นิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ แนะปลูกยางพาราให้ยั่งยืน ต้องเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูป

จากสถานการณ์ราคายางพาราที่ตกลงมาถึงขีดสุดในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราได้รับผลกระทบไม่น้อย อาจเรียกได้ว่าถึงขั้นราคาที่ขายได้ถูกกว่าต้นทุนการผลิต เนื่องจากในหลายๆ พื้นที่มีการจ้างแรงงานในการทำสวนยางพารากันมากขึ้น จึงทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และที่สำคัญอาจจะมีการปลูกพืชแบบเชิงเดี่ยวมากเกินไป จึงทำให้มีรายได้เข้ามาเพียงทางเดียว  

คุณนิพนธ์ คนขยัน นายก อบจ.บึงกาฬ กล่าวว่า ประชาชนจังหวัดบึงกาฬที่ขึ้นทะเบียนปลูกยางพาราไว้มีจำนวน 8.9 แสนไร่ คิดเป็นร้อยละ 80 ที่เหลือส่วนหนึ่งไม่ขึ้นทะเบียน

ในจำนวนนี้ 60 เปอร์เซ็นต์ ปลูกและกรีดยางพาราเอง ส่วนที่เหลือจ้างแรงงานกรีด

ภายในจังหวัดมีโรงงานที่รับซื้อยางพาราจากชาวบ้านทั้งสิ้น 7 แห่ง จึงทำให้ช่วงวิกฤตที่ผ่านมาชาวบ้านยังพอสามารถประคับประคองตัวเองอยู่ได้ แม้จะเป็นการขายน้ำยางก้อนถ้วยที่ได้ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 13 บาทก็ตามในขณะนั้น ด้วยความมุ่งมั่นที่ทำงานด้วยตัวเองโดยไม่เน้นจ้างแรงงาน ต้นทุนการผลิตจึงไม่สูง

คุณนิพนธ์ บอกว่า ถ้าวันนี้ประชาชนได้มีโอกาสได้ขายเองด้วย จะเป็นการเพิ่มมูลค่าเพิ่มได้อย่างก้าวกระโดด ซึ่งการจัดงานวันยางพาราและกาชาดมาตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับความสามัคคีของพี่น้องชาวบึงกาฬ โดยรวมกลุ่มกันในนามชุมนุมสหกรณ์ยางพาราบึงกาฬ ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อ กู้เงินจาก ธ.ก.ส. จำนวน 193,750,000 บาท ซึ่งวันนี้การพิสูจน์ความสามารถของชาวสวนยางบึงกาฬ ได้เสนอโครงการในการสร้างโรงงานหมอน ที่นอน ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลอนุมัติงบประมาณแล้ว และกำลังดำเนินการสร้าง ถือว่าเป็นความก้าวหน้าที่สุดเรื่องหนึ่งก็ว่าได้

“รัฐบาลมองเห็นแล้วว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย และจังหวัดบึงกาฬจะเป็นผู้นำเรื่องการพึ่งตนเอง ซึ่งรัฐบาลเข้าใจ เวทียางพาราบึงกาฬจะเป็นตัวการที่ขับเคลื่อนยางพาราสู่ระดับโลก และเป็นจุดที่จะสานต่อให้กับชาวไทยที่จะปลูกยางพาราในอนาคต แน่นอนว่าชีวิตความเป็นอยู่ของชาวสวนจะดีขึ้นถ้ารัฐบาลสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนพึ่งพาตัวเองได้ในอนาคต” คุณนิพนธ์ กล่าว

นอกจากที่บึงกาฬจะเน้นเรื่องการที่ให้พี่น้องชาวสวนยางได้พึ่งพาตนเองได้แล้ว ยังได้มีการสนับสนุนให้ทำเกษตรผสมผสานแบบยั่งยืนเพื่อที่จะได้มีรายได้มากขึ้น โดยที่ไม่รอแต่ขายผลผลิตที่ได้จากยางพาราเพียงอย่างเดียว เช่น การปลูกสับปะรด และพืชที่สามารถปลูกแซมภายในสวนยางพาราได้ ซึ่งได้ยึดมั่นตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

“การที่ปลูกยางพาราสำเร็จไปได้ด้วยดี อาจเรียกได้ว่าที่จังหวัดบึงกาฬเป็นต้นแบบให้กับที่อื่นๆ หรือทั่วประเทศก็ว่าได้ จะต้องมีกระบวนการจัดการดังนี้คือ ระบบของสหกรณ์ประชาชนต้องเข้าใจกัน โดยมาร่วมจดทะเบียนให้เกิดความพร้อมเพรียงมีความสามัคคี และที่สำคัญภาครัฐก็ต้องเข้ามาช่วยให้มากขึ้น หรือแม้แต่ภาคเอกชนก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งทางเรายอมรับว่ามีเอกชนอย่างบริษัท รับเบอร์วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัดประเทศไทย ก็ได้เข้ามาช่วยในเรื่องการซื้อมากขึ้น ส่วนภาคราชการก็คือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ก็เข้ามาช่วยเช่นกัน เรียกได้ว่าถ้าทุกหน่วยงานช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ความพร้อมเพรียงและก้าวหน้าก็จะเกิดขึ้นได้ไว” คุณนิพนธ์ กล่าว

คุณนิพนธ์ ยังบอกอีกว่า ในอนาคตบึงกาฬกำลังจะทดลองทำถนนจากยางพารา เพื่อเป็นการทดลองนำล่องให้กับจังหวัดอื่นๆ ถ้าผลออกมาสำเร็จเป็นอย่างที่คาดหวัง ในอนาคตจะได้มีการสร้างถนนด้วยยางพารามากขึ้นทั่วประเทศ เพราะการทำถนนยางพารามีต้นทุนที่ต่ำ เมื่อเอามาทำถนนมากขึ้นก็เท่ากับว่าเป็นการช่วยระบายยางออกสู่ตลาด และที่สำคัญเมื่อเทียบคุณภาพแล้วอาจจะเท่ากับคอนกรีต แต่มีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า

“เมื่ออนาคตยางไม่มีตกค้างมาก ราคายางมันก็จะค่อยๆ แพงขึ้นมาตามลำดับ พอต้นทุนยางที่จะเอามาทำถนนมันสูงขึ้น เมื่อทุกอย่างเข้าสู่สภาวะปกติ เราก็หยุดเอามาทำถนน และหาอย่างอื่นมาทดแทน เรียกง่ายๆ ว่า ทำอย่างไรก็ได้ให้พี่น้องที่ปลูกยางพาราสามารถมีความอยู่ดีกินดี คุณภาพชีวิตของเขาก็จะมีความสุขมากขึ้น” คุณนิพนธ์ กล่าว

ทั้งนี้ คุณนิพนธ์ ยังกล่าวเสริมอีกด้วยว่า การจัดงานวันยางพาราจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อที่ได้ให้คนที่อยากได้ประสบการณ์ได้มาเรียนรู้และดูงาน จึงทำให้เกษตรกรได้มีเพื่อนมีพี่มีน้องมากขึ้น และที่สำคัญได้นำองค์ความรู้ให้กระจายออกไปกว้างขวางมากขึ้น ได้มีการรวมกลุ่มสร้างความรักความสามัคคีกันมากขึ้น เมื่อทุกอย่างเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเจออุปสรรคอะไรจะสามารถผ่านมันไปได้อย่างดี เท่านี้ทุกคนก็จะมีความสุขอย่างยั่งยืนแน่นอน