ภารกิจผู้ว่าฯ พัฒนา “ยางพารา-ท่องเที่ยว-ค้าชายแดน” ขับเคลื่อนรายได้ เสริมความมั่งคั่ง สู่บึงกาฬ

ภายหลังจาก จังหวัดบึงกาฬ ได้แยกตัวออกมาจากจังหวัดหนองคาย เมื่อปี 2554 ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากมาย ทั้งในภาคสังคม การค้า การลงทุน ปัจจุบัน “ณพิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ คนที่ 7 มุ่งมั่นทำงานพัฒนาจังหวัดเพื่อให้ประชาชนอยู่ในสังคมที่ดี มีความเป็นอยู่ที่ดี อันจะนำไปสู่ความมั่งคั่งแก่ประชาชนชาวบึงกาฬ

ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (Gross Provincial Product : GPP) ของจังหวัดบึงกาฬ มีมูลค่าปีละ 22,000 ล้านบาท รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้ “บึงกาฬ” พัฒนาจังหวัดในเชิงพื้นที่ (Area Based Approach) ตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากฐานราก เน้นการเปลี่ยนแปลง พฤติกรรม “คน” ในระดับครัวเรือนและชุมชน ให้มีความเข้มแข็ง เน้นการสร้างงานในท้องถิ่น ให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่งแบบยั่งยืน ในด้านรายได้ของประชาชนในระดับหมู่บ้านและชุมชนเป็นสำคัญ เพื่อลดปัญหาความเลื่อมล้ำทางด้านรายได้ของประชาชน

ตั้งเป้าพัฒนา “บึงกาฬ” ให้เติบใหญ่…ไม่แพ้ใคร 

ทั้งนี้ ทางจังหวัดได้กำหนดทิศทางการพัฒนา “บึงกาฬ” ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบด้วย จังหวัดหนองคาย เลย อุดรธานี หนองบัวลำภู และบึงกาฬ หากเปรียบเทียบ GPP ในกลุ่มจังหวัดดังกล่าว ปัจจุบัน อุดรธานี มี GPP : 100,000 ล้านบาท และประกาศความพร้อมเป็นเมืองศูนย์กลางการจัดประชุมสัมมนาการท่องเที่ยว และการจัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ (MICE City) จังหวัดเลย มี GPP : 60,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับจังหวัดหนองคาย ส่วนจังหวัดหนองบัวลำภู GPP ยังน้อยกว่าจังหวัดบึงกาฬ เพราะมีรายได้จากภาคการเกษตร ในกลุ่มนาข้าวและพืชไร่

ด้าน บึงกาฬ มี GPP ปีละ 22,000 ล้านบาท โดยมีแหล่งรายได้สำคัญมาจากภาคการเกษตร โดยเฉพาะยางพารา  เปรียบเทียบกับจังหวัดเลย ที่ปลูกยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ แต่เลยยังมีรายได้เสริมจากพืชไร่และการท่องเที่ยว ทำให้มีรายได้ของประชาชนต่อคน ต่อปี มากกว่าบึงกาฬ เช่นเดียวกับหนองคาย ที่ปลูกยางพารา และมีรายได้จากการท่องเที่ยวและประมงริมแม่น้ำโขง

คุณพิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์

ปัจจุบัน ประชาชนชาวบึงกาฬ มีรายได้เฉลี่ย 63,000 บาท ต่อคน ต่อปี ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด คุณพิสุทธิ์ บุษยพรรณพงศ์ มองว่า ปัจจัยสำคัญที่มีศักยภาพช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัด (GPP) ให้ประชาชนมีรายได้ต่อคน ต่อปี ให้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นได้ในอนาคต ได้แก่ ด้านการท่องเที่ยว ตลาดการค้าชายแดน และด้านการเกษตร โดยจัดทำเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับจังหวัดทั้ง 3 ด้าน ไปพร้อมๆ กัน

ยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยว   

บึงกาฬ นับเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น ทั้งด้านวิถีธรรมชาติ เชิงวัฒนธรรม เชิงอารยธรรมและด้านศาสนา บึงกาฬได้เปรียบในเรื่องทำเลที่ตั้ง เพราะมีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง สปป. ลาว มีเพียงแม่น้ำโขงกั้นอาณาเขตถึง 120 กิโลเมตร เกิดเป็นสภาพภูมิประเทศที่ดูสวยงามแปลกตา พ่วงด้วยผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ จังหวัดบึงกาฬจึงวางแผนพัฒนาจุดขายด้านการท่องเที่ยว ริมแม่น้ำโขงที่มีความงดงามตามธรรมชาติมากมาย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเข้ามาสนับสนุนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดบึงกาฬ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “แหล่งท่องเที่ยวในลุ่มน้ำโขง” เช่น

บึงโขงหลง เป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำเมาและแม่น้ำสงคราม ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง ปี 2522 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนบึงโขงหลง มีพระราชดำริให้พัฒนาอ่างเก็บน้ำบึงโขงหลงเพื่อป้องกันอุทกภัย ช่วยให้ชาวบ้านมีน้ำกินน้ำใช้ เพาะปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี ปัจจุบัน บึงโขงหลง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติของจังหวัดบึงกาฬ เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและมีระบบนิเวศที่ยิ่งใหญ่ เป็นที่อยู่อาศัยของพืชน้ำ สัตว์น้ำ รวมทั้ง นกน้ำ จำนวน 134 ชนิด นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งปลูกบัวแดง เนื้อที่เกือบ 1,000 ไร่ และบัวหลวงอีก 800 ไร่

ภูทอก เป็นที่ตั้งของวัดเจติยาศรีวิหาร (วัดภูทอก) โดยมี พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ เป็นผู้ก่อตั้ง จุดเด่นของภูทอกก็คือ สะพานไม้และบันไดเวียน จำนวน 7 ชั้น เพื่อชมทัศนียภาพรอบๆ ภูทอก แบบ 360 องศา นักท่องเที่ยวจะได้เห็นมุมมองที่แตกต่างไปเรื่อยๆ บันไดที่ทอดขึ้นสู่ยอดภูทอกนี้เปรียบเสมือนเส้นทางธรรมที่น้อมนำสัตบุรุษให้พ้นโลกแห่งโลกียะ สู่โลกแห่งการหลุดพ้น (โลกุตระ) ด้วยความเพียรพยายามและมุ่งมั่น

ภูสิงห์ หนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ห้ามพลาด จุดขายของที่นี่ อยู่ที่หินขนาดใหญ่ อายุประมาณ 75 ล้านปี ติดหน้าผาสูง แยกตัวเป็น 3 ก้อน มองดูจากระยะไกล หิน 3 ก้อนนี้จะดูคล้ายกับฝูงครอบครัววาฬ ที่ประกอบด้วยพ่อวาฬแม่วาฬและลูกวาฬ จึงถูกเรียกว่า “หินสามวาฬ” ที่นี่ยังมีน้ำตกที่สวยงามมาก

น้ำตกถ้ำพระ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ ที่ดูอลังการมาก เพราะมีปริมาณน้ำมหาศาล และมีลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เฉพาะตัวของลานหินน้ำตก ทำให้น้ำตกดูสวยงามเกินจะบรรยาย “หนองเลิง” ในเขตพื้นที่อำเภอพรเจริญ เป็นแหล่งท่องเที่ยวน้องใหม่ของจังหวัดบึงกาฬ โดดเด่นในเรื่อง “ทะเลบัวแดง” บานสะพรั่งอยู่เต็มเนื้อที่ 500 ไร่ จุดชม “สะดือแม่น้ำโขง” ณ วัดอาฮงศิลาวาส ถือว่าเป็นจุดที่แม่น้ำโขงมีความลึกสุดถึง 200 เมตร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว ในพื้นที่อำเภอบุ่งคล้า เป็นป่าอนุรักษ์ที่สวยสมบูรณ์ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของภาคอีสาน ภายในพื้นที่มีน้ำตกสวยงามหลายแห่งที่น่าไปเยี่ยมชม

ยุทธศาสตร์การค้าชายแดน 

จังหวัดบึงกาฬ มีจุดผ่านแดนถาวร 1 แห่ง จุดผ่อนปรน จำนวน 2 แห่ง และด่านประเพณีอีก 2 แห่ง ที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงเส้นทางการค้าไทย-ลาว ทุกวันนี้บึงกาฬมีจุดผ่านแดนถาวร (บึงกาฬ-ปากซัน) ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตอำเภอเมืองบึงกาฬ ตรงข้ามกับแขวงบอลิคำไซ ของ สปป.ลาว ด่านแห่งนี้เปิดให้บริการประชาชนที่เดินทางและขนส่งสินค้าเข้า-ออก ระหว่างประเทศ ผ่านเรือและแพขนานยนต์เป็นหลัก มีรายได้จากการค้าชายแดน เฉลี่ยปีละ 3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขน้อยมาก เมื่อเทียบกับจังหวัดชายแดนอื่นๆ เช่น หนองคาย นครพนม มุกดาหาร ที่มีมูลค่าการซื้อขายชายแดนถึงปีละ 100,000 ล้านบาท เพราะทุกจังหวัดมีสะพานข้ามแม่น้ำโขง เชื่อมมิตรภาพ-การค้าระหว่างไทยกับลาว

สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่ 5 “สะพานมิตรภาพ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ)” ได้ออกแบบสะพานเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างรองบประมาณการก่อสร้าง เมื่อแผนการก่อสร้างสะพานเสร็จสมบูรณ์ จะช่วยพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เชื่อมโยงระบบโครงข่ายคมนาคม-เส้นทางการค้าจากประเทศไทยไปสู่ สปป.ลาว เวียดนาม และตลาดจีนตอนใต้ ให้มีความสะดวก-ปลอดภัย-ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายทางการค้า-การคมนาคม ในอนาคต

ยุทธศาสตร์ “การเกษตรก้าวหน้า”

ส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มข้าวแบบครบวงจร “การทำนา” นับเป็นอาชีพดั้งเดิมของเกษตรกรชาวบึงกาฬก่อนที่จะหันมาปลูกยางพาราอย่างเป็นล่ำเป็นสันในทุกวันนี้ ปัจจุบัน เกษตรกรชาวบึงกาฬยังคงทำนาปลูกข้าวอยู่ ทั้งนี้ภาครัฐบาลมีนโยบายมุ่งส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มข้าวแบบครบวงจร เพื่อช่วยเหลือชาวนาให้มีรายได้ที่ยั่งยืน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้ามาส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อทำนาแปลงใหญ่ ในลักษณะนาข้าวอินทรีย์ พร้อมจัดตั้งโรงสีข้าวชุมชน แปรรูปข้าวออกขายในลักษณะข้าวถุง ที่ได้มาตรฐาน QR Code สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงไร่นาแหล่งผลิตได้ทุกถุง ส่วนกระทรวงพาณิชย์เข้ามาสนับสนุนด้านการตลาด ส่งเสริมให้ชาวนารู้จักขายข้าวสารทางตลาดออนไลน์ เป็นต้น

พลิกฟื้น “การทำสวนผลไม้” ในจังหวัดบึงกาฬ ก่อนหน้านี้ เกษตรกรชาวจังหวัดบึงกาฬเคยปลูกไม้ผลหลายชนิด แต่ถูกตัดโค่นลงเป็นจำนวนมาก เพื่อนำพื้นที่มาปลูกยางพารา ล่าสุด ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาปลูก “สับปะรด” และไม้ผลอื่นๆ เพราะไม้ผลของจังหวัดบึงกาฬมีรสชาติอร่อย ไม่เป็นสองรองใครเลย โดยเฉพาะสับปะรดของอำเภอชัยพร ที่เหลือพื้นที่ปลูกน้อยมาก

มุ่งพัฒนา “ยางพาราบึงกาฬ 4.0” ปัจจุบัน “ยางพารา” นับเป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัดบึงกาฬ โดยมีเนื้อที่ปลูกยางพารา ประมาณ 900,000 ไร่ ทางจังหวัดบึงกาฬได้วางแนวคิดการพัฒนา “ยางพาราบึงกาฬ 4.0” ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยส่งเสริมการใช้นวัตกรรมต่างๆ มาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของชาติ นำไปสู่ประเทศไทย 4.0

สวนยางพาราของจังหวัดบึงกาฬ ที่เปิดกรีดได้แล้ว นิยมผลิตในลักษณะ “ยางก้อนถ้วย” เป็นหลัก ซึ่งท่านผู้ว่าราชการมองว่า การผลิตยางในลักษณะดังกล่าวเข้าข่าย “ยางพารา 1.0” เพราะทำรายได้ต่ำ จึงมุ่งส่งเสริมให้เกิดโรงงานแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราในท้องถิ่น ควบคู่กับส่งเสริมให้เกษตรกรผลิต “น้ำยางสด” ออกมาขาย เนื่องจากสร้างรายได้ดีกว่าการผลิตยางก้อนถ้วย

นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมการแปรรูปยาง โดยจัดตั้งโรงงานผลิตน้ำยางข้น เพื่อแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมปลายน้ำ ประเภท หมอนยาง ที่นอนยางพารา รองเท้ายาง ยางล้อจักรยาน ยางล้อมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น

การจัด “งานวันยางพาราเเละกาชาดบึงกาฬ 2560” ในปีนี้ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬถือเป็นปีที่สำคัญที่สุด นอกเหนือจากความสำคัญของการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจของบึงกาฬจากผลผลิตของยางพาราแล้ว ยังมุ่งถวายความอาลัยและน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ รัชกาลที่ 9 และเทิดพระเกียรติ รัชกาลที่ 10ความสำเร็จของ “งานวันยางพาราเเละกาชาดบึงกาฬ” ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยพัฒนาเกษตรกร พัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของจังหวัดบึงกาฬ รวมทั้งสร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ของจังหวัดบึงกาฬ ให้มีมูลค่าการค้าเพิ่มมากขึ้นในอนาคต