินอาหารของกุ้ง

คุณจั่น กล่าวต่อไปว่า หลังจากผ่าน 20 วันแรกไปแล้วจึงเริ่มทำการเช็คยอเปรียบเทียบว่ากุ้งกินอาหารหมดหรือไม่ โดยตัวยอนั้นจะมีลักษณะเป็นวงกลมกว้างประมาณ 1 เมตร นักวิชาการจะต้องไปยกยอขึ้นมาตรวจสอบดูว่าในพื้นที่ 1 ตารางเมตร กุ้งมีลักษณะเป็นเช่นไร กินอาหารดีหรือไม่ อีกทั้งการเช็คยอนี้จะช่วยให้ทราบถึงสีน้ำ และรู้ว่าขี้กุ้งมีมากหรือน้อยเพียงใด โดยการเช็คยอจะตรวจเช็คในช่วงเช้า 4 ครั้ง และเย็น 4 ครั้ง

เมื่อทราบถึงความต้องการอาหารของกุ้งผ่านการเช็คยอแล้วจึงกำหนดปริมาณอาหารที่จะให้ในแต่ละรอบด้วยเครื่องให้อาหารกุ้งแบบอัตโนมัติซึ่งจะสาดอาหารตามเวลาที่ถูกกำหนดเอาไว้ ซึ่งตามปกติแล้วในถังอาหาร 1 ถังจะมีอาหารกุ้งอยู่ 100 กิโลกรัม หากใกล้หมดก็จะมีการเติมเข้าไปใหม่ เพราะฉะนั้น กุ้งจะกินอาหารโดยเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 2 รอบ หากกุ้งไม่กินอาหารก็จะงดให้ และหยุดให้อาหารกุ้งในช่วงเที่ยง-บ่ายเพื่อให้กุ้งพักจากการกินอาหาร รวมถึงคนก็ได้พักผ่อนด้วยเช่นกันก่อนจะมาเริ่มเช็คอีกครั้งในช่วงเวลาประมาณ 14.00 น. เป็นต้นไป

เครื่องให้อาหารกุ้งอัตโนมัติ

ส่วนการตรวจเช็คขนาดของกุ้งอย่างละเอียดนั้นควรใช้วิธีการทอดแหขึ้นมาแล้ววัดขนาดของกุ้งว่าอยู่ในไซซ์ใด สามารถที่จะจับเพื่อจำหน่ายได้หรือไม่ สำหรับกรอบการเลี้ยง 1 กรอบจะกินระยะเวลาอยู่ประมาณ 4 เดือน เมื่อกุ้งมีขนาดใหญ่มากขึ้น งานก็ย่อมที่จะน้อยลง ยิ่งในกรณีที่สามารถเลี้ยงกุ้งได้ไซซ์ใหญ่ราคาก็ย่อมที่จะสูงขึ้นตามไปด้วย

เนื่องจากที่ฟาร์มแห่งนี้มีกระบวนการจัดการที่ใช้จำนวนเงินสูงอยู่พอสมควร เพราะใช้คนค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับจำนวนบ่อ มีนักวิชาการจำนวน 3 คน โดยนักวิชาการ 1 คนจะคุม 3 บ่อ และมีลูกน้องที่ปฏิบัติงานของตนเองในแต่ละบ่อจำนวน 1-2 คน ส่วนหน้าที่ของนักวิชาการนั้น คือ การเช็คยอ เช็คน้ำ เช็คอาหาร ดูการทำงานของคนงาน และตรวจสอบความเรียบร้อยภายในบ่อซึ่งนักวิชาการนั้นก็ไม่ใช่ใครอื่นเป็นเพื่อนร่วมรุ่นที่เรียนจบมาจากที่เดียวกันเพราะต้องอาศัยผู้ที่มีความชื่นชอบในงานด้านนี้และมีความเชี่ยวชาญในการดูแลกุ้ง

ออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกุ้ง

จุดเด่นอีกประการหนึ่งของอ่าวค้อฟาร์มนั้นคือ การไม่นำยาปฏิชีวนะใดๆ เข้ามาใช้กับกุ้ง แต่กลับกันในกรณีที่กุ้งป่วยเป็นโรคให้ถือเสียว่าเป็นเพราะการจัดการดูแลที่ไม่ดี เนื่องจากกุ้งเป็นสัตว์ที่อ่อนแอเมื่อเจอเชื้อโรคมากๆ ย่อมป่วยตาย อีกทั้งกุ้งมีนิสัยที่กินกันเองจึงย่อมที่จะแพร่กระจายเชื้อโรคได้อย่างรวดเร็วยิ่งเลี้ยงในระบบหนาแน่นด้วยแล้วยิ่งมีความเสี่ยงสูง

คุณจั่นเลือกที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีให้กุ้งออกกำลังกายโดยอาศัยแรงเคลื่อนของน้ำผ่านการเปิดเครื่องตีน้ำทั้งหมดเพื่อให้กุ้งได้ว่ายน้ำอยู่ตลอดเวลา โดยไม่ปิดเครื่องตีน้ำทั้งหมดเพราะเมื่อกุ้งต้องอยู่นิ่งๆ ในระยะเวลานานย่อมมีปัญหาตามมาในภายหลัง ทั้งนี้ การเปิดเครื่องตีน้ำใน 1 วัน มีการจัดสรรแบ่งเวลาเปิด-ปิดให้เข้ากับงบประมาณและจำนวนพื้นที่ของบ่อเลี้ยง ซึ่งจะมีตั้งแต่บ่อขนาด 3 ไร่ ไปจนถึงบ่อขนาด 7 ไร่ โดยเน้นเปิดในช่วงกลางคืนทั้ง 24 ตัว ส่วนช่วงกลางวันเปิด 10-15 ตัว เพราะออกซิเจนจะไม่ค่อยขาดในช่วงกลางวัน

เปิดเครื่องตีน้ำทุกตัวเพื่อเพิ่มออกซิเจนและให้กุ้งออกกำลังกาย

เสริมด้วยการนำธาตุอาหารที่มีความจำเป็นมาให้แก่กุ้งผ่านกรรมวิธีผสมลงไปในอาหารโดยตรง เพราะในบางครั้งการเติมแร่ธาตุลงไปในน้ำนั้นยังคงไม่เพียงพอ และการเสริมธาตุอาหารเข้าไปนั้นย่อมที่จะดีกว่าการใช้ยาปฏิชีวนะที่มีผลข้างเคียงหลงเหลือไปสู่ผู้บริโภค แต่หากเสริมแร่ธาตุและเน้นให้กุ้งออกกำลังกายจะทำให้กุ้งมีสุขภาพที่แข็งแรงมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งได้ธาตุอาหารตรงตามความต้องการของกุ้งอีกด้วย

แนวทางทำตลาดกุ้งในยุค 4.0

นอกจากความใส่ใจในรูปแบบการเลี้ยงแล้ว การให้ความสำคัญกับการทำตลาดเพื่อให้ได้มาซึ่งผลกำไรก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน เนื่องจากราคาจำหน่ายกุ้งในปัจจุบันมีอัตราผันผวนขึ้น-ลงอยู่เสมอ เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจึงต้องกำหนดจำนวนกุ้งในการจับเพื่อจำหน่ายในแต่ละคราว รวมไปถึงการหมุนเวียนกุ้งให้มีจับจำหน่ายอยู่ในแทบทุกเดือน

คุณจั่น กล่าวว่า อ่าวค้อฟาร์มจะเริ่มจับกุ้งจำหน่ายตั้งแต่ในเดือนที่ 2 ของการเลี้ยง ด้วยวิธีการแบ่งออกจับ ไม่ได้จับในคราวเดียวทั้งหมด เนื่องจากกุ้งเริ่มมีความหนาแน่นเพิ่มมากขึ้น ใน 1 บ่อ มีกุ้งอยู่ประมาณ 20 ตัน จะแบ่งออกจับประมาณ 5 ตัน เมื่อจับแล้วก็เลี้ยงกุ้งที่เหลือในบ่อต่อจนกระทั่งมีน้ำหนักถึง 20 ตัน จึงเริ่มจับอีกครั้งประมาณ 5 ตัน แบ่งจับอยู่แบบนี้ไปเรื่อยๆ ส่งผลให้ที่ฟาร์มมีกุ้งจำหน่ายออกสู่ตลาดอยู่โดยตลอด

แต่ในบางครั้งที่กุ้งราคาไม่ดีอาจใช้วิธีการนำกุ้ง 5 ตัน ที่แบ่งออกจับนี้ไปเลี้ยงต่ออีกบ่อโดยไม่ต้องซื้อลูกกุ้งใหม่และรอให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น ส่วนวิธีการขายนั้นก็จะมีการมาประเมินตีราคาโดยแพกุ้งในจำนวนเงินที่เจ้าของฟาร์มพอใจจึงเริ่มทำการจับ

นอกจากการจำหน่ายให้แก่แพกุ้งเพียงอย่างเดียวแล้วยังมีการจำหน่ายทั้งปลีก-ส่งให้แก่กลุ่มแม่ค้าภายในตัวจังหวัดชุมพร ซึ่งลูกค้าจะได้รับกุ้งที่จับสดใหม่จากฟาร์มโดยไม่ผ่านกระบวนการดองน้ำแข็งจนเป็นที่ถูกใจของแม่ค้าหลายราย ส่วนราคาจำหน่ายก็สูงกว่าการจำหน่ายแบบเหมาจับโดยแพกุ้ง อีกทั้งที่ฟาร์มยังมีกุ้งไซซ์ใหญ่ขนาด 20 ตัว ต่อกิโลกรัม ไว้คอยจำหน่ายให้แก่ร้านอาหารอีกด้วย

ด้านผลกำไรที่ได้ในปัจจุบัน ถือว่าอยู่ในระดับที่คุ้มค่าต่อการลงทุน ส่วนต้นทุนต่อไร่จะอยู่ที่หลักล้านบาทเพราะเน้นให้อาหารกุ้งคุณภาพดี ซึ่งภายใน 1 วัน กุ้งกินอาหารประมาณ 800 กิโลกรัม เฉลี่ยแล้วจะมีค่าอาหารตกอยู่ที่วันละ 12,000 บาท หรือเรียกว่ากว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายในการจัดการฟาร์มนั้นเป็นปัจจัยเกี่ยวกับค่าอาหารกุ้งเกือบทั้งหมด ด้วยความใส่ใจดูแลในกระบวนการเลี้ยงกุ้งอ่าวค้อฟาร์มจึงได้รับมาตรฐานการผลิตสัตว์น้ำ BAP และ มาตรฐาน GAP มกษ. จากกรมประมงที่นับเป็นเครื่องการันตีถึงระบบการจัดการฟาร์มที่ประสบความสำเร็จ

คุณจั่นได้ฝากทิ้งท้ายว่า “การเลี้ยงกุ้งหากเราใส่ใจกับมันจริงๆ นับเป็นงานที่มีความสนุก มีความมั่นคง สามารถสร้างรายได้ให้แก่ทั้งตนเองและนำรายได้เข้าสู่ประเทศ แล้วยังเพิ่มความสุขในการได้ทำงานอยู่กับครอบครัวอีกด้วย

สำหรับผู้ที่มีความสนใจสั่งซื้อกุ้งขาวแวนนาไม สามารถติดต่อได้ที่ คุณสมธิดา ภักดีภักดิ์ (จั่น) เลขที่ 44 ตำบลด่านสวี อำเภอสวี จังหวัดชุมพร 86130 โทร. (081) 787-1971

………………………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ.2562

Update 16/07/2021