ธ.ก.ส. ครบรอบ 53 ปี เดินหน้านโยบาย Go Green หนุนเกษตรปลอดภัย

53 ปี ธ.ก.ส. ชูนโยบาย Go Green เพื่อเกษตรยั่งยืน ผนึกกำลังกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ผลักดันการผลิตอาหารปลอดภัยและการทำเกษตรอินทรีย์แล้ว 4,837 ราย พื้นที่กว่า 22,000 ไร่ ควบคู่การยกระดับธนาคารต้นไม้สู่ชุมชนไม้มีค่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า และร่วมดำเนินกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก หนุนสร้างธุรกิจชุมชน 928 ชุมชนภายในสิ้นปี เพื่อเป็นหัวขบวนในการสร้างอาชีพและรายได้ที่ยั่งยืน นำสินค้าเกษตรกว่า 1,700 รายการ เปิดจำหน่ายสู่ตลาดออนไลน์    A-Farm Mart พร้อมขับเคลื่อนแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านโครงการประกันรายได้พืชเศรษฐกิจ และการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ในโอกาสครบรอบปีที่ 53 ธ.ก.ส. มุ่งสานต่อนโยบาย Go Green ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปีบัญชี 2562 โดยส่งเสริมการผลิตอาหารปลอดภัยและการทำเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่การปลูกสู่การแปรรูป และการจำหน่าย การเพิ่มช่องทางการตลาด รวมทั้ง    ผลักดันให้สินค้าเกษตรได้รับมาตรฐานรับรอง เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค โดยปัจจุบันมีเกษตรกรที่ผลิตเกษตรปลอดภัย (GAP) จำนวน 774 ราย พื้นที่ 3,649 ไร่ เกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองการผลิตแบบมีส่วนร่วม (PGS) จำนวน 2,569 ราย พื้นที่ 12,804 ไร่ และเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับมาตรฐาน Organic Thailand หรือ IFOAM และมาตรฐานอื่นๆ จำนวน 1,494 ราย พื้นที่ 5,736 ไร่ รวมการทำเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัยทั้งสิ้น จำนวน 4,837 ราย พื้นที่ 22,189 ไร่

ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก เช่น กรมวิชาการเกษตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธิสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย มูลนิธิรักษ์ดินรักษ์น้ำ Earth Safe และสหกรณ์การเกษตรเพื่อการเกษตรลูกค้า  ธ.ก.ส. (สกต.) ขับเคลื่อนการผลิตอาหารปลอดภัยและการทำเกษตรอินทรีย์สู่วงกว้าง ด้วยการจัดอบรมให้ความรู้เรื่องการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ สาร     ชีวภัณฑ์ การรับรองมาตรฐาน GAP การรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม Participatory Guarantee System (PGS) และมาตรฐานอินทรีย์วิถีไทย Earth Safe Standard เป็นต้น เพื่อส่งผลผลิตให้กับ Modern Trade โดยมีแผนเชื่อมโยงชุมชน 9 แห่ง ในการผลิต และมีการนำร่องโครงการ 459 บ้านไร่ ตำบลบ้านไร่ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ รวมถึงสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.) ร้อยเอ็ด จำกัด ที่สนับสนุนเกษตรกรปลูกข้าวหอมมะลิ GAP และอินทรีย์ โดยเชื่อมโยงกับโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 352 ราย พื้นที่ 7,136 ไร่ โดย สกต. รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรมาแปรรูปเป็นข้าวสาร A-Rice เพื่อจำหน่าย

ขณะเดียวกัน ธ.ก.ส.ได้มอบหมายให้ ธ.ก.ส.ทุกจังหวัดดำเนินโครงการ Projected Based เพื่อสนับสนุนเกษตรอินทรีย์จำนวน 78 โครงการ พื้นที่การเกษตร 126,441 ไร่ พร้อมสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค โดย ธ.ก.ส. ได้กำหนดเครื่องหมาย A-Green เพื่อแสดงถึงผลผลิตที่ ธ.ก.ส.ให้การสนับสนุนแก่เกษตรกร ชุมชน ทั้งด้านการผลิต การตลาดและสินเชื่อ ในส่วนของ ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่ ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ 459 อาคารบางเขน โดยจัดอบรมให้ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์แก่พนักงาน ผู้ช่วยพนักงานและแม่บ้าน พร้อมใช้พื้นที่บริเวณโดยรอบสำนักงานปลูกพืชผักปลอดสารพิษ เพื่อใช้บริโภค ส่วนที่เหลือแบ่งปันและจำหน่าย เพื่อให้พนักงานทุกคนได้มีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพและลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

นายอภิรมย์ กล่าวต่อไปว่า ด้านการดูแลสิ่งแวดล้อม ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการยกระดับธนาคารต้นไม้ จำนวน 6,836 ชุมชน สู่ชุมชนไม้มีค่า เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าแล้วกว่า 1,974 ชุมชน และร่วมโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme) หรือ LESS โดยปัจจุบันมีชุมชมเข้าร่วมแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ บ้านท่าลี่ จังหวัดขอนแก่น บ้านถ้ำเสือ จังหวัดเพชรบุรี บ้านนาซำจวง จังหวัดหนองบัวลำภู และ บ้านศรีเจริญ จังหวัดพิษณุโลก คิดเป็นจำนวนที่กักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 150,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ด้านการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ธ.ก.ส. มุ่งเน้นการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนในชุมชนประกอบด้วย กิจกรรมการผลิตโดยใช้ทรัพยากรภายในชุมชน การขายผลผลิต การซื้อและบริโภคของคนในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน มีการแบ่งปัน    ผลประโยชน์อย่างเกื้อกูลและเป็นธรรม เริ่มจากการค้นหาศักยภาพและความต้องการของชุมชน นำไปสู่พัฒนาการยกระดับเป็นธุรกิจชุมชน มีการบูรณาการความร่วมมือกับส่วนงานทั้งภาครัฐและเอกชน พร้อมให้การสนับสนุนสินเชื่อที่ตรงความต้องการ เพื่อให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น มีสวัสดิการสังคม มีโอกาสทางการตลาดมากขึ้น นำไปสู่ความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานราก โดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ กองทุนหมู่บ้าน วิสาหกิจชุมชน ลูกค้า ธ.ก.ส. ชุมชนต้นแบบฯ ชุมชนท่องเที่ยว และชุมชนอุดมสุข จำนวน 928 ชุมชนภายในสิ้นปีนี้  

และเพื่อสร้างโอกาสในการจำหน่ายสินค้าของชุมชนสู่ผู้บริโภค ธ.ก.ส. ยังสนับสนุนช่องทางการตลาด ทั้งตลาด Offline ได้แก่ ตลาดชุมชน ตลาด อ.ต.ก. Modern Trade ตลาดไทยเด็ดที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. ร้านอาหาร โรงพยาบาล และตลาดประชารัฐที่ตั้งอยู่ในบริเวณ ธ.ก.ส. สาขาต่างๆ และตลาด Online ได้แก่ Platform A-Farm Mart ซึ่งมีสินค้าจากเกษตรกรที่ถูกคัดสรรคุณภาพกว่า 1,700 รายการ จากทั่วประเทศ ให้สามารถเลือกซื้อได้ง่ายๆ ผ่านทางออนไลน์ ส่งตรงถึงบ้าน ซึ่งปัจจุบันมียอดจำหน่ายแล้วกว่า 56.9 ล้านบาท

นอกจากนี้ ธ.ก.ส.ยังมีความพร้อมในการขับเคลื่อนแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาลไปสู่เกษตรกรผ่านโครงการประกันรายได้พืชเศรษฐกิจหลัก 5 ชนิด คือ ข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพด รวมถึงมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ ที่จะช่วยยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีแก่เกษตรกร โดยปัจจุบัน ธ.ก.ส. ดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากไปแล้วกว่า 34,600 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 ในอัตราไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ วงเงิน 24,810 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 4.31 ล้านครัวเรือน ดำเนินการโอนเงินแล้ว จำนวน 3.99 ล้านครัวเรือน เป็นเงิน 23,929 ล้านบาท

โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมัน ปี 2562-2563 วงเงิน 13,000 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 263,107 ครัวเรือน ดำเนินการโอนเงิน รอบที่ 1 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ไปแล้ว 254,667 ครัวเรือน เป็นเงิน 1,351 ล้านบาท โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2562/63 วงเงิน 20,940 ล้านบาท เป้าหมายเกษตรกร 4.31 ล้านราย มีเกษตรกรที่มีคุณสมบัติถูกต้องได้รับเงินในรอบที่ 1 ทั้งสิ้น 349,300 ครัวเรือน โดย ธ.ก.ส. โอนเงินเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ไปแล้วกว่า 9,411 ล้านบาท และโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ระยะที่ 1 ซึ่งมีเป้าหมายเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งเจ้าของสวนและคนกรีดยางรวมกว่า จำนวน 1.7 ล้านราย ที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลการปลูกยางกับการยางแห่งประเทศไทย โดยเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณกว่า 23,472 ล้านบาท (เริ่มดำเนินการโอนเงินได้ในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้)