เกษตรกรยุคใหม่ ใครก็เป็นได้

หลังจากผู้เขียนได้มีบทความผ่าน คอลัมน์ “คิดเป็นเทคโนฯ” ในนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ก็มีผู้อ่านหลายคน สอบถามมาว่า หากมีความสนใจจะนำเทคโนโลยีไปใช้ในงานเกษตร จะเริ่มต้นอย่างไร? และแพงไหม?

แพงไหม?

ตัวอย่าง “โดรนเพื่อการเกษตร” ปัจจุบัน ต้องตอบว่า ราคายังสูง แต่ก็ลดลงมาพอสมควรแล้ว อยู่ในระดับพอมีโอกาสจับต้องได้ เกษตรกรสามารถตรวจสอบราคาเบื้องต้นในเว็บไซต์ (เข้ากูเกิล พิมพ์คำว่า ราคาโดรนเพื่อการเกษตร) หรืออาจจะทดลองโดยการเช่าใช้งานก่อน แล้วประเมินว่าคุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับ

จะเริ่มต้นอย่างไร?

ความรู้ที่จะนำเทคโนโลยีไปใช้งานในแปลงเกษตรหรือคอกปศุสัตว์ มีอยู่ในสถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีคณะสาขาวิชาเปิดการเรียนการสอนด้านเกษตรกรรม ผู้ที่มีความสนใจจะต้องลองติดต่อสอบถาม เพื่อค้นหาผลงานวิจัยที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้แก้ไขปัญหาตามที่ต้องการ อาจจะเป็นในรูปของอุปกรณ์หรือซอฟต์แวร์ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในงานนั้นๆ

ยกตัวอย่าง เช่น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) นำเสนอเทคโนโลยีฟาร์มต้นทุนต่ำ “สมาร์ท ฟาร์ม คิท” (Smart Farm Kit) ชุดอุปกรณ์ควบคุมการรดน้ำ ช่วยบริหารจัดการระบบการใช้น้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดการใช้น้ำในการเกษตรได้ไม่ต่ำกว่า 3 เท่า

“สมาร์ท ฟาร์ม คิท” เป็นการทำงานร่วมกัน ระหว่าง 3 อุปกรณ์ มีรายละเอียดส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ

  1. ระบบควบคุมการเปิด-ปิดน้ำ พร้อมตั้งเวลาเปิด-ปิดน้ำได้
  2. ระบบเซ็นเซอร์ติดตามสภาพอากาศ การตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้นในดินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
  3. ระบบสั่งการผ่านสมาร์ทโฟน (smartphone) เพื่อติดตามผล พร้อมสั่งรดน้ำและให้ปุ๋ยแก่พืชตามต้องการ

ปัจจุบัน แรงงานภาคเกษตรลดลงอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะมีคนรุ่นใหม่บางส่วนที่หันมาทำเกษตร แต่ก็ยังเป็นสัดส่วนที่น้อย งานเกษตรเป็นงานที่ต้องใช้ความมานะอุตสาหะมาก เหนื่อยแรง กว่าผลผลิตจะออกดอกออกผลต้องใช้เวลานาน คนเมืองที่มีความสนใจ ส่วนใหญ่ทำได้เพียงพืชผักสวนครัวเล็กๆ หากต้องการจะทำให้เกิดเป็นธุรกิจ ควรใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาสนับสนุน เป็นการลดข้ออ้างว่า ทำไม่ไหว เพราะพึ่งพาการใช้แรงงานน้อยลง

การทำเกษตรโดยขึ้นอยู่กับปรากฏการณ์ลมฝนฟ้าอากาศ หรือประเภทที่เคยทำกันมาอย่างไร ก็ทำตามๆ กันไปแบบเดิม อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องในยุคสมัยนี้ เพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น โดยใช้ระยะเวลาน้อยลง เพราะฉะนั้นเกษตรกรไทยจะต้องมีความรู้ ศึกษางานวิจัย รู้จักค้นคว้าและทดลอง ให้สามารถปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ โดยมีปัจจัยที่มีส่วนสนับสนุนการทำการเกษตรรูปแบบใหม่ เมื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยและทำให้ได้ประสิทธิผลดียิ่งขึ้น นั้นคือ พื้นที่เมืองมีการขยายตัว ส่งผลให้เกิดความต้องการผลผลิตทางการเกษตรอย่างสม่ำเสมอ ไม่ติดเงื่อนไขของฤดูกาล

ก่อนหน้านี้ในบ้านเรา เคยมีแนวคิดเรื่อง “ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ” (Decision Supporting System : DSS) ด้านการเกษตร หมายถึง การรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกผ่านระบบซอฟต์แวร์ จากนั้นนำไปประมวลผลให้เป็นประโยชน์ในการวางแผนดำเนินกิจกรรมของเกษตรกร เช่น การนำข้อมูลพยากรณ์อากาศมาพัฒนาควบคู่กับปฏิทินการเพาะปลูก เพื่อคาดการณ์ระยะหว่าน ระยะให้ปุ๋ย คาดการณ์ปริมาณผลผลิต และบอกวันเวลาที่ควรเก็บเกี่ยว หรือขนส่งผลผลิต ตลอดจนพยากรณ์และเตือนภัยการระบาดของแมลงศัตรูพืช เป็นต้น สำหรับต่างประเทศนั้น ระบบ DSS จะเป็นซอฟต์แวร์ที่คำนวณผลบนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นรูปแบบของเทคโนโลยีที่เกษตรกรไทยในปัจจุบันเริ่มมีความคุ้นเคยและสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น และหากระบบดังกล่าวถูกพัฒนาโดยเกษตรกรเป็นผู้ใช้โดยตรงก็มีโอกาสจะได้รับความนิยม

เรากำลังเข้าสู่ยุคเชื่อมโลกทั้งโลกด้วยเครือข่ายอินเทอร์เน็ต พี่เบิ้มทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น กูเกิล (Google) หรือ เฟซบุ๊ก (Facebook) กำลังคิดค้นหาวิธีให้ทุกคนสามารถใช้อินเทอร์เน็ตได้และฟรี โดยปัจจุบันมีสัดส่วนไม่ถึงครึ่งของประชากรบนโลกที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกนั้นเข้าถึงได้น้อยมากหรือเข้าถึงไม่ได้เลย

สำหรับเมืองไทยความเร็วของอินเทอร์เน็ตอยู่ในเกณฑ์ระดับดี เมื่อผสมผสานกับความก้าวหน้าทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี ที่เรียกว่า “อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง” หรือ Internet of Things (IoT) เป็นการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะทำให้เกิดปริมาณข้อมูลมหาศาลจากกระบวนการทำการเกษตร มีส่วนสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะเมื่อมีการจัดเก็บข้อมูลผ่านอุปกรณ์เซ็นเซอร์ (ราคาไม่แพงแล้ว) จำนวนมหาศาลที่ติดตั้งใช้งานในพื้นที่การเกษตร ข้อมูลต่างๆ ก็จะส่งถึงมือเกษตรกรผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาจึงสามารถแก้ไขได้อย่างทันการณ์ เช่น ทำให้ทราบว่าพืชผลที่ปลูกไว้ต้องการน้ำ หรือการบำรุงรักษาอื่นๆ หรือไม่ ถ้าต้องการก็สามารถดำเนินการผ่านแอปพลิเคชั่นได้แบบทันที (real-time)

ต่อเนื่องจากเรื่อง IoT มีการพูดถึง “ข้อมูลขนาดใหญ่” หรือ Big Data ที่เกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ตในรูปแบบต่างๆ เช่น การค้นหาข้อมูลพยากรณ์อากาศในเว็บไซต์ การตรวจสอบลักษณะโรคของพืชผ่านแอปพลิเคชั่น เป็นต้น ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าจะมีข้อมูลหรือไม่ แต่เป็นเรื่องของการนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์ จึงทำให้เกิดศาสตร์ที่กำลังได้รับความนิยม เรียกว่าเป็นกระแสมาแรง มีการพูดถึงหรือตั้งเป็นกลุ่มในสื่อออนไลน์ต่างๆ เรียกชื่อเป็นทางการว่า “วิทยาการวิเคราะห์ข้อมูล” (Data Analytics) เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ข้อมูล โดยการนำข้อมูลมาประมวลผลด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การจำแนกกลุ่ม การดำเนินการทางสถิติ การวิเคราะห์แนวโน้ม ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่จะแปลงข้อมูลขนาดใหญ่เหล่านั้น ให้ออกมาเป็นบทสรุปที่เข้าใจง่าย และเป็นประโยชน์กับเกษตรกรต่อไป

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa.or.th) ได้ยกตัวอย่างนวัตกรรมที่เกษตรกรยุคใหม่ควรรู้ เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จนั้น ประกอบด้วย โดรนเพื่อการเกษตร, เครื่องพยากรณ์โรคข้าว, ระบบควบคุมน้ำ อุณหภูมิ และความชื้น ผ่านแอปพลิเคชั่น ซึ่งบางเรื่องได้ถูกนำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้คุยกับพ่อค้าที่นำน้ำมะพร้าวมาขายหน้าสวนสาธารณะ และบอกกับผู้เขียนว่า

“จะทำอะไรต้องศึกษาหาข้อมูล ผมกว่าจะมาขายน้ำมะพร้าวได้ ต้องเตรียมตัวอยู่หลายเดือน มีเป้าหมายว่าจะต้องขายน้ำมะพร้าวที่หวาน อร่อย ผมบอกเลยใครที่คิดจะทำเกษตร แล้วไม่ศึกษาหาข้อมูล มีเจ๊งกับเจ๊ง”