มะพร้าวลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 1 และ มะพร้าวลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 2 พันธุ์มะพร้าวเพื่ออุตสาหกรรมและแปรรูป

มะพร้าวลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 1 และ มะพร้าวลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 2 ที่กรมวิชาการเกษตร ประกาศรับรองพันธุ์ไปเมื่อ วันที่ 1 มีนาคม 2562 ถือเป็นความสำเร็จที่กรมวิชาการเกษตรได้พัฒนาปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนพันธุ์มะพร้าวเพื่ออุตสาหกรรมและลดการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการแปรรูปมะพร้าวในประเทศไทย เพื่อการบริโภคภายในประเทศ และเพื่อการส่งออก

 

เกือบ 30 ปี กว่าจะได้มะพร้าวพันธุ์ลูกผสมสามทาง

คุณทิพยา ไกรทอง นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร กรมวิชาการเกษตร ผู้สืบสานงานทดลองและพัฒนามะพร้าวพันธุ์ลูกผสมสามทางต่อจากนักวิชาการเกษตรผู้ริเริ่มรุ่นก่อนๆ เล่าให้ฟังว่า คุณอานุภาพ ธีระกุล อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร เป็นผู้ริเริ่มทำงานวิจัยเกี่ยวกับพันธุ์มะพร้าวลูกผสมพันธุ์สามทางขึ้นมา เนื่องจากเห็นว่ามะพร้าวพันธุ์สวีลูกผสม 1 และ ลูกผสมชุมพร 2 ซึ่งได้รับรองพันธุ์มาแล้วประมาณกว่า 30 ปี

คุณทิพยา ไกรทอง

โดยเฉพาะมะพร้าวพันธุ์สวีลูกผสม 1 มีข้อด้อย คือ ผลเล็ก ไม่เป็นที่ต้องการของเกษตรกร โดยเกษตรกรจะขายผลผลิตได้ราคาเพียงครึ่งหนึ่งของราคามะพร้าวพันธุ์พื้นเมือง หรือพันธุ์ลูกผสมชุมพร 2 เนื่องจากการซื้อขายมะพร้าวบ้านเราซื้อขายกันด้วยขนาดของผล จึงถูกตีราคาเป็นมะพร้าวเกรดต่ำ ส่วนมะพร้าวพันธุ์ลูกผสมชุมพร 2 ซึ่งได้ปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมา จนได้ผลขนาดใหญ่ขึ้น เนื้อหนา อายุการตกผลประมาณ 4 ปีครึ่ง จึงเป็นที่ต้องการของตลาด ณ ปัจจุบันมียอดสั่งจองต้นกล้ากว่า 2 ล้านต้น ไม่สามารถผลิตได้ทันตามความต้องการ แต่การปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมไม่ดีเท่าที่ควร ในช่วงฤดูแล้งหรือฝนทิ้งช่วงนานเกิน 3 เดือน มะพร้าวจะกระทบแล้งทำให้ผลผลิตเสียหายไปด้วย

ด้วยสาเหตุดังกล่าว ทำให้ คุณอานุภาพ ธีระกุล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรในขณะนั้น จึงคิดริเริ่มปรับปรุงพันธุ์มะพร้าว เพื่อที่จะผลิตพันธุ์มะพร้าวลูกผสมพันธุ์สามทางขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

 

ที่มาของพันธุ์

ที่มาของมะพร้าวลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 1 และมะพร้าวลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 2 ได้จากงานวิจัย “การเปรียบเทียบพันธุ์มะพร้าวลูกผสมสามทาง” ประกอบด้วยมะพร้าว 4 พันธุ์ด้วยกัน คือ

ลูกผสมเดี่ยว ประกอบด้วย

  1. พันธุ์เรนเนลล์ต้นสูง x พันธุ์เวสท์แอฟริกันต้นสูง
  2. พันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย x พันธุ์เวสท์แอฟริกันต้นสูง
  3. พันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย x พันธุ์ตาฮิติ และ
  4. พันธุ์มลายูสีแดงต้นเตี้ย x พันธุ์เรนเนลล์ต้นสูง โดยพันธุ์ที่ 1, 3 และ 4 นำเข้ามาจากประเทศไอวอรีโคสต์ เมื่อปี 2517 แล้วนำมาปลูกคัดเลือกภายในศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร

ส่วนพันธุ์ที่ 2 มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย x พันธุ์เวสท์แอฟริกันต้นสูง ได้จากการคัดเลือกพันธุ์ภายในศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร มะพร้าวลูกผสมเดี่ยวทั้ง 4 พันธุ์ ดังกล่าว ผสมกับพันธุ์ไทยต้นสูง (พ่อพันธุ์) ที่ได้จากการรวบรวมคัดเลือกพันธุ์ภายในศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ปี 2532-2533 ปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ บันทึกข้อมูลการเจริญเติบโต ผลผลิต น้ำหนักเนื้อมะพร้าวแห้ง น้ำมันต่อเนื้อมะพร้าวแห้ง และองค์ประกอบของผลตามขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์ จนสามารถคัดเลือกพันธุ์ที่มีลักษณะเด่น ได้จำนวน 2 พันธุ์ ด้วยกันคือ

ผลทั้งเปลือกผ่าของมะพร้าวลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 1
  1. (พันธุ์เรนเนลล์ต้นสูง x พันธุ์เวสท์แอฟริกันต้นสูง) x ไทยต้นสูง หรือ มะพร้าวลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 1
  2. (พันธุ์มลายูสีเหลืองต้นเตี้ย x พันธุ์เวสท์แอฟริกันต้นสูง) x ไทยต้นสูง หรือ มะพร้าวลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 2

มะพร้าวลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 1 และมะพร้าวลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 2 ได้ผ่านการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2562

ผลทั้งเปลือกผ่าของมะพร้าวพันธุ์ผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 2

ความแตกต่างระหว่าง มะพร้าวลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 1
กับ มะพร้าวลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 2

ลักษณะเด่นของมะพร้าวลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 1 คือ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,252 ผล/ไร่/ปี หรือ 102 ผล/ต้น/ปี น้ำหนักเนื้อมะพร้าวแห้ง เฉลี่ย 337 กรัม/ผล หรือ 766 กิโลกรัม/ไร่/ปี เปอร์เซ็นต์น้ำมันต่อเนื้อมะพร้าวแห้ง 61% ผลผลิตน้ำมันเฉลี่ย 21 กิโลกรัม/ต้น/ปี จัดเป็นมะพร้าวผลขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ น้ำหนักเฉลี่ย 1,882 กรัม/ผล สามารถจำหน่ายเป็นมะพร้าวผลได้เทียบเคียงกับมะพร้าวพันธุ์ไทยต้นสูงที่เกษตรกรขายตามปกติ

สำหรับลักษณะเด่นของมะพร้าวลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 2 คือ ให้ผลผลิตเฉลี่ย 2,372 ผล/ไร่/ปี ผลผลิตเฉลี่ย 108 ผล/ต้น/ปี ผลมีขนาดกลาง น้ำหนักเฉลี่ย 1,509 กรัม/ผล น้ำหนักเนื้อมะพร้าวแห้งเฉลี่ย 250 กรัม/ผล หรือ 524 กิโลกรัม/ไร่/ปี เปอร์เซ็นต์น้ำมันต่อเนื้อมะพร้าวแห้ง 62% คิดเป็นผลผลิตน้ำมันเฉลี่ย 17 กิโลกรัม/ต้น/ปี

ผลปอกเปลือกผ่าของมะพร้าวลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 1

คุณทิพยา ยังบอกอีกด้วยว่า ถ้าเทียบกับมะพร้าวพันธุ์ไทยต้นสูง ผลผลิตเฉลี่ย 30-50 ผล/ต้น/ปี มะพร้าวลูกผสมสามทางทั้งสองพันธุ์ให้ผลผลิตมากกว่าพันธุ์พื้นเมืองประมาณ 2 เท่า

“ข้อดีอยู่ที่ว่า ในส่วนของเปอร์เซ็นต์น้ำมัน ถึงแม้จะน้อยกว่าสวีลูกผสม 1 หรือลูกผสมชุมพร 2 ก็จริง แต่ถ้าคิดเป็นผลผลิตน้ำมัน/ต้น/ปี จะให้ผลผลิตน้ำมันได้มากกว่า ดังนั้น มะพร้าวลูกผสมสามทางทั้งสองพันธุ์ที่ผ่านการรับรองพันธุ์จากกรมวิชาการเกษตร เป็นพันธุ์ที่ตอบสนองความต้องการของเกษตรกร”

ผลปอกเปลือกผ่าของมะพร้าวลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 2

ต้านทานต่อโรคและแมลงหรือไม่

คุณทิพยา กล่าวว่า ถ้าจะนำมะพร้าวพันธุ์สามทางทั้งสองพันธุ์ดังกล่าวไปปลูกทดแทนในพื้นที่ที่เคยมีปัญหาในเรื่องการระบาดของแมลงศัตรูมะพร้าว จะต้านทานต่อโรคและแมลงหรือไม่นั้น ทางศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรได้บันทึกข้อมูลมาตั้งแต่ 2533-2560 ซึ่งงานทดลองได้สิ้นสุดลง สรุปข้อมูลได้ว่า ไม่พบว่ามีการเข้าทำลายของแมลงศัตรูที่ร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็น หนอนหัวดำมะพร้าว และ แมลงดำหนาม แต่จะพบด้วงแรดเข้าทำลายได้รับความเสียหายบ้าง แต่ไม่ถึงขั้นเสียหายระดับเศรษฐกิจ อาจกล่าวได้ว่า มะพร้าวลูกผสมสามทางทั้งสองพันธุ์มีความต้านทานต่อแมลงศัตรูมะพร้าวได้พอสมควร

อย่างไรก็ตาม การปลูกมะพร้าวไม่ว่าจะเป็นพันธุ์ใดก็ตาม มีข้อจำกัดอยู่ในเรื่องปริมาณน้ำฝน ไม่ควรน้อยกว่า 1,200 มิลลิเมตร/ปี และต้องระวังในช่วงที่แล้งติดต่อกันนานเกิน 3 เดือน เพราะจะส่งผลกระทบต่อมะพร้าวได้รับความเสียหาย เกษตรกรที่จะนำมะพร้าวไปปลูก ควรหาพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำสำรองไว้ด้วย เพราะน้ำเป็นสิ่งสำคัญในการกระตุ้นตาดอกของมะพร้าว และจะทำให้มะพร้าวเจริญเติบโตและให้ผลผลิตดี

ลูกผสมสามทางชุมพร 2

ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร เตรียมขยายพื้นที่เพาะกล้า

ขณะนี้ศูนย์ฯ ชุมพร เตรียมขยายพื้นที่สำหรับการสร้างแปลงแม่พันธุ์ลูกผสมสามทางชุมพร 1 โดยแม่พันธุ์เรนเนลล์ต้นสูง ดำเนินการภายในศูนย์ฯ ชุมพร เบื้องต้น 80 ไร่ ซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควร อาจจะถึงปี 2570 จึงจะสามารถผลิตพันธุ์สู่เกษตรกร เนื่องจากมะพร้าวเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ช้ากว่าพืชอื่น โดยใช้ระยะเวลาตั้งแต่การผสมพันธุ์จนถึงเก็บผลพันธุ์ไปเพาะ 11-12 เดือน และเพาะเป็นต้นกล้าพร้อมปลูก ใช้เวลา 5-6 เดือน

คุณทิพยา บอกว่า ศูนย์พยายามที่จะเร่งผลิตพันธุ์ เพื่อจะให้พี่น้องเกษตรกรได้นำไปปลูก แต่เนื่องจากพื้นที่ศูนย์มีไม่มากพอ ดังนั้น ในส่วนของลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 2 ทางศูนย์ฯ ชุมพร ได้ขยายพื้นที่ปลูกแม่พันธุ์ไปแล้ว 200 ไร่ ที่สวนผลิตพันธุ์มะพร้าวลูกผสมคันธุลี สังกัดศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร ซึ่งอยู่ภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุราษฎร์ธานี อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรระนอง 50 ไร่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส 50 ไร่ และศูนย์วิจัยพืชสวนสุโขทัย 5 ไร่ เพื่อเป็นแหล่งขยายพันธุ์ตอบสนองความต้องการของเกษตรกรในอนาคต และการขยายผล

ศูนย์ได้ถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรในเรื่องของการผลิตมะพร้าวพันธุ์ลูกผสมสามทางให้แก่เกษตรกรที่มีการปลูกแม่พันธุ์มะพร้าวอยู่แล้ว รวมทั้งบริษัทเอกชน ซึ่งจะเป็นการช่วยกระจายต้นกล้าให้มากขึ้น

คุณทิพยา ไกรทอง กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มทดลองปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 1 และ ชุมพร 2 นับตั้งแต่ปี 2533 จนถึงปัจจุบัน ปี 2562 รวมแล้วเป็นเวลา 29 ปี เริ่มจาก คุณอานุภาพ ธีระกุล อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรเป็นท่านแรก ต่อมาผู้ที่รับช่วงงานต่อคือ คุณจุลพันธ์ เพ็ชรพิรุณ นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ ปัจจุบันข้าราชการบำนาญ และดิฉันเป็นรุ่นที่สาม เพราะในเรื่องของการปรับปรุงพันธุ์มะพร้าว เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากและต้องใช้ระยะเวลายาวนานมาก กว่าจะได้พันธุ์ใหม่ขึ้นมาและต้องมีใจรักด้วย แต่ก็ยังมีนักวิชาการเกษตรรุ่นน้องที่ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรที่ทำงานวิจัยด้านมะพร้าวและอนาคตคงมีพันธุ์ใหม่ๆ ออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการของเกษตรกรและอุตสาหกรรมมะพร้าว สำหรับมะพร้าวลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 2 ประมาณปลายปี 2563 เกษตรกรที่ต้องการต้นกล้าไปปลูก สามารถเตรียมจองต้นกล้าได้ ส่วนมะพร้าวลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 1 อาจต้องรอออกไปก่อน ประมาณปี 2570

สนใจติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร เลขที่ 70 หมู่ที่ 2 ตำบลวิสัยใต้ อำเภอสวี จังหวัดชุมพร 86130 โทรศัพท์ 077-556-073 โทรสาร 077-556-026

ผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว
มะพร้าวสร้างเงิน
ผลมะพร้าวลูกผสมสามทางพันธุ์ชุมพร 1