งบ กษ. ปี 63 ผ่านฉลุย วาระแรก รวม 110,874 ล้านบาท

ลธก.สศก

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2562 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2563 วาระที่ 1 วงเงินงบประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท โดยเป็นงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงินรวม 110,874  ล้านบาท สามารถจำแนกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

1.กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ จำนวน 25,536 ล้านบาท 2. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายของกระทรวง/หน่วยงาน (Function) จำนวน 33,600 ล้านบาท 3. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายบูรณาการ (Agenda) จำนวน 43,588 ล้านบาท 4. กลุ่มงบประมาณรายจ่ายพื้นที่ (Area) จำนวน 8,150 ล้านบาท

จากคำของบประมาณดังกล่าว มีการดำเนินงานที่เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล 12 เรื่อง โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เกี่ยวข้อง 8 เรื่อง วงเงินรวม 23,638 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. การแก้ปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน วงเงิน 1,349 ล้านบาท 2. มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก วงเงิน 4 ล้านบาท 3. การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม วงเงิน 5,499 ล้านบาท 4. การยกระดับศักยภาพของแรงงาน วงเงิน 16 ล้านบาท 5. การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต วงเงิน 236 ล้านบาท 6. การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสร้างความสงบสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 159 ล้านบาท 7. การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน วงเงิน 70 ล้านบาท 8. การจัดเตรียมมาตรการรองรับภัยแล้งและอุทกภัย วงเงิน 16,305 ล้านบาท

สำหรับการดำเนินงานด้านนโยบายสำคัญของรัฐบาล 12 ด้าน เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 6 ด้าน วงเงินรวมทั้งสิ้น วงเงิน 61,700 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ 9,880 ล้านบาท 2. การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย 12,730 ล้านบาท 3. การพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค 46 ล้านบาท 4. การพัฒนาสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก 227 ล้านบาท 5. การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน 38,688 ล้านบาท และ 6. การปฏิรูปการบริหารจัดการภาครัฐ 129 ล้านบาท

ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเน้นขับเคลื่อนภารกิจโครงการ/แผนงานให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ ส่งผลให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี รายได้สุทธิทางการเกษตรเพิ่มขึ้น สถาบันเกษตรกรมีความเข้มแข็งมีความสามารถในการดำเนินธุรกิจ สินค้าเกษตรได้รับการยกระดับคุณภาพมาตรฐาน และสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งทรัพยากรการเกษตรมีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ได้รับการอนุรักษ์ปรับปรุงและฟื้นฟูให้เกิดความสมดุลอย่างยั่งยืน ซึ่งหลังจากนี้ งบประมาณประจำปี 2563 จะเข้าสู่การพิจารณาในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี (สภาผู้แทนราษฎร) ต่อไป