ข้อคิดการปลูก “ทับทิม” ให้ประสบผลสำเร็จจาก สวนเทพพิทักษ์ “ต้องปลูกตามตะวัน”

จากประสบการณ์ในการปลูกทับทิมในเชิงพาณิชย์ของ คุณไพรัตน์ ไชยนอก เจ้าของสวนเทพพิทักษ์ บ้านเลขที่ 130 หมู่ที่ 9 ตำบลช่องแคบ อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ปัจจุบัน ปลูกทับทิมในพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ศรีปัญญา ในขณะที่เกษตรกรหลายรายปลูกทับทิมในเชิงพาณิชย์ไม่ประสบผลสำเร็จ หรือต้นทับทิมออกดอกติดผลไม่ดกเท่าที่ควร ประการสำคัญเกิดจากการได้รับแสงไม่ดี

คุณไพรัตน์ บอกว่า เริ่มแรกของการปลูกทับทิมจะต้องปลูกตามตะวัน ปลูกเป็นแถวยาวจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ถ้าปลูกขวางตะวัน คือปลูกเป็นแถวยาวจากทิศเหนือไปทิศใต้จะส่งผลให้ต้นทับทิมออกดอกติดผลเพียงข้างเดียว หรือให้ผลผลิตไม่ดก

ในเรื่องของระยะปลูกสรุปได้จากคุณไพรัตน์ ใช้ระยะระหว่างต้น 4 เมตร และระยะระหว่างแถว 7 เมตร จะเหมาะที่สุด เนื่องจากเครื่องจักรหรือรถไถเข้าไปทำงานได้สะดวก และยังช่วยลดปัญหาการสะสมของเชื้อราที่เป็นปัญหาหลักของการปลูกทับทิม แปลงปลูกทับทิมในเชิงพาณิชย์จะต้องมีอากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงสว่างส่องได้ทั่วถึง

คุณไพรัตน์ ไชยนอก

ลดต้นทุนปุ๋ยเคมี
ด้วยการใช้ปุ๋ยคอกเป็นหลัก

ในการปลูกทับทิมในพื้นที่ 500 ไร่ ของสวนเทพพิทักษ์ เรื่องการจัดการใช้ปุ๋ยเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก ปริมาณของการใช้ปุ๋ยทางดิน ประมาณ 80% ของปุ๋ยที่ใช้คือ ปุ๋ยคอก และปุ๋ยคอกที่เลือกใช้ คุณไพรัตน์จะใช้ “ขี้หมู” ซึ่งมีการเลี้ยงหมูไว้เอง และนำขี้หมูที่ได้จากการล้างคอกในแต่ละครั้งนำมาตักราดบริเวณทรงพุ่มต้นทับทิมได้เลย

คุณไพรัตน์ได้เฝ้าสังเกตจากการใช้ขี้หมูพบว่า ต้นทับทิมแตกใบใหญ่และเขียวเป็นมัน เหตุผลที่ต้องเลี้ยงหมูเอง เนื่องจากถ้าซื้อขี้หมูจากฟาร์มที่ชาวบ้านหรือบริษัทเอกชนเลี้ยงมักจะมีการใช้ยาฆ่าเชื้อเพื่อดับกลิ่นเหม็นหรือฆ่าเชื้อราซึ่งมีสารโซดาไฟ เมื่อนำมาใส่ให้กับต้นทับทิมอาจจะเป็นพิษกับต้นทับทิมได้ จะต้องระวังเป็นพิเศษ สำหรับปุ๋ยเคมีที่ใช้จะเน้นสูตร 8-24-24 โดยใช้ในปริมาณ 20% ของการใช้ปุ๋ยทั้งหมดจะใส่ในช่วงเตรียมต้นก่อนออกดอก และมีการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบเพื่อเพิ่มความสมบูรณ์และปรับปรุงคุณภาพของผลบ้าง

การเลือกใช้ ‘สารปราบศัตรูพืช’
ในการปลูกทับทิม

คุณไพรัตน์ บอกว่า สารฆ่าแมลงในกลุ่มของสารโปรฟีโนฟอส ซึ่งเป็นสารป้องกันและกำจัดแมลงชนิดครอบจักรวาลและเป็นที่นิยมใช้ในการปลูกไม้ผลหลากหลายชนิด แต่สำหรับต้นทับทิมแล้วไม่ควรใช้อย่างเด็ดขาด ผลคือ จะทำให้ใบทับทิมไหม้และร่วงจนหมดต้น “เพลี้ยหอย” นับเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญชนิดหนึ่งในการทำผลทับทิม

Advertisement

ถ้าจะเลือกใช้สารในกลุ่ม “คลอไพรีฟอส” จะต้องใช้ในอัตราต่ำกว่าปกติ ถ้าใช้ในอัตราสูงจะทำให้ใบทับทิมร่วงเช่นกัน ทางเลือกในการป้องกันและกำจัดเพลี้ยหอยของสวนเทพพิทักษ์ จะใช้สารไวท์ออยล์ผสมกับสารเมโทมิล (เช่น แบนโจ) จะดีกว่า

Advertisement

สำหรับปัญหาเรื่อง “เพลี้ยไฟ” ที่นับเป็นแมลงศัตรูที่สำคัญของการปลูกทับทิม คุณไพรัตน์ แนะนำให้เลือกใช้สารโปรวาโด ซึ่งเป็นสารที่มีความปลอดภัยและใช้ในอัตราต่ำมาก โดยใช้โปรวาโด อัตรา 1-3 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร สามารถป้องกันและกำจัดเพลี้ยไฟได้ผลดี

ในขณะที่ในการป้องกันและกำจัดวัชพืชในสวนทับทิม คุณไพรัตน์ บอกว่า ใช้สารป้องกันและกำจัดวัชพืชได้ทั้งกลุ่มไกลไฟเสตและพาราควอต แต่ที่สวนเทพพิทักษ์จะประหยัดต้นทุนในการป้องกันและกำจัดวัชพืชด้วยการใช้เกลือแกงผสมร่วมกับสารพาราควอต โดยยกตัวอย่าง ถ้าใช้สารพาราควอต 7 ลิตร ที่สวนเทพพิทักษ์จะลดการใช้สารพาราควอตเหลือเพียง 5 ลิตร และผสมเกลือแกงลงไป อัตรา 2 กิโลกรัม เมื่อนำมาฉีดพ่นเพื่อฆ่าหญ้าได้ผลไม่แพ้กัน

เทคนิคในการแก้ปัญหา
‘ทับทิมผลแตก’

จากประสบการณ์ในการปลูกทับทิมมานานนับสิบปีของคุณไพรัตน์ได้สรุปปัญหาของทับทิมผลแตกจะเกิดจากสาเหตุใหญ่ๆ 2 ประการ คือ ผลถูกทำลายด้วยโรคแอนแทรกโนส ในช่วงระยะการเจริญเติบโตของผลทับทิมและมีเชื้อแอนแทรกโนสเข้าทำลายที่ผลอ่อนจนเกิดแผล ทำให้ผลไม่ขยายและแตกในที่สุด

คุณไพรัตน์ยังได้บอกว่าแอนแทรกโนสนับเป็นโรคที่สำคัญสำหรับการปลูกทับทิม และได้แนะนำให้มีการฉีดพ่นสารฆ่าเชื้อราในกลุ่มคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ แต่จะต้องฉีดในช่วงที่ต้นทับทิมยังไม่ออกดอก แต่ถ้าช่วงระยะทับทิมออกดอกและติดผลอ่อนแนะนำให้ใช้สารโวเฟ่น แต่การป้องกันโรคแอนแทรกโนสแบบยั่งยืนคือ เรื่อง “การจัดการแสงและทิศทางลม” เป็นที่สังเกตว่าเกษตรกรที่ปลูกทับทิมในระบบชิดจะเกิดปัญหาโรคแอนแทรกโนสระบาดง่ายและค่อนข้างรุนแรง

“ผลทับทิมโดนแดดเผา” หรือที่ภาษาทางวิชาการเรียกซันเบิร์น ผลทับทิมที่โดนแดดมากๆ จะทำให้ผิวเปลือกทับทิมด้าน ไม่สามารถขยายผลได้ เมื่อได้รับน้ำหรือมีฝนตกลงมาหรือมีการใส่ปุ๋ยจะทำให้ผลแตกได้

แต่สำหรับทับทิมพันธุ์ศรีปัญญามีข้อดีตรงที่ขนาดของผลใหญ่ ทำให้ผลมักจะห้อยตกอยู่ภายในทรงพุ่ม จึงไม่ได้สัมผัสแดดโดยตรง แต่ถ้าเป็นทับทิมสายพันธุ์อื่นๆ จะแก้ปัญหาด้วยการห่อผล โดยห่อในระยะผลมีอายุได้ประมาณ 40-45 วัน หลังจากติดผลอ่อนและจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลังจากห่อผลไป ประมาณ 1 เดือนครึ่ง หรือสังเกตง่ายๆ คือ ห่อในระยะที่ขนาดผลทับทิมใหญ่ใกล้เคียงกับผลส้มเขียวหวาน จะช่วยลดปัญหาเรื่องแดดเผาได้


น้ำทับทิมสด อนาคตไกล
ตลาดต้องการมาก

ปัจจุบัน รูปแบบการผลิตทับทิมของสวนเทพพิทักษ์เปลี่ยนไป แต่เดิมจะมุ่งเน้นผลิตเพื่อจำหน่ายผลสด จะต้องมีการจัดการในเรื่องการควบคุมคุณภาพของผลผลิต โดยเฉพาะในเรื่องของผิวและขนาดของผล นอกจากจะใช้แรงงานเป็นจำนวนมากในการห่อผล จะต้องมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างประณีต เพื่อไม่ให้ผลทับทิมร่วงหล่นตกพื้น ถ้าผลทับทิมตกลงมาจะทำให้เกิดรอยแผลและผลทับทิมจะเน่าบริเวณที่ตกกระแทก ถึงแม้จะมีข้อดีตรงที่ว่าผลทับทิมจะไม่เน่าทั้งผลก็ตาม แต่นำไปขายเป็นผลสดไม่ได้ แต่สามารถนำมาคั้นเป็นน้ำทับทิมสดได้


คุณไพรัตน์ ได้เล่าถึงขั้นตอนในการคั้นน้ำทับทิมพันธุ์ศรีปัญญาว่า เมื่อเก็บเกี่ยวผลทับทิมที่แก่จัดมาแล้ว จะนำผลทับทิมมาผ่าออกเป็น 4 ส่วน ล้างน้ำในอ่างขนาดใหญ่ที่ใส่น้ำสะอาดและผสมเกลือแกงลงไป ในอัตรา 500 กรัม (ครึ่งกิโลกรัม) ต่อน้ำ 500 ลิตร

ในการล้างผลทับทิมแต่ละครั้งจะต้องล้างให้สะอาดที่สุด สังเกตจนน้ำใสและไม่มีสีชาเลย หลังจากนั้น ให้นำผลทับทิมมาพักเพื่อให้สะเด็ดน้ำ นำมาบีบคั้นด้วยเครื่องบีบคั้นน้ำ ที่สวนเทพพิทักษ์ซื้อมาในราคาเครื่องละ 60,000 บาท เครื่องคั้นเครื่องนี้มีประสิทธิภาพในการคั้นผลทับทิมได้ถึง 4-5 ตัน ต่อวัน (4,000-5,000 กิโลกรัม)

ในการบีบคั้นยังมีเทคนิคตรงที่จะต้องนำผลทับทิมที่ล้างสะอาดและสะเด็ดน้ำแล้วมาใส่ในถุงแรงดันที่มีคุณสมบัติเหนียวและยืดหยุ่นได้ดี ในการบีบคั้นน้ำทับทิมศรีปัญญาถ้าจำหน่ายภายในประเทศ คุณไพรัตน์จะบีบซ้ำเพียง 2 ครั้ง แต่ถ้าจะส่งขายตลาดต่างประเทศจะบีบซ้ำถึง 3 ครั้ง เพื่อเพิ่มความฝาดของเปลือกทับทิม (ในการบีบคั้นจะบีบทั้งเปลือก และส่วนของเปลือกจะมีปริมาณสารแทนนินมาก สารแทนนินมีส่วนช่วยเคลือบกระเพาะอาหาร) ผลทับทิมสด จำนวน 100 กิโลกรัม จะบีบคั้นเป็นน้ำทับทิมได้ประมาณ 45 ลิตร

“ชาดอกทับทิม”
เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ของสวนเทพพิทักษ์

เนื่องจากในช่วงที่ต้นทับทิมออกดอกนั้นจะมีปริมาณมาก ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะร่วงหล่นหรือปล่อยให้ติดผลอ่อน มีบางส่วนจะร่วงหล่นเอง เนื่องจากอาหารไม่เพียงพอ คุณไพรัตน์ จึงคิดว่าจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้ดอกทับทิมเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ ในช่วงที่ทับทิมศรีปัญญาออกดอกมากๆ จะใช้แรงงานเข้าไปเพื่อคัดเฉพาะดอกที่มีความสมบูรณ์ไว้

ส่วนดอกที่มีท่อน้ำเลี้ยงเล็กหรือก้านขั้วดอกเล็ก ให้ตัดเอามาผลิตเป็น “ชาดอกทับทิม” โดยนำมาหั่นเป็นฝอย โดยเครื่องสไลซ์ที่คุณไพรัตน์ได้คิดประดิษฐ์ขึ้นมาเอง หลังจากนั้นนำมาตากแดดให้แห้งกรอบ นำไปชงหรือบรรจุซอง จึงเป็นชาดอกทับทิมพร้อมดื่ม

ในทางสมุนไพรพบว่า “ชาดอกทับทิม” จะมีส่วนช่วยลดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย ป้องกันการอักเสบในลำไส้ใหญ่ ล้างไต ลดไขมัน และลดน้ำตาลในเลือดได้ ราคาขายชาดอกทับทิมของสวนเทพพิทักษ์จะขายในราคาขีดละ 50 บาท (จำนวน 100 กรัม) เมื่อนำไปชงผสมน้ำได้มากถึง 35 ลิตร หลังจากนั้น นำไปสเตอริไลซ์กรอกขวดขายจะได้ผลิตภัณฑ์น้ำชาดอกทับทิมที่มีสีแดงสวยน่าดื่มและมีประโยชน์ต่อร่างกาย

ทับทิมศรีสยาม

“ศรีสยาม” ทับทิมสายพันธุ์ใหม่
ของสวนเทพพิทักษ์

คุณไพรัตน์ ได้ประสบความสำเร็จในการนำพันธุ์ทับทิมศรีปัญญามาผสมพันธุ์กับทับทิมสเปน คัดเลือกพันธุ์จนได้ต้นที่ดีที่มีคุณสมบัติดี คือ “มีเมล็ดนิ่ม เนื้อมีสีแดง ขนาดผลใหญ่ (แต่ขนาดผลเล็กกว่าพันธุ์ศรีปัญญา) ต้นมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมในบ้านเราได้ดี”

ปัญหาของการปลูกทับทิมเชิงพาณิชย์ในประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จนั้น นอกจากจะพบปัญหาเรื่องเมล็ดในผลทับทิมไม่นิ่มเหมือนกับทับทิมสเปน ทับทิมอินเดีย ฯลฯ แล้ว ต้นพันธุ์จะต้องมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมและไม่อ่อนแอ โดยคุณไพรัตน์ได้ขยายความต้นทับทิมที่ไม่อ่อนแอจะต้องเป็นสายพันธุ์ที่ใบไม่ร่วงง่าย และทนทานต่อโรคแอนแทรกโนสได้ดี

ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของทับทิมพันธุ์ศรีสยามคือ รสชาติของน้ำจะหวานมาก หวานมากกว่าน้ำทับทิมศรีปัญญา ปัจจุบันในการผลิตน้ำทับทิมของสวนเทพพิทักษ์ได้ปรับปรุงคุณภาพของน้ำทับทิมด้วยการผสมน้ำทับทิมพันธุ์ศรีสยามกับพันธุ์ศรีปัญญาใน อัตรา 1 : 5 (น้ำทับทิมศรีสยาม 1 แกลลอน ผสมกับน้ำทับทิมศรีปัญญา 5 แกลลอน) ผลปรากฏว่าตลาดยอมรับมากยิ่งขึ้น

ทับทิมศรีปัญญา