“บ้านจ่าก้อง” ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบการทำไร่นาแบบผสมผสาน ที่สุโขทัย

ในพื้นที่ 34 ไร่ จ่าก้อง หรือ จ.ส.ท. สุทิน ทองเอ็ม สามารถจัดสรรเนื้อที่เหล่านั้นทำไร่นาแบบผสมผสานได้อย่างดีเยี่ยม จากจุดเริ่มต้นที่พ่อแม่ทำนาเพียงอย่างเดียวมาตลอด จนเมื่อจ่าก้องจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก็เริ่มเลี้ยงไก่สวยงามขาย ต่อมาเริ่มเลี้ยงปศุสัตว์ เช่น เป็ดและไก่ ส่งให้กลุ่มปศุสัตว์ เริ่มทำสวนต่อจากปศุสัตว์หลังจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยเริ่มต้นจากการทำสวนไผ่ เพราะไม่ต้องดูแลมาก เดิมทีพ่อกับแม่มีที่นาเพียง 22 ไร่ ต่อยอดจนกลายมาเป็น 34 ไร่ ในปัจจุบัน

จ.ส.ท. สุทิน ทองเอ็ม (จ่าก้อง)

จ.ส.ท. สุทิน ทองเอ็ม หรือ จ่าก้อง อยู่บ้านเลขที่ 65 หมู่ที่ 3 ตำบลป่าแฝก อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย

ได้รับรางวัล ปี 2560 เป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 2561 ได้รางวัลภูมิปัญญาศึกษาด้านเกษตร และ ปี 2562 ได้รางวัลปราชญ์ดีเด่นของ กศน. (การศึกษานอกสถานที่) ระดับประเทศ

ไก่สวยงาม

จ.ส.ท. สุทิน เริ่มทำกิจกรรมเต็มรูปแบบเมื่อปี 2545 ถูกปลูกฝังและโตมากับการเกษตร แต่มีความคิดต่างจากพ่อกับแม่ที่เดิมทีทำนาเพียงอย่างเดียว และมีความคิดว่าถ้าทำหลายๆ อย่าง จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นยิ่งกว่านี้ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำไร่นาสวนผสมของจ่าก้อง เมื่อก่อนที่บ้านปลูกข้าว กข 43 ได้ผลไม่ค่อยดี เพราะระบบชลประทานไม่ดี ชาวบ้านต่างไม่ขุดบ่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ เพียงแต่รอน้ำฝน จ่าก้องจึงมีความคิดที่จะขุดบ่อน้ำขึ้นมาเพื่อเก็บน้ำ บ่อน้ำแบ่งออกเป็น 2 บ่อ โดยบ่อแรกเป็นพื้นที่สูงไว้เก็บน้ำ มีเนื้อที่ทั้งหมด 1 ไร่ บ่อที่สองไว้เลี้ยงปลา มีเนื้อที่ 1 ไร่ เช่นกัน น้ำที่ใส่แปลงนาเมื่อมีน้ำล้นจะมีบ่อดักน้ำอีก 1 บ่อ

ผลิตภัณฑ์น้ำไผ่

ด้านการทำปศุสัตว์และไก่สวยงามเมื่อปีที่ผ่านมา ไก่สวยงามเริ่มมีคนนิยมลดน้อยลง จึงเลี้ยงไว้เฉพาะบางส่วน มีหลายสายพันธุ์ เช่น ไก่เหลืองหางขาว ไก่น้ำแดง แต่จะมีเฉพาะพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์เท่านั้น แรกๆ รายได้หลักมาจากไก่สวยงามเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่หลังๆ มานี้คนเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมจากการซื้อไก่สวยงามมาเป็นซื้ออาหารเพื่อบริโภคและช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีผลผลิตที่ได้จากไผ่ออกมาพอดี

ผลิตภัณฑ์แปรรูปบ้านจ่าก้อง

ไผ่ ปลูกเพียงแค่ 3 ไร่ เป็นไผ่กิมซุ่ง การขายไผ่ไม่ได้ขายเป็นหน่อ แต่เลือกที่จะตัดยอดมาทำเป็นยอดหน่อไม้ดองแทน หากจะไม่ขายหน่อไม้ดองและหน่อไม้สด แต่จะขายยอดหน่อไม้และกิ่งชำของไผ่ โดยจะปล่อยให้ไผ่สูง ประมาณ  7 เมตร จะใช้ไม้ขอชักยอดลงมา จุดที่แตกต่างจากหน่อไม้ธรรมดาก็คือ หน่อจะเล็กกว่าหน่อไม้ปกติ แต่จะมีความกรอบที่มากกว่า

กบที่เลี้ยงในกระชัง

การดองยอดหน่อไม้นั้น จะใช้ยอดมาดองน้ำเกลือ หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ขายเป็นชุดพร้อมกับแพ็กเกจใส่ตะกร้าเครื่องจักสาน ในราคาขวดละ 15 บาท ข้อดีของการตัดยอดหน่อไม้ขายนั้นคือ เมื่อตัดยอดแล้วจะได้ลำไม้ไผ่และลำไผ่ สามารถแตกกิ่งที่นำกิ่งไปชำและขยายพันธุ์เพื่อขายต่อไปได้อีก ลำสามารถเจาะน้ำไผ่ได้ทุกคืน ไผ่จะให้น้ำตอนกลางคืนและมีโมเลกุลเล็กกว่าน้ำทั่วไป

(จากซ้ายไปขวา) คุณพิกุล สุวนนท์ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ จ.ส.ท. สุทิน ทองเอ็ม นักทรัพยากรบุคคลตำบลป่าแฝก คุณทวีพร เขียวแก้ว นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ

ซึ่งผลแล็บจากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร ชี้ว่า ในน้ำไผ่ 1 ขวด จะมีโซเดียม ประมาณ 40% มีแคลเซียมธาตุเหล็ก น้ำไผ่จะอยู่ในตระกูลของน้ำแร่ ถ้าเปิดขวดแล้วควรดื่มภายใน 1-2 ชั่วโมง เพราะคุณค่าทางโภชนาการจะค่อยๆ ระเหยไป การควบคุมตั้งแต่กระบวนการการเก็บ ควบคุมความสะอาดตั้งแต่วิธีการเจาะไผ่ โดยมีคณะเทคนิคการแพทย์มาให้คำแนะนำและสอนกระบวนการเก็บที่ควบคุมเชื้อโรค

สะพานเดินชมทุ่ง

เมื่อลำไผ่ที่มีอายุ 1-2 ปีขึ้นไป ยังสามารถนำมาเผาถ่าน ทำสบู่ชาโคล และนำไผ่มาแปรรูปทำเครื่องจักสานได้อีกด้วย เครื่องจักสานเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นเล็กๆ เช่น ที่รองแก้ว ตะกร้า ไผ่กิมซุ่งจะออกทั้งปี

ด้านการประมง เริ่มต้นด้วยการเลี้ยงกบในกระชัง กลุ่มคนเลี้ยงกบนั้นจะมีการลงหุ้นและเปิดบัญชีกลุ่มเพื่อรวบรวมเงินใช้เป็นกองกลางในการลงทุน กบ 1 รอบ จะจับได้ประมาณ 1.2-1.3 ตัน ในกระชังกบจะแบ่งกันอย่างชัดเจน โดยมีชื่อของผู้เลี้ยงติดไว้หน้ากระชัง กบจะเลี้ยงรวมในบ่อเดียวกันและจำหน่ายพร้อมกันในรูปแบบของการค้ากลุ่ม โดยการซื้อพันธุ์กบมาจากอีกหนึ่งหมู่บ้านที่เพาะพันธุ์ไว้แล้ว ปล่อยกบล็อตละ 15,000 ตัว เลี้ยงประมาณ 2 เดือนครึ่ง ถึง 3 เดือน ทุนต่อ 1 รุ่น ประมาณ 80,000-90,000 บาท ขายส่งหน้าบ่อราคาอยู่ที่ กิโลกรัมละ 50 บาท กลุ่มผู้ซื้อจะเป็นกลุ่มพ่อค้าที่ทำข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งทำการค้าขายร่วมกันมาได้ 4-5 ปีแล้ว ต่อมาเริ่มมีการเลี้ยงปลาควบคู่ไปด้วย แต่จะเลี้ยงไม่มากนัก เป็นปลาจำพวกปลาดุก ปลาหมอ ไว้ขายให้กับคนในชุมชน จะเลี้ยงในบ่อเล็กๆ บ่อกว้างประมาณ 4 เมตร ยาว 7 เมตร ลึก 1.20 เมตร เพื่อที่จะสะดวกในการจับได้ง่าย โดยราคาขายนั้นจะถูกกว่าท้องตลาดถึง 10 บาท

ผักปลอดสารพิษ

การทำนาอินทรีย์ ปลูกข้าว 1 ไร่ ทำระบบเกี่ยวด้วยมือ สีด้วยการตำและมีเครือข่ายสมาชิกที่นำกลับไปทำเองที่บ้านทั้งหมด 14 ราย ต่อมาได้พัฒนาในรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีการสร้างกลุ่มรถไถนำเที่ยวในชุมชน จุดเด่นคือการนั่งชมบรรยากาศสวนไผ่ พร้อมกับดื่มน้ำไผ่ไปด้วย มีการพัฒนาในเรื่องของการแปรรูปสมุนไพร นำตะไคร้หอมไปแปรรูปเป็นน้ำมันตะไคร้ ยากันยุง และกำลังจะทำน้ำยาล้างจานจากตะไคร้หอม

นอกจากนี้ พื้นที่นี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ มีการอบรมหลักสูตรเรื่องการทำประมง หลักสูตรเกษตรจุลินทรีย์ การทำน้ำหมัก การแปรรูปและการขยายพันธุ์พืชแก่ผู้ที่สนใจอีกด้วย สินค้าเด่นจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากไผ่ เช่น ไผ่แปรรูป เครื่องจักสาน

หากสนใจที่จะท่องเที่ยวและเรียนรู้ สามารถติดต่อผ่านหน่วยงานเกษตรอำเภอกงไกรลาศ หรือผ่านสำนักงานเกษตรจังหวัดสุโขทัย โทร. 086-917-7052 เฟซบุ๊ก สุทิน ทองเอ็ม หรือ บ้านจ่าก้อง