ตราด พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เล็งใช้ผลิตภัณฑ์เด่นของชุมชน

เมื่อกระแสการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเป็นที่นิยมทั่วโลก นโยบายของภาครัฐได้สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) พื้นที่ภาคตะวันออก ชลบุรี-ระยอง-จันทบุรี-ตราด เป็นเป้าหมายที่ภาครัฐส่งเสริมพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

ทีมงานวิจัย รศ.ดร. พรรณี สวนเพลง และนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราด

เมื่อวันที่ 1-7 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราด ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสวนดุสิต จัดอบรม “หลักสูตรนวดฝ่าเท้าเพื่อสุขภาพ หลักสูตร 60 ชั่วโมง” โดย อาจารย์สืบสกุล ขุนเทพ จากสถาบัน ขุนเทพ คลินิกแพทย์แผนไทยจังหวัดจันทบุรี เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานทางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและกระจายรายได้ให้เข้าถึงชุมชน โดยผู้เข้าอบรมทั้ง 30 คน สามารถให้บริการนวดฝ่าเท้าที่ถูกวิธี และนำงานวิจัยผลิตภัณฑ์นวัตกรรมครีมสกัดจากสมุนไพรในท้องถิ่นมาใช้ในการนวด ซึ่งงานวิจัยผลิตภัณฑ์นี้เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่น และภูมิปัญญาที่ผู้ประกอบการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้

งานวิจัย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

สร้างงาน สร้างรายได้ เข้าถึงชุมชน

กำหนดจุดบนฝ่าเท้า

รศ.ดร. พรรณี สวนเพลง อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต และหัวหน้าคณะแผนงานวิจัย การพัฒนานวัตกรรมเรื่องสุขภาพ ในกลุ่ม Active Beach (ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด)เพื่อการสร้างมูลค่าสูง (High Value) และยกระดับให้เป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวสุขภาพของเอเชีย  (Wellness hub of Asia) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นองค์กรหนึ่งที่ทำงานวิจัยร่วมกับภาคเอกชน ภาครัฐ และชุมชน พัฒนานวัตกรรมเชิงสุขภาพ ในกลุ่ม Active Beach เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่สำคัญของประเทศและระดับเอเชีย โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การพัฒนานวัตกรรมและนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในกลุ่ม EEC (ชลบุรี-ระยอง-จันทบุรี-ตราด) และสามารถพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการธุรกิจ SME และสนับสนุน Start up ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ว่านสมุนไพรน้ำแช่-ล้างเท้า

“หลักสูตรการให้บริการเพื่อพัฒนาศักยภาพ เช่น นวดฝ่าเท้า นวดตัว เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพให้มีมาตรฐานสูงขึ้น มี “บริการมูลค่าสูง” (High value) และมีงานวิจัยผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ทดลองนวดฝ่าเท้าและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ เพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตจำหน่ายให้นักท่องเที่ยว 3-4 ผลิตภัณฑ์ คือ สูตรสมุนไพรแช่-ล้างเท้า เจลระเบิดขี้ไคล ทำจากคอลลาเจนแมงกะพรุน ครีมสาหร่ายพวงองุ่น และเจลนวดผิวพริกไทยแดงกำปอต ซึ่งล้วนแต่นำมาจากสมุนไพรในท้องถิ่น และเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาทดลองใช้เพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป จากการทดลองใช้ได้ผลดี มหาวิทยาลัยจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับชุมชนทำผลิตภัณฑ์จำหน่าย เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ จากการท่องเที่ยวให้เข้าถึงชุมชนอย่างแท้จริง” รศ.ดร. พรรณี หัวหน้าคณะโครงการวิจัยกล่าว

คุณวิยะดา ซวง เสวนาต่อยอดโครงการ

สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราด

หนุน “นวดฝ่าเท้า” กระจายรายได้ชุมชน

คุณวิยะดา ซวง นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราด และเจ้าของและผู้จัดการโรงแรมทะเลภู รีสอร์ท อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด กล่าวว่า จังหวัดตราด เป็นเมืองชายแดนมีโอกาสเติบโตและพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้อย่างยั่งยืน ด้วยปัจจัยสนับสนุน 3-4 ข้อ คือ

  1. แผนการพัฒนา EEC และ กลุ่ม Active Beach
  2. เส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกลุ่มประเทศ CLMV มีการพัฒนาเส้นทางทั้งทางบก ทางน้ำ และ
  3. จังหวัดเกาะกง พื้นที่ใกล้เคียงของกัมพูชาติดกับจังหวัดตราดมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ “ดาราซากอร์” สร้างเมืองท่องเที่ยวและศูนย์สุขภาพ มีทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติ นักธุรกิจจีนที่เข้ามาลงทุน กลุ่มคนเหล่านี้มีพลังซื้อสูง จังหวัดตราดเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ นักท่องเที่ยวที่มาชื่นชอบรักการดูแลสุขภาพเช่นกัน การยกระดับการนวดฝ่าเท้าให้มีมาตรฐานเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวที่มาพักในโรงแรม รีสอร์ท เป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชน ที่สามารถใช้เวลาว่างจากการประกอบอาชีพหลัก ส่วนผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนสามารถจัดทำผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยที่ใช้สมุนไพรในท้องถิ่น จำหน่ายให้กับผู้ประกอบการใช้นวดหรือจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวอีกด้วย

“การจัดอบรมนวดฝ่าเท้า การทำผลิตภัณฑ์นวดฝ่าเท้า เป็นการพัฒนาศักยภาพของชุมชน เป็นความร่วมมือกันระหว่างโรงแรม รีสอร์ท ภาครัฐ เอกชน เพื่อเตรียมตัวตั้งรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นธุรกิจแบ่งปันให้ชุมชนมองเห็นโอกาสที่จะมีรายได้จากการท่องเที่ยวที่เข้าถึงชุมชน รูปแบบการท่องเที่ยวจังหวัดตราดเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Green Tourism เชื่อมโยงกับท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ แหล่งท่องเที่ยวชุมชนในท้องถิ่น แม้จะเป็นชุมชนเล็กๆ แต่ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เช่น การนวดฝ่าเท้า ในพื้นที่ชุมชนมีโรงแรมระดับ 2-3 ดาว ยังขาดแคลนบริการเหล่านี้ เมื่อมีการอบรมยกระดับฝีมือแรงงานให้มาตรฐาน โรงแรม รีสอร์ทช่วยสนับสนุนสร้างระบบการบริหารจัดการเตรียมให้บริการนักท่องเที่ยว ชาวบ้านทำอาชีพหลักตามปกติได้และใช้เวลาว่างวันละ 1-2 ชั่วโมง มานวดที่โรงแรม มีรายได้ 250-500 บาท หรือบางคนอาจจะยึดเป็นอาชีพหลัก เพราะราคานวดประมาณชั่วโมงละ 200-250 บาท นอกจากนี้ วิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็งสามารถทำผลิตภัณฑ์ครีมนวดจำหน่ายให้นักท่องเที่ยวอีกด้วย” คุณวิยะดา กล่าว

รศ.ดร. พรรณี สวนเพลง

ชุมชนขานรับ

เรียนรู้พัฒนาตัวเองสร้างรายได้

ทางด้าน คุณดำ เจริญสุข อายุ 74 ปี บ้านเลขที่ 9809/6 หมู่ที่ 9 ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราดหนึ่งในผู้เข้ารับการอบรมนวดฝ่าเท้า เล่าว่า เรียนรู้การนวดแผนโบราณมาจากแม่ที่มีอาชีพเป็นหมอนวด ตั้งแต่อายุ 13 ปี และยึดอาชีพหมอนวดแผนโบราณด้วยใจรักมากว่า 30 ปีแล้ว ปกตินวดตัว ชั่วโมงละ 200 บาท เมื่อมาอบรมนวดฝ่าเท้า แตกต่างจากตำราหมอนวดแผนโบราณ เป็นการนวดฝ่าเท้าเป็นจุดๆ แต่ละจุดเชื่อมโยงไปถึงระบบต่างๆ ของร่างกาย จึงทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้น ต่อจากนี้จะรับนวดตัวและนวดฝ่าเท้าไปด้วย ดีใจที่สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเปิดโอกาสให้มาอบรม และโรงแรมจะให้ไปบริการนวดนักท่องเที่ยว เพราะปกตินวดตามบ้าน บางวันมีลูกค้า บางวันไม่มีเลย ถ้ามีนักท่องเที่ยวเข้ามามากๆ จะทำให้มีรายได้ดีขึ้น

ส่วน คุณจำลอง เจริญสุข บ้านเลขที่ 99/13 หมู่ที่ 2 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด อายุ 55 ปี มีอาชีพรับซักผ้า มีรายได้เดือนละ 3,000 บาท เมื่อมาฝึกอบรมนวดเท้า ชอบและมีใจรัก คิดว่าจะหันเหมาทำอาชีพหมอนวดฝ่าเท้า เพราะคิดค่าแรงเป็นรายชั่วโมง มีรายได้ดีกว่า ถ้าโรงแรม รีสอร์ทในอำเภอคลองใหญ่รับผู้เข้าอบรมไปให้บริการ มั่นใจว่าน่าจะมีงานนวดให้หมุนเวียนกันทำ การอบรมจะช่วยให้เรารู้หลักการนวดที่ถูกต้อง มีรายละเอียดจุดสำคัญที่นวด ถ้านวดด้วยใจรัก พิถีพิถันจะสามารถสร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยวได้ ถ้าเป็นไปได้ต้องการอบรมนวดตัวเพิ่มพูนความรู้อีก

น้ำมันกระวานและเจลนวดพริกไทยแดงกำปอต

คุณวราภรณ์ ม่วงศรีไพ “น้องออย” อายุ 16 ปี จบชั้นมัธยมศึกษาปืที่ 3 กำลังจะเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด เล่าว่า พ่อแม่ทำงานอยู่บนเกาะช้าง แม่ทำรีสอร์ตเล็กๆ คิดว่ามาเรียนนวดฝ่าเท้า เมื่อเรียน กศน. ส่วนใหญ่อยู่บ้านตั้งใจจะทำเป็นอาชีพที่รีสอร์ทแม่ พอมีรายได้ชั่วโมงละ 200 บาท เพราะที่รีสอร์ทแม่มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะชอบนวดฝ่าเท้า จริงๆ แล้วไม่เคยนวดมาก่อน แต่ต้องการมองหาอาชีพ เมื่อมาอบรมแล้วเห็นว่าทำไม่ยากหากมีใจรัก อดทนและตั้งใจทำให้ผู้รับบริการพึงพอใจ

ผลิตภัณฑ์สปา

อนาคตคาดว่า จังหวัดตราด จะเป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สิ่งสำคัญคือ ความเข้มแข็งของชุมชน การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชนในท้องถิ่น ที่จะร่วมมือกันต่อยอดจากงานวิจัยนวัตกรรมและการพัฒนาศักยภาพของชุมชน ตามที่มหาวิทยาลัยสวนดุสิตเริ่มไว้ได้อย่างไร นั่นคือ รายได้จากการท่องเที่ยวเข้าถึงชุมชน หมุนเวียนอยู่ในประเทศไทย สนใจสอบถาม รศ.ดร. พรรณี สวนเพลง โทร. 02-244-5972-3

เจลระเบิดขี้ไคล
ตำรานวดฝ่าเท้า
จบหลักสูตรนวด 60 ชั่วโมง