ชูผลสำเร็จแปลงใหญ่ข้าวภาคเหนือตอนล่าง ต้นทุนน้อยกว่า ผลผลิตงามกว่าการปลูกแบบทั่วไป

นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการศึกษาต้นทุนการผลิตประสิทธิภาพเชิงเทคนิคการผลิตข้าวแบบแปลงใหญ่ ปี 2561 ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง (พิษณุโลก ตาก สุโขทัย และอุตรดิตถ์) โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก (สศท.2) ได้ศึกษาและเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตข้าว และประสิทธิภาพเชิงเทคนิคของการผลิตข้าวในพื้นที่แปลงใหญ่และนอกพื้นที่แปลงใหญ่
ซึ่ง พบว่า

ข้าวที่ผลิตในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ทั้ง 4 จังหวัด มีต้นทุนรวมเฉลี่ย 4,217 บาท/ไร่ เกษตรกรได้ผลผลิตเฉลี่ย 782.25 กิโลกรัม/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 1,196 บาท/ไร่ ในขณะที่ข้าวที่ผลิตนอกพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีต้นทุนรวมเฉลี่ย 4,904 บาท/ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 776.68 กิโลกรัม/ไร่ ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 253 บาท/ไร่ เนื่องจากเกษตรกรในพื้นที่โครงการฯ มีการใช้ปัจจัยการผลิตในปริมาณน้อยกว่าเกษตรกรนอกพื้นที่โครงการ รวมทั้งมีการบริหารจัดการการใช้เทคโนโลยีการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

การใช้ปัจจัยการผลิต เกษตรกรในพื้นที่โครงการ เกษตรกรนอกพื้นที่โครงการ
เมล็ดพันธุ์  (กิโลกรัม/ไร่) 24.86 27.53
ปุ๋ยเคมี  (กิโลกรัม/ไร่) 40.21 41.31
สารเคมี (ลิตร/ไร่) 0.64 0.65
แรงงานเครื่องจักร  (วัน/ไร่) 1.69 1.71

 

เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นว่า ข้าวที่ผลิตในพื้นที่ส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าและให้ผลตอบแทนดีกว่า รวมทั้งยังมีประสิทธิภาพการผลิตที่สูงกว่าด้วย เนื่องจากเกษตรกรที่ผลิตตามรูปแบบระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ จะได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ การปลูกข้าวตามศักยภาพความเหมาะสมของดินตามแผนที่เกษตรเชิงรุก (Agri – Map) การถ่ายทอดองค์ความรู้ในการลดต้นทุนการผลิต โดยผลิตปุ๋ยอินทรีย์/ชีวภาพไว้ใช้เอง การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ใช้ปริมาณเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสม การตรวจรับรองมาตรฐาน GAP รวมถึงการรวมกลุ่มจัดซื้อจัดหาปัจจัยการผลิตต่างๆ ตลอดจนส่งเสริมให้มีการนำผลงานศึกษาวิจัยเทคโนโลยี นวัตกรรม มาประยุกต์ใช้ และมีการบริหารจัดการกลุ่มเพื่อวางแผนการผลิตที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดร่วมกัน นอกจากนี้ ภาครัฐยังดำเนินโครงการอื่นๆ ในพื้นที่แปลงใหญ่ อาทิ โครงการเกษตรอินทรีย์ ศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)

ด้าน นายบุญลาภ โสวัณณะ ผู้อำนวยการ สศท.2 กล่าวเสริมว่า อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษา พบว่า เกษตรกรทั้งในและนอกพื้นที่โครงการแปลงใหญ่ ยังคงมีการใช้ปัจจัยการผลิตส่วนเกิน ทั้งในส่วนของเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี สารเคมี และแรงงานเครื่องจักรกลการเกษตร ดังนั้น หากเกษตรกรต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดต้นทุนได้อย่างแท้จริง ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ภาครัฐอย่างจริงจัง เพื่อลดการใช้ปัจจัยการผลิตที่ไม่จำเป็น และ ทำให้มีผลกำไรจากการเกษตรเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้ ภาครัฐควรสนับสนุนโครงการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรมีต้นทุนและประสิทธิภาพการผลิตข้าวที่ดี โดยควรส่งเสริมให้เกษตรกรปรับลดปริมาณการใช้ปัจจัยการผลิตลงให้เหมาะสมตามหลักวิชาการ หากเกษตรกรปรับลดปริมาณการใช้ปัจจัยการผลิตให้เหมาะสม จะสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรด้วย และควรส่งเสริมให้เกษตรกรมีการจดบันทึกข้อมูลการผลิต ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำข้อมูลมาปรับปรุงวิธีผลิตข้าวให้ได้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ สำหรับท่านที่สนใจผลการศึกษาเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ สศท.2 โทร. (055) 322-650, (055) 322-658 หรือ อี-เมล [email protected]

Advertisement