โดรน นวัตกรรมที่มีบทบาทสูง

จากบทความเรื่องการเกษตรแม่นยำสูง (เทคโนโลยีชาวบ้าน ปีที่ 31 ฉบับที่ 701 : 15 สิงหาคม 2562 หน้า 102) นวัตกรรมชนิดหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในการเกษตรแม่นยำสูง จนเกิดการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสู่เกษตรกรรม 4.0 คือ “โดรน” (Drone)

โดรน จะมีลักษณะคล้ายเครื่องบินบังคับใช้พลังงานแบตเตอรี่ แต่มีความสามารถมากกว่า และนำมาใช้งานด้านเกษตรกรรมได้หลากหลายประเภท เช่น การพ่นยา การใส่ปุ๋ย การรดน้ำ เป็นต้น โดรนถูกใช้งานมาสักระยะหนึ่งแล้ว แต่เนื่องจากก่อนหน้านี้ โดรนมีราคาแพงมาก ลำละหลายแสนบาท จึงมีการใช้เฉพาะในพื้นที่เกษตรขนาดใหญ่โดยภาคเอกชนที่มีความพร้อมด้านเงินทุนเท่านั้น เพื่อคุ้มกับการลงทุน ทำให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึงได้ยาก แต่เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ปัจจุบันมี ทั้งที่ผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ราคาโดรนจึงถูกลงกว่าเดิมมาก คุณภาพดีขึ้น ประกอบกับมีกลุ่มธุรกิจใหม่ๆ ให้บริการพ่นสารเคมีหรือการสำรวจถ่ายภาพพื้นที่โดยการใช้โดรนแล้ว อุปกรณ์ชนิดนี้จึงได้รับการกล่าวถึงและเป็นกระแสที่จะนำโดรนมาใช้แทนแรงงานคนในหลายๆ ภารกิจ ยกตัวอย่าง เช่น

การรดน้ำ หรือการให้ปุ๋ย หากเป็นกรณีต้นพืชที่มีขนาดสูงอาจจะทำได้ไม่ทั่วถึง เกษตรกรสามารถใช้โดรนเพื่อลดข้อจำกัดดังกล่าว เป็นการลดเวลาทำงาน ลดการใช้แรงงานคน สะดวก ปลอดภัย หลีกเลี่ยงการเหยียบย่ำ จนอาจทำให้เกิดความเสียหายในพืชบางประเภท หรือในกรณีต้องการดูแลรักษาโรคพืช เกษตรกรสามารถใช้โดรนพ่นยาได้เฉพาะจุด ทำงานได้รวดเร็วกว่า ลดการฟุ้งกระจาย จนเกิดอันตรายต่อเกษตรกรที่จะได้รับการสูดดมหรือสัมผัสสารเคมีเหล่านั้น

ดังนั้น หากภาครัฐมีมาตรการสนับสนุน เช่น มาตรการด้านภาษีเพื่อส่งเสริมการผลิตและจำหน่าย หรือมาตรการด้านดอกเบี้ยเพื่ออุดหนุนการจัดหาโดรนมาเพื่อใช้งานด้านเกษตรกรรม โดยมองว่าเป็นการลงทุน เพื่อเป้าหมายการลดต้นทุนการผลิตด้านเกษตรกรรมที่ถือว่าเป็นจุดแข็งของชาติ ในฐานะประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและผลผลิตลำดับต้นๆ ของโลก

ตัวเลขจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย หากประเทศไทยมีการนำโดรนเพื่อการเกษตรเข้ามาใช้งานในพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น นาข้าว สามารถลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่าหนึ่งพันล้านบาท และตามแผนยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ระยะแรก ก็คาดการณ์ว่าจะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 6,000 ล้านบาท โดยประมาณการนี้อยู่ภายใต้ข้อสมมติฐานว่าจำนวนพื้นที่เป้าหมายนาแปลงใหญ่เพิ่มขึ้นจากเดิม เป็นจำนวน 7,000 แปลง ในปี 2564

Uav Plant Protection Drone Dji Farmland Agriculture

จากยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) ระบุว่า ในปี 2564 กำหนดให้เกษตรกร ร้อยละ 60 ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี สามารถนําไปประยุกต์ใช้งานได้ และเพื่อจะให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น ส่วนหนึ่งต้องมีแนวทางแก้ปัญหาเกษตรกรรายย่อยที่ไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง หรือไม่มีเอกสารสิทธิการเช่าที่ถูกต้อง ทำให้ไม่สามารถรวมกลุ่มตามโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ตามหลักการ “ประหยัดโดยเพิ่มขนาดการผลิตที่คุ้มค่าต่อการลงทุน (economic of scale)” รวมถึงควรนำแนวคิด “การลงแขก” จากคติการทำเกษตรแบบดั้งเดิม คือการแลกเปลี่ยนหมุนเวียนใช้แรงงานช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มาประยุกต์ “รวมกันเราอยู่ แยกกันเราตาย” เป็นกลุ่มเกษตรกรเพื่อจัดหาอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีที่เหมาะสมช่วยแบ่งเบาภาระหรือปรับวิธีการทำงานในยุคเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัล (digital disruption) ทำให้การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ เป็นได้ง่ายและรวดเร็วผ่านการใช้งานเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

สำหรับประเด็นเรื่องข้อกฎหมาย ตามประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ. 2558 กำหนดว่า “โดรน” เป็น

“อากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก” หมายความว่า อากาศยานที่ควบคุมการบิน โดยผู้ควบคุมการบินอยู่ภายนอกอากาศยานและใช้ระบบควบคุมอากาศยาน ทั้งนี้ ไม่รวมถึงเครื่องบินเล็ก ซึ่งใช้เป็นเครื่องเล่นตามกฎกระทรวงกำหนดวัตถุซึ่งไม่เป็นอากาศยาน พ.ศ. 2548

ทำให้โดรนที่ถูกใช้งานด้านเกษตรกรรม ซึ่งโดยทั่วไปจะมีน้ำหนักเกิน 2 กิโลกรัม เข้าข่ายอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก ประเภทที่ 2 คือ

(2) ประเภทที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกจาก (1) ที่มีน้ำหนักไม่เกิน 25 กิโลกรัม ดังต่อไปนี้

(ก) เพื่อการรายงานเหตุการณ์ หรือรายงานการจราจร (สื่อมวลชน)

(ข) เพื่อการถ่ายภาพ การถ่ายทำหรือการแสดงในภาพยนตร์หรือรายการโทรทัศน์

(ค) เพื่อการวิจัยและพัฒนาอากาศยาน

(ง) เพื่อการอื่นๆ

ดังนั้น ผู้บังคับโดรนต้องมีคุณสมบัติ ลักษณะ และขึ้นทะเบียนต่ออธิบดีกรมท่าอากาศยาน โดยปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ เพื่อควบคุมการใช้โดรนให้เป็นไปอย่างมีระเบียบ ปลอดภัย และคำนึงถึงความมั่นคงของประเทศด้วย

การนำนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่มาใช้งานเพื่อประโยชน์ทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคม ผู้เขียนขอเสนอให้ภาครัฐเป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เชิญผู้เกี่ยวข้องผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนเข้าร่วมหาแนวทางที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมให้มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้อย่างแพร่หลาย พัฒนากระบวนการทำเกษตรกรรมให้มีความทันสมัย (smart farm) เพราะอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพถูกกำหนดให้เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายประเทศไทย 4.0 เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ภาคเกษตรกรรมของไทยยังมีผลผลิตต่อไร่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีผลผลิตประเภทเดียวกัน ผู้เขียนจึงเห็นว่ามีศักยภาพที่สามารถยกระดับแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตจนถึงมือผู้บริโภค กล่าวคือ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต มีคุณภาพมาตรฐานสากล และแข่งขันในตลาดโลกได้ เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

ผู้เขียนขอสรุปปิดท้ายว่า โดรน มีข้อดีคือ ลดการใช้แรงงาน เข้าถึงพื้นที่เกษตรง่าย และทำงานได้อย่างปลอดภัย

อ้างอิง

  1. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
  2. ยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  3. ประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยาน ซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ. 2558